หมอจุฬา-รามาแย้งอย่าด่วนสรุปว่ายาต้านเอดส์รักษาโคโรน่าได้ผล ไม่มีงานวิจัยรองรับ

Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images

การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Novel Coronavirus; 2019-nCoV) ยังเป็นประเด็นฮอตที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังกันทั้งในประเทศไทยและระดับโลก ตัวเลขจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิต แม้มีอัตราการเสียชีวิตที่ดูเหมือนน้อยเพียง 2.5% แต่เมื่อจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นก็ย่อมทำให้ตัวเลข 2.5% นี้แปรผันเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่น้อย

ล่าสุด ในการแถลงข่าวเรื่อง “ไวรัสปอดบวมร้ายแรงจากอู่ฮั่น” จัดโดย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อหลายท่านที่เป็นตัวแทนสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยมาร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุข

ประเด็นใหม่ที่คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกล่าวชี้แจงข้อมูลในการแถลงข่าวครั้งนี้ คือ ประเด็นที่เป็นข่าวฮือฮาไปเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า แพทย์ไทยค้นพบสูตรยารักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ โดยการใช้ยารักษาโรคเอดส์ร่วมกับยารักษาไข้หวัดใหญ่ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อที่มาร่วมแถลงข่าวครั้งนี้พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ายานี้ใช้ได้จริง อีกทั้งยังมีข้อกังวลถึงผลข้างเคียงของการใช้ยาด้วย

ยืนยันยังไม่มียารักษาแบบจำเพาะเจาะจง

ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, ศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี, ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตัวแทนจากสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย และ ศ.พิเศษ พญ.จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์ ประธานเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันตรงกันว่า ณ เวลานี้ ยังไม่มียาจำเพาะสำหรับการรักษาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 การรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ

ศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ซึ่งอีก 2 ตำแหน่งคือ รองประธานวิชาการ/รองประธานเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า เชื้อไวรัสเป็นเชื้อที่มียาต้านจำนวนไม่มากเหมือนเชื้อแบคทีเรีย โรคจากเชื้อไวรัสที่มียาต้านจำเพาะเจาะจงมีอยู่เพียงไม่กี่โรค เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเริม โรคงูสวัด สำหรับไวรัสโคโรน่า ณ ตอนนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่สามารถจัดการกับไวรัสนี้ได้โดยตรง การรักษาหลัก ๆ ที่ผ่านมาเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เมื่อผู้ป่วยมีไข้ก็ให้ยาลดไข้ เมื่อผู้ป่วยหายใจไม่ไหวและออกซิเจนต่ำก็ให้ออกซิเจน

“จากการประชุมในกลุ่มกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวานนี้ (3 กุมภาพันธ์) ก็ยังสรุปแนวทางการรักษาเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ”

ใช้ยาเอดส์รักษาผู้ป่วยโคโรน่า ยังไม่มีงานวิจัยรองรับ ห่วงผลข้างเคียงเยอะ

ประเด็นที่ว่า แพทย์ไทยค้นพบวิธีรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยการให้ยารักษาโรคเอดส์และรักษาไข้หวัดที่มีการนำเสนอข่าวกันไปนั้น ศ.พญ.ศศิโสภิณ อธิบายเป็นข้อๆ ว่า

1.ยาที่เป็นข่าวไม่ใช่ยาใหม่-มีผลข้างเคียงหลายอย่าง : ยาโลพินาเวียร์/ ริโทนาเวียร์ (lopinavir/ritronavir) ที่เป็นข่าวว่านำมารักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ผลนั้นไม่ใช่ยาใหม่ เป็นยาที่ใช้รักษาโรคเอดส์มาเกือบ 20 ปี ตอนนี้ทางการแพทย์ใกล้จะเลิกใช้และเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแล้ว เนื่องจากยาตัวนี้มีผลข้างเคียงหลายอย่าง อีกทั้งยาตัวนี้ยังไปตีกับยาตัวอื่นหลายตัว ผลข้างเคียงอาจไม่ได้เกิดจากยาตัวนี้เอง แต่ถ้าคนไข้ใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย ยาจะไปตีกันแล้วเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา ยกตัวอย่าง ยาตัวนี้ตีกับยาไมเกรน บางคนกินยานี้แล้วมีอาการปวดนิ้ว นิ้วดำ ต้องตัดนิ้วทิ้ง สรุปว่า ยาตัวนี้ไม่ได้มีความปลอดภัย

