รู้จักอาการ Post-Vacation Blues หยุดยาวสุขล้นปรี่ กลับมารู้สึกเศร้า

รู้จักอาการ Post-Vacation Blues เมื่อหยุดยาวฉันสุขล้นปรี่ และเศร้า หลังวันหยุดพักผ่อน มีอาการ วิธีการรักษาอย่างไร

หลังจากผ่านช่วงวันหยุดยาว เชื่อว่าหลาย ๆ คน น่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ระบบการเรียน การทำงานกันบ้างแล้ว แต่บางคนอาจเจอกับความรู้สึกเหนื่อยล้า ห่อเหี่ยวจิตใจ ไม่อยากทำงาน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทำความรู้จักกับอาการ Post-Vacation Blues หรือ อารมณ์เศร้า หลังวันหยุดพักผ่อน ว่ามีอาการและวิธีการรักษาอย่างไร

“ศ.ดร.อรัญญา” เกริ่นถึงที่มาหรือการศึกษาเกี่ยวกับอาการ Post-vacation blue หรือ อารมณ์เศร้า หลังวันหยุดพักผ่อนกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อาการดังกล่าวมีชื่อเรียกต่างกัน เช่น Post-Holiday Blues, Post-Holiday Depression and Blues หรือ โรคขี้เกียจหลังหยุดยาว

การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้มีไม่มากนัก ความรู้ที่มีทางจิตวิทยาบ่งชี้ว่า อารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นหลังวันหยุดพักผ่อน (เศร้า, เหนื่อย, อยากอยู่คนเดียว, หมดแรงและไม่มีใจอยากทำงาน) มีลักษณะเฉพาะเหมือนกับอารมณ์เศร้าเสียใจที่เกิดจากการที่คนเราเจอเหตุการณ์เครียดในชีวิต (ผิดหวัง, สูญเสียคนรักหรือของรัก) อารมณ์เศร้าเหล่านี้มักมีความเศร้าปนตึงเครียดสับสน

คำอธิบายของนักจิตวิทยาและนักวิชาการด้านสุขภาพ ในเรื่อง Post-Vacation Blues หรือ อารมณ์เศร้า หลังวันหยุดพักผ่อน คือ ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดความเครียด (สถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนไป, กิจกรรมชีวิตที่แตกต่างไปจากชีวิตประจำวันปกติ)

ร่างกายคนเราจะมีกลไกการปรับตัวที่จะเพิ่มพลังงานและอัตราการเผาผลาญของร่างกายให้สูงขึ้นเพื่อรับมือกับความเครียด เมื่อวันหยุดพักผ่อนสิ้นสุดลงพลังงานในร่างกายที่ถูกใช้ไปกับการรับมือกับชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ก็จะเกิดความอ่อนล้า จิตใจไม่สดชื่นได้

คำอธิบายอีกข้อหนึ่งที่มีการกล่าวถึง คือ อคติทางปัญญา หรือ Cognitive Bias ที่เรียกว่า ผลกระทบจากความต่าง (The Contrast Effect) ซึ่งเป็นกับดักทางความคิดที่เกิดเมื่อคนเรามีเปรียบเทียบประสบการณ์ในวันพักผ่อนกับประสบการณ์การกลับเข้าสู่โลกแห่งความจริง

ส่งผลให้เกิดอาการคาดหวังในวันที่ต้องกลับเข้าสู่ชีวิตประจำวันเดิม ๆ ว่าต้องแย่ เมื่อคนเรามีความคิดอย่างไรแล้ว ก็มักจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ตามความคาดหวังไปด้วย (ยิ่งแย่ไปอีก ห่อเหี่ยวไม่อยากไปทำงาน เอาแต่นึกถึงอิสระในช่วงหยุดพักผ่อน เป็นต้น)

“ศ.ดร.อรัญญา” กล่าวว่า วิธีการสังเกตอาการ Post-Vacation Blues หรือ อารมณ์เศร้า หลังวันหยุดพักผ่อน (มักมีลักษณะอาการร่วมที่คล้ายอาการของโรควิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า) ได้แก่

  • ความรู้สึกไม่สดชื่น อาจมีปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว
  • มีความกังวลเรื่องทุกอย่างจนเกินเหตุ
  • เหนื่อยง่าย พักผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่พอ รู้สึกหลับไม่อิ่ม
  • การจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยมีสมาธิ
  • หงุดหงิดง่าย
  • บางคนอาจรู้สึกจมดิ่งไปกับอารมณ์เศร้าหมอง จนอาจเกิดการตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตเรามันช่างเบื่อจืดชืดแบบนี้ จมดิ่ง และหดหู่เป็นที่สุด

ความรู้สึกไม่สดชื่นจาก Post-Vacation Blues มักเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ หรือ เกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น (ประมาณ 2-3 วัน ไปจนถึง 3 สัปดาห์) หลังจากนั้นอาการซึมเศร้าเหล่านี้ก็จะหายไปเอง ส่วนคนที่มีแนวโน้มเกิดอาการดังกล่าว คือ

