JOKER หนังที่ทำให้เข้าใจ และเห็นใจวายร้าย (จนเกินไป)

ท้องฟ้าสีเทา : เรื่อง

แฟน ๆ หนังซูเปอร์ฮีโร่คงคุ้นกับตัวละคร โจ๊กเกอร์ (Joker) อาชญากรตัวร้ายที่เป็นคู่ปรับตลอดกาลของแบทแมน (Batman) ซึ่งที่ผ่านมาคนดูเกิดคำถามว่าทำไมคนธรรมดาเดินดินที่ไม่มีพลังพิเศษอย่างโจ๊กเกอร์ถึงสามารถต่อสู้กับซูเปอร์ฮีโร่ที่มีพลังพิเศษได้อย่างสูสี และอะไรบ้างที่หล่อหลอมให้โจ๊กเกอร์โหดเหี้ยมเข่นฆ่าผู้คนได้อย่างเลือดเย็นขนาดนั้น

ในตอนนี้คำถามเกี่ยวกับโจ๊กเกอร์ได้ถูกตอบแล้วในภาพยนตร์ Joker ซึ่งเป็นภาพยนตร์กระแสแรงมากที่สุดในเดือนตุลาคมนี้ และเป็นหนังที่ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันมากสุด ๆ เช่นกัน ตั้งแต่เป็นประเด็นระดับโลกที่มีนักวิจารณ์ภาพยนตร์และคนดูแสดงความเป็นห่วงว่า

ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ชมก่อความรุนแรง ทางจิตแพทย์ก็ได้ยกไปเป็นเคสตัวอย่างในการเขียนเรื่องโรคจิตเวชด้วย (เพราะหนังฉายในช่วงวันสุขภาพจิตโลกพอดี) ไปจนถึงการตีความยิบย่อยที่คนดูตีความแลกเปลี่ยนถกเถียงกันหลายแง่มุม

Joker เป็นภาพยนตร์เรต R ฝีมือผู้กำกับ ทอดด์ ฟิลลิปส์ (Todd Phillips) ซึ่งเขาร่วมกับ สกอตต์ ซิลเวอร์ (Scott Silver) ตีความตัวละครโจ๊กเกอร์ที่ DC ครีเอตไว้ให้ออกมาในรูปแบบของตัวเอง โดยมี ฮวาคิน ฟีนิกซ์ (Joaquin Phoenix) นักแสดงที่เคยเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเวทีออสการ์มาแล้วถึง 3 ครั้งมาสวมบทโจ๊กเกอร์ และมี โรเบิร์ต เดอ นีโร (Robert De Niro) เจ้าของสองรางวัลออสการ์ร่วมรับบทเมอร์เรย์ แฟรงคลิน ตัวละครเด่นอีกตัวหนึ่งของเรื่อง

ใจความสำคัญของหนังคือ การพาคนดูไปเห็นและทำความเข้าใจชีวิตของตัวละครโจ๊กเกอร์ หรืออาเธอร์ เฟล็ค ผู้ชายป่วย ๆ ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอาศัยอยู่ในเมืองกอตแทมกับแม่ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งแม่นี่เองที่มีส่วนหล่อหลอมให้เขามีปัญหาสุขภาพจิตด้วย อาเธอร์ทำงานรับจ้างเป็นตัวตลกที่พยายามทำให้คนมีความสุข และเขามีความฝันอยากเป็นนักแสดงตลก

ท่ามกลางสังคมที่ฟอนเฟะที่อาเธอร์อาศัยอยู่ ไม่เพียงแต่ความฝันของเขาจะไม่ใกล้ความเป็นจริง แต่ชีวิตห่วย ๆ ของเขาถูกกระทำหยามเหยียด ถูกฟาดซ้ำแล้วซ้ำอีก เขาโดนสังคมกระทำจนถึงจุดระเบิดที่ทำให้เขากลายเป็นฆาตกรและเริ่มสนุกกับการก่ออาชญากรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ

หนังทำหน้าที่ของมันได้ดี คือ ทำให้คนดูเข้าใจและเห็นใจอาเธอร์ แต่ขณะที่สำรวจจิตใจตัวละครอยู่นั้นก็เป็นการสำรวจจิตใจคนดูไปพร้อม ๆ กัน ว่าในสถานการณ์และบริบทแวดล้อมแบบนั้น เราจะเป็นคนหนึ่งที่อยากสวมหน้ากาก
ไปร่วมก่ออาชญากรรมกับโจ๊กเกอร์หรือเปล่า

ความยอดเยี่ยมที่สุดของหนังอยู่ที่การแสดงของฮวาคิน ฟีนิกซ์ ที่จะเรียกว่า “ทรงพลัง” ก็ยังน้อยไป เหมือนว่าเขาสร้างตัวละครตัวนี้ขึ้นมาด้วยความรู้สึกของตัวเองในแต่ละสถานการณ์

แม้เข้าใจว่าการกระทำของคนเราล้วนมีเหตุผล (ซึ่งจะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง) แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบในหนังเรื่องนี้คือ หนังเล่าด้วยน้ำเสียงที่พยายามให้คนเข้าอกเข้าใจตัวละครโจ๊กเกอร์มากเกินไป ทุก ๆ การกระทำของเขามีเหตุผลที่น่าเห็นอกเห็นใจมารองรับทุกครั้ง จนดูเหมือนจะชักจูงใจให้รู้สึกว่า การก่ออาชญากรรมของเขาเป็นความชอบธรรมทั้งหมด แทนที่คนดูจะได้คิดไตร่ตรองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่โจ๊กเกอร์ทำด้วยเหตุและผลจริง ๆ ในระดับที่หนังเล่าอย่างกลาง ๆ ก็กลับกลายเป็นว่าหนังอาจจะผลักให้คนดูคิดแย้งด้วยความที่รู้สึกว่า
หนังเล่าด้วยน้ำเสียงเลือกฝั่งจนเว่อร์ไป

ประเด็นหนึ่งที่ได้ยินเสียงร่ำลือเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือ คนดูรู้สึกว่าเป็นหนังที่อึดอัด กดดัน และดูดพลังมาก ซึ่งระดับความรู้สึกตรงนี้คิดว่าอาจจะขึ้นอยู่กับระดับภูมิต้านทานของคนดูแต่ละคน โดยส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้รู้สึกอึดอัดเท่าไหร่…

ประเด็นนี้ก็อาจจะนับว่าเป็นอีกหนึ่งข้อดีของหนังที่มันทำให้คนดูได้คิดเห็นต่างกันไปและสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ ว่าคนหนึ่งรู้สึกอย่างหนึ่งเพราะอะไร อีกคนรู้สึกอีกอย่างหนึ่งเพราะเหตุผลอะไร