2.ยังสรุปไม่ได้ว่ายาตัวนี้รักษาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ผล : ก่อนหน้านี้มีการทดลองในหลอดทดลองพบว่ายานี้มีฤทธิ์ต่อเชื้อจริง และมีการทดลองในสัตว์พบว่ายานี้สามารถทำให้สัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่น ๆ ก่อนหน้านี้อาการดีขึ้นได้ ส่วนการใช้ในคนมีมาก่อนหน้านี้แล้วในกรณีโรคซาร์ส การวิจัยในคนบ่งชี้ว่ายานี้ลดอัตราการเสียชีวิตได้จริง แต่ยังไม่ใช่การวิจัยระดับที่ดี

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ว่ามาเป็นการทดลองในไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อื่น ส่วนการใช้ยาดังกล่าวรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ผลจริงหรือไม่ ต้องอาศัยข้อมูลมากกว่านี้ ขณะนี้ในจีนกำลังวิจัยอยู่ ซึ่งการวิจัยที่ดีต้องมีการควบคุมกลุ่มตัวอย่าง และตัดปัจจัยรบกวนต่าง ๆ ด้วย ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสรุปผลได้ว่า ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและหายดีเพราะยาที่ใช้รักษา หรืออาการดีขึ้นเองตามธรรมชาติ

“เราจะรู้ได้อย่างไรว่ายาที่ให้ผู้ป่วยเพียงหนึ่งรายนั้น ผู้ป่วยไม่ได้อาการดีขึ้นด้วยตัวเอง เพราะเราทราบอยู่แล้วว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสามารถหายได้ด้วยตัวเอง หากภูมิต้านทานดี ร่างกายแข็งแรง ฉะนั้นจึงต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างดีที่มีการควบคุมกลุ่มตัวอย่าง และตัดปัจจัยรบกวนต่าง ๆ เพื่อทดสอบว่ายานี้ใช้ได้ผลจริงหรือไม่”

“อยากให้ทุกท่านติดตาม เข้าใจว่าทุกท่านรอความหวังว่าจะมีทางรักษาให้หาย อย่างน้อยเรารู้เบื้องต้นแล้วว่าจะพอมีทาง แต่จะใช้ได้จริงหรือไม่ทางคลินิกคงต้องรอข้อมูลที่มากกว่านี้  ขอเน้นยำว่าต้องรักษาแบบประคับประคอง”

3.ใช้สเตียรอยด์มีแต่จะทำให้แย่ลง : การจะรักษาไวรัสตัวนี้ไม่แนะนำให้ใช้สเตียรอยด์ เพราะว่าสเตียรอยด์จะทำให้อาการแย่ลง แต่ถ้ามีข้อบ่งชี้ทางอื่น เช่น คนไข้มีอาการปอดติดเชื้อรุนแรง แพทย์ระบบทางเดินหายใจอาจจะพิจารณาให้สเตียรอยด์รักษาอาการปอด แต่ไม่ได้หวังผลให้สเตียรอยด์ไปฆ่าไวรัส

4.ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ไม่มีฤทธิ์ต่อไวรัสโคโรน่า : ตามข่าวมีการใช้ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ชื่อ โอเซลทามิเวียร์ (oseltamivir) ในการรักษาด้วย จริง ๆ แล้วยาโอเซลทามิเวียร์ไม่ได้มีฤทธิ์โดยตรงต่อไวรัสโคโรน่า แต่ที่มีการใช้เพราะว่า ณ ตอนนี้ไข้หวัดใหญ่ก็ระบาดในเมืองไทยด้วย เฉพาะใน 1 เดือนแรกของปีนี้มีเคสผู้ป่วยไข้หวัดใกญ่แล้วกว่า 20,000 เคส ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย หรือเป็นไข้หวัดใหญ่เป็นหลัก แพทย์จึงใช้ยานี้รักษา ยาตัวนี้จึงถูกกล่าวถึงว่ามีส่วนร่วมในการรักษาด้วย แต่ไม่มีข้อมูลการวิจัยว่ายาตัวนี้มีฤทธิ์ต่อไวรัสโคโรน่า

