ท้องฟ้าขมุกขมัวมาพร้อมกับอาการแสบจมูก และข่าวแจ้งเตือนว่าฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ตัวร้ายมาเยือนเราอีกแล้ว แม้จะไม่ใช่ครั้งแรกที่เมืองไทยเผชิญกับปัญหาฝุ่นและควัน แต่เราก็ยังไม่มีมาตรการหรือวิถีทางที่จะป้องกันได้อย่างเห็นผล สิ่งที่ทำกันได้ในตอนนี้ก็คือระมัดระวังป้องกันตนเองให้สูดฝุ่นละอองเข้าไปในร่างกายให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า PM 2.5 เป็นอนุภาคขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควันที่เป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไปจะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือดจะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย
กรุงเทพมหานครมีฝุ่นชนิด PM 2.5 ที่เป็นมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงธรรมชาติมากเป็นประจำอยู่แล้ว เมื่อไหร่ที่อุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงเร็ว ความชื้นในอากาศสูงขึ้น ลมอับ แสงแดดยังไม่ได้เวลามาเยือน ประกอบกับกรุงเทพฯ มีอาคารสูงจำนวนมาก ก็จะทำให้การไหลถ่ายเทอากาศในยามลมอับไม่ดี ไม่ต่างกับจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเมืองแอ่งกระทะตามธรรมชาติ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “impaction” หมายถึง ฝุ่นขนาดเล็ก คือ PM 2.5 ฟุ้งกระจายออกไปได้ยาก
เจ้าฝุ่น PM 2.5 ตัวร้ายนี้จะมีผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์ที่สำคัญทันทีทันใด คือ 1.ทำให้ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรังทุกชนิดมีอาการกำเริบ 2.ทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีอาการกำเริบ ทั้งนี้ ไม่นับผลระยะยาวที่มีอีกมากมาย
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับฝุ่นขนาดเล็กดังนี้
1.ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจากแหล่งของกรมควบคุมมลพิษที่มีครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่ใช่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น
2.ถ้าเห็นค่าปริมาณ PM 2.5 เป็นสีแดง แสดงว่าสูงเกินค่ากำหนดขององค์การอนามัยโลกที่ค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
3.เมื่อเห็นแล้วควรหลีกเลี่ยงเดินทางออกจากที่พักอาศัยจนกว่าระดับจะลดลงมาเป็นสีส้ม ที่ยังพอจะยอมรับได้
4.ถ้าจำเป็นจะต้องเดินทาง สำหรับคนที่ไม่มีโรคเรื้อรังที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้ว แนะนำให้ใช้หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกอาคาร โดยต้องสวมให้ถูกวิธีและกระชับกับใบหน้าส่วนปากและจมูกให้มากที่สุด
5.ถ้าเป็นคนที่มีโรคเรื้อรังที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้ว ไม่ควรออกจากบ้าน แต่ถ้าจำเป็นจริง ๆ เช่น ต้องไปโรงพยาบาลพบแพทย์ตามนัด ให้ใช้หน้ากากชนิด N95 ซึ่งพอจะช่วยกรองเจ้าตัวฝุ่นร้ายขนาดเล็กนี้ได้ในปริมาณที่มากกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา แต่ต้องมีการตรวจสอบหลังการใส่ว่าหน้ากากนั้นกระชับรูปหน้าจริงตามคำแนะนำที่ปรากฏบนซองของหน้ากากนั้น ๆ