  • คนที่มีความกดดันหรือเครียดในแต่ละวันสะสมอยู่ก่อนแล้ว
  • คนที่มีอารมณ์ไม่ค่อยเสถียร เหวี่ยงง่ายอยู่แล้ว จากปัญหาสุขภาพ หรือมีความไม่มั่นคงทางอารมณ์สูง
  • คนที่มีประสบการณ์วันหยุดพักผ่อนที่แตกต่างจากการใช้ชีวิตประจำวันปกติมาก ๆ
  • ประเด็นที่พึงระมัดระวัง ในรายงานของหลาย ๆ การศึกษาในต่างประเทศระบุว่า อัตราการฆ่าตัวตายมักพุ่งสูงขึ้นภายหลังช่วงของวันหยุดพักผ่อน

“ศ.ดร.อรัญญา” ได้แนะนำวิธีการ “ดูแลจิตใจ” เมื่อเกิดอาการดังกล่าวไว้ว่า

  1. ดูแลสุขภาพกายสุขภาพใจตัวเองให้กลับมาสู่โหมดปกติ อาจเป็นการทำกิจวัตรประจำวันให้เหมือนเดิม เคยทำอะไรในแต่ละวันก่อนวันหยุดพักผ่อน ก็กลับมาทำสิ่งเหล่านั้นให้เหมือนเดิม เพราะนั่นจะช่วยให้การใช้ชีวิตของเรามีแบบแผนมากขึ้น เหมือนกับการได้ทำภารกิจต่าง ๆ ของวันให้สำเร็จลุล่วง รวมถึงยังช่วยให้เราได้ปรับการใช้ชีวิตให้เข้าสู่สภาวะปกติให้ได้มากที่สุด
  2. ออกกำลังกาย-เคลื่อนไหวออกแรง หรือให้เวลาตนเองอยู่กับพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ ดอกไม้ แสงแดด เดินสูดอากาศนอกบ้าน เพื่อปรับระดับอารมณ์ กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) เพื่อสร้างความสดชื่น ลดความอ่อนล้าของร่างกาย
  3. ไม่ปล่อยให้ตนเองจมดิ่งไปกับอารมณ์เศร้าหมอง ใช้ช่วงเวลาประทับใจตอนไปเที่ยวเป็นเครื่องมือเยียวยา อาจเป็นการนั่งดูรูปทบทวนความทรงจำหรือการวางแผนเที่ยวครั้งต่อไป โดยอาจจะเป็นทริปสั้น ๆ เพื่อให้มีอะไรให้คาดหวังเมื่อรู้ว่ามีความสนุกรออยู่
  4. ปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยาถ้าหากยังมีอาการ Post-Vacation Blues ติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ การรับมือกับอาการนี้ได้เร็วมากเท่าไหร่ จิตใจคนเราก็ได้รับการเยียวยาให้ดีขึ้นมากเท่านั้น

นอกจากนี้ “ศ.ดร.อรัญญา” ยังให้คำแนะนำสำหรับพนักงานออฟฟิศว่า อาการ Post-Vacation Blues หรือ อารมณ์เศร้าหลังวันหยุดพักผ่อน ส่งผลต่อประสิทธิภาพต่อการทำงานของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการหยุดงาน การอู้งาน งอแงไม่อยากทำงานในวันที่กลับมาจากการพักผ่อน

ทั้งนี้ เหล่ามนุษย์เงินเดือนอาจหากิจกรรมที่ทำให้ตนเองรู้สึกกระปรี้กระเปร่าในวันทำงาน ได้โดย

  • สร้างแรงจูงใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้กับตนเอง ด้วยจัดกิจกรรมที่ต้องทำให้มีแบบแผนชัดเจน (ทำรายการ To-do list) จัดลำดับก่อนหลังสิ่งที่ต้องทำและลงมือทำ แม้ว่าแต่ละรายการอาจจะยังไม่เสร็จ แต่การได้ทำงานลุล่วงไปทีละชิ้น เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ดีในการเริ่มทำชิ้นต่อไป
  • เลือกจัดตารางหรือกิจกรรมที่ตนเองต้องการได้ เพื่อเพิ่มระดับแรงจูงในการทำงาน และสร้างความพึงพอใจในวันทำงาน เป็นต้น

ทั้งนี้ “ศ.ดร.อรัญญา” ยังกล่าวถึงความแตกต่างที่สำคัญระหว่างอาการ Post-Vacation Blues และโรคซึมเศร้าว่า โดยทั่วไปอาการ Post-Vacation Blues จะไม่ทำให้คนเราสูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน (การเรียน การทำงาน การพบปะผู้คนหรือเข้าสังคม) เพียงแต่ คนเราอาจรู้สึกไม่สุขสบาย ต้องพยายามรวบรวมแรงกายแรงใจเพื่อให้มีพลังงานเพียงพอที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้ลุล่วง

ส่วนโรคซึมเศร้า เปรียบเหมือนหมอกหนาที่กดทับคนเราไว้ คนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความยากลำบากในการทำหน้าที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวันอย่างมากจนถึงขั้นทำให้ไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยทำได้ และส่งผลกระทบก่อให้เกิดความเสียหายตามมา