ศ.พิเศษ พญ.จุรีรัตน์ บวรวัฒนุวงศ์ ประธานเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ไวรัสตัวนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ฉะนั้นการจะมียารักษาได้นั้นไม่น่าจะรวดเร็ว ยาที่จะใช้รักษาต้องผ่านการพิสูจน์ชัดเจน ทั้งนี้การจะประกาศว่ายาตัวใดรักษาโรคใดได้นั้นมีขั้นตอนตามมาตรฐานวิชาการ ไม่ใช่ว่ารักษาคนไข้หนึ่งคนแล้วประกาศว่ายาตัวนี้รักษาได้ ต้องทดลองพิสูจน์ว่ายานี้มีผลในหลอดทดลอง ในสัตว์ และในมนุษย์ ซึ่งต้องทำการทดลองแบบควบคุม แยกกลุ่มที่ให้ยาและไม่ให้ยา ซึ่งตอนนี้ประเทศจีนกำลังทำอยู่ และทางจีนบอกว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะทราบผลการศึกษาและมีการประกาศผลการศึกษาออกมา

ด้าน ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า สิ่งที่กังวลตอนนี้คือ ไม่มีประโยชน์ที่จะเอายารักษาเอดส์มารักษาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจาก 1.ยามีผลข้างเคียง 2.ถ้าคนที่กินยาตัวนี้เป็นผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเจ้าตัวไม่ทราบ ไม่ได้ตรวจเลือด-ไม่เคยรักษามาก่อน จะส่งผลให้เชื้อ HIV ดื้อยา ฉะนั้นไม่ควรเอายาตัวนี้ไปให้คนกินเพื่อต้านไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีโอกาสเป็นโรคประจำถิ่น ?

ส่วนประเด็นที่แพทย์บางท่านการคาดการณ์ว่าในอนาคตไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีโอกาสจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ผศ.นพ.โอภาส ตอบว่า “มีโอกาสเป็นไปได้” โดยคุณหมออธิบายว่า ก่อนหน้านี้ในมนุษย์มีเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่แล้ว เรียกว่า “human coronavirus” ซึ่งมีต้นตอมาจากค้างคาวเมื่อนานมาแล้ว เมื่อมนุษย์ติดเชื้อเยอะขึ้น ภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ก็มีการปรับตัวเพื่อให้มนุษย์กับเชื้ออยู่ด้วยกันได้ จากนั้นมาเชื้อก็มีการระบาดเป็นพัก ๆ แต่ไม่รุนแรง

ด้าน ศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายให้ความรู้เสริมว่า โรคประจำถิ่น หมายถึง เป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง เพราะว่าภูมิต้านทานในร่างกายมนุษย์จะมีการปรับตัวอยู่เรื่อย ๆ อาการของการติดเชื้อไวรัสที่เป็นโรคประจำถิ่นมีทั้งเคสที่เป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา และเคสที่เป็นปอดอักเสบรุนแรง ณ ปัจจุบันแพทย์พบคนป่วยเป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงจากไวรัสหลายชนิดมาก แต่ไม่เป็นข่าว เพราะเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทางการแพทย์รู้จักกันอยู่แล้ว ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่

“เป็นไปได้ว่า ในที่สุดแล้วโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มเชื้อไวรัสที่ทำให้มนุษย์ป่วยเป็นหวัด และคนจำนวนน้อยในกลุ่มคนที่เป็นหวัดจากไวรัสตัวนี้อาจมีอาการปอดบวมรุนแรง ซึ่งนี่เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องใช้เวลาวิวัฒนาการสักช่วงหนึ่ง” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดีสรุป