อภิมหาดาวหาง C2014 / UN271 นาซายืนยัน ลูกใหญ่ยักษ์ที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขององค์การนาซา ยืนยันว่า อภิมหาดาวหาง C2014 / UN271 ที่พบเมื่อ 12 ปีก่อน มีขนาดใหญ่ยักษ์ที่สุดเท่าที่เคยพบมา

วันที่ 14 เมษายน 2565 เว็บไซต์ข่าวอวกาศ space.com รายงานข่าวแถลงจากองค์การอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ นาซา ว่า ดาวหาง C/2014 UN271 (Bernardinelli-Bernstein) เป็นดาวหางที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา จากการศึกษาด้วยกล้องฮับเบิล

กล่าวคือมีขนาดของนิวเคลียสหรือใจกลางที่เป็นน้ำแข็งกว้างถึง 129 กิโลเมตร (80 ไมล์) ซึ่งนับว่าใหญ่กว่าความกว้างเฉลี่ยของดาวหางปกติทั่วไปถึง 50 เท่า และใหญ่กว่ารัฐโรดไอส์แลนด์ของสหรัฐ ที่มีพื้นที่ 3,144 ตารางกิโลเมตร

“ดาวหางดวงนี้เหมือนยอดภูเขาน้ำแข็ง ของดาวหางอื่นๆ หลายพันที่เรือนรางมองแทบไม่เห็น” ศาสตราจารย์เดวิด เจวิตต์  สมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (UCLA) กล่าวและว่า

“เราคาดมาโดยตลอดว่ามันจะต้องมีขนาดใหญ่มาก เพราะเป็นดาวหางที่สุกสว่าง แม้จะมองจากระยะที่ไกลมากก็ตาม ตอนนี้เรายืนยันว่าใช่จริงๆ”

อภิมหาดาวหาง
แผนภาพเปรียบเทียบขนาดนิวเคลียสของดาวหาง C2014 / UN271 (ขวาสุด) กับดาวหางอื่น ๆ

ขณะนี้ดาวหางแบร์นาร์ดิเนลลี – เบิร์นสไตน์ โคจรห่างจากโลกด้วยความเร็ว 35,405 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากพื้นที่รอบนอกของระบบสุริยะเข้าสู่ด้านในซึ่งใกล้กับดวงอาทิตย์มากขึ้น ดาวหางนี้หลุดเข้าไปในทิศทางมุ่งตรงเข้าหาดวงอาทิตย์มากว่า 1 ล้านปีแล้ว

นาซาระบุว่า ไม่ต้องกังวลว่าดาวหางจะเข้าใกล้โลก เพราะจะมีระยะห่างจากโลกออกไป 1,600 ล้านกิโลเมตร กว่าจะเฉียดเข้าใกล้โลกมากที่สุดก็จนกว่าจะถึงปีค.ศ. 2031

อภิมหาดาวหาง ดวงนี้ เดิมมีชื่อแค่ว่า C/2002 VQ94 มีผู้สะดุดตาเมื่อปี 2002 (พ.ศ.2542) และคาดว่ามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 96 ก.ม. แต่การศึกษารอบใหม่ ที่เริ่มสังเกตครั้งแรก คือเมื่อปี  2010

จากนั้นไม่กี่ปี นักดาราศาสตร์ 2 คน คือ เปโดร แบร์นาร์ดิเนลลี และ แกรี เบิร์นสไตน์ จึงพบดาวหางดวงนี้ในแฟ้มประวัติข้อมูลสถิติ จากการสำรวจข Dark Energy Survey ที่ศูนย์สำรวจดาราศาสตร์ เซอร์โร-โตโลโล อินเตอร์-อเมริกัน ในประเทศชิลี และติดตามศึกษาเจาะลึกจากทั้งกล้องโทรทรรศน์ที่อยู่บนโลก และกล้องโทรทรรศน์ในอวกาศอย่างฮับเบิล

NASA / ESA / STSCI

บีบีซีไทยรายงานว่า ดาวหางเป็นวัตถุอวกาศที่ได้รับฉายาว่า “ลูกบอลน้ำแข็งสกปรก” เนื่องจากมีองค์ประกอบปะปนกันทั้งก้อนหินและน้ำแข็งรวมทั้งฝุ่นละอองต่าง ๆ โดยส่วนนิวเคลียสของเบอร์นาร์ดิเนลลี – เบิร์นสไตน์นั้น ปัจจุบันมีอุณหภูมิเย็นยะเยือกถึง -211 องศาเซลเซียส เนื่องจากยังอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 3,200 ล้านกิโลเมตร

เมื่อใดที่ดาวหางนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดการระเหิดของคาร์บอนมอนอกไซด์ จนปรากฏเป็นกลุ่มฝุ่นและก๊าซหรือ “โคมา” (Coma) ห่อหุ้มนิวเคลียสที่เป็นของแข็งของดาวหาง

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters ระบุว่า ทีมนักดาราศาสตร์ของนาซาทราบถึงขนาดที่แท้จริงของนิวเคลียสดาวหางยักษ์ใหญ่นี้ได้ ด้วยวิธีสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อประมาณการขนาดของโคมา ณ ตำแหน่งปัจจุบันในห้วงอวกาศที่กล้องฮับเบิลจับภาพได้เสียก่อน จากนั้นจึงจะคำนวณหาขนาดของนิวเคลียสได้

อภิมหาดาวหาง
NASA / ESA / STSCI

เมื่อนำตัวเลขที่คำนวณได้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลสังเกตการณ์จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุ ALMA ในประเทศชิลี พบว่า มีความใกล้เคียงสอดคล้องกันอย่างมาก

โดยข้อมูลแบบคลื่นวิทยุนี้ยังบ่งชี้ว่า การสะท้อนแสงของพื้นผิวดาวหาง C2014 / UN271 ไม่สู้ดีนัก แสดงว่า พื้นผิวของนิวเคลียสเป็นสีดำเข้มยิ่งกว่าถ่าน

อภิมหาดาวหางนี้มาจากกลุ่มเมฆออร์ต (Oort Cloud) ที่ขอบนอกของระบบสุริยะ โดยใช้เวลาถึง 3 ล้านปีโคจรรอบดวงอาทิตย์ให้ครบ 1 รอบ นอกจากนี้ จุดห่างไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดในวงโคจรของมัน ยังอยู่ห่างออกไปถึงครึ่งปีแสงเลยทีเดียว