ยานจู้หรง วิ่งสำรวจ พบหลักฐานย้ำ แอ่งบนดาวอังคาร เคยมีน้ำอยู่จริง

เคยมีน้ำ

คณะนักวิทยาศาสตร์จีน ค้นพบหลักฐานใหม่ที่ได้จากยานสำรวจ จู้หรง ยืนยันว่าดาวอังคารในอดีตเคยมีน้ำอยู่ และมีแร่ธาตุที่มีโมเลกุลของน้ำ ที่แอ่งดาวอังคาร

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 สำนักข่าว ซินหัว รายงานว่า ผลการศึกษาจากวารสารไซเอนซ์ แอดวานซ์ (Science Advances) วันที่ 12 ..2022 เผยว่าแอ่งขนาดใหญ่บนดาวอังคารเคยมีน้ำสถานะของเหลวในยุคแอมะซอน (Amazonian epoch) ซึ่งเป็นยุคทางธรณีวิทยาล่าสุดของดาวอังคาร

การค้นพบจากการสำรวจของยานจู้หรง (Zhurong) ได้เพิ่มสัญญาณบ่งชี้ว่าดาวอังคารมีน้ำอยู่จริง ซึ่งบอกเป็นนัยว่ากิจกรรมเกี่ยวกับน้ำในสถานะของเหลวอาจคงอยู่บนดาวอังคารนานกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก

Credit: China National Space Administration (CNSA)

การศึกษาเสริมว่าปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีแหล่งกักเก็บน้ำในรูปแบบแร่ธาตุที่มีโมเลกุลของน้ำเป็นส่วนประกอบและน้ำแข็งบนพื้นผิวจำนวนมาก การค้นพบนี้อาจนำไปใช้ประโยชน์ระหว่างการปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารในอนาคต

Credit: China National Space Administration (CNSA)

คณะนักวิจัยที่นำโดยนักวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติจีน สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะตะกอนและแร่ธาตุทางตอนใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ที่ราบขนาดมหึมาทางซีกเหนือของดาวอังคาร

An image of Mars taken by Chinese Mars rover Zhurong as part of the Tianwen-1 mission, in Beijing, China, May 19, 2021. REUTERS/Thomas Peter/File Photo/

คณะนักวิจัยอธิบายว่าหินสีสดใสที่กล้องของจู้หรงบันทึกภาพได้เป็นชั้นแข็ง” (duricrust) ซึ่งอาจถูกปั้นขึ้นโดยน้ำในสถานะของเหลวปริมาณมาก และบางทีอาจเป็นน้ำบาดาลที่พุ่งขึ้นหรือน้ำแข็งใต้ผิวดินที่ละลาย

ผลการศึกษาระบุว่าเปลือกแร่ซัลเฟตที่เป็นของแข็งนั้นแตกต่างจากชั้นแข็งที่บางและอ่อนกว่า ซึ่งสำรวจพบโดยยานสำรวจดาวอังคารลำอื่นๆ และอาจก่อตัวขึ้นจากการปฏิกิริยาของไอน้ำ

ผลการศึกษาของจีนอีกฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ จีโอไซแอนซ์ (Nature Geoscience) เมื่อเดือนมีนาคม 2022 เปิดเผยว่าบริเวณที่จู้หรงลงจอดนั้นอาจเคยประสบภาวะถูกกัดเซาะจากลมและน้ำ

Xinhua

วันเดียวกัน บีบีซีไทย รายงานถึงกระแสผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ พากันถกเถียงถึงภาพถ่ายน่าพิศวงของภูมิประเทศบนดาวอังคาร ซึ่งหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจคิวริออซิที (Curiosity Rover) ขององค์การนาซาบันทึกภาพไว้ได้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2022 ซึ่งก้อนหินบางส่วนในภาพนี้ดูเหมือนกับประตูทางเข้าสถานที่ลับสักแห่งไม่มีผิด

การก่อตัวของหินรูปทรงประหลาดที่เนินเขาบนดาวอังคาร ทำให้ผู้คนพากันจินตนาการว่ามันอาจเป็นทางเข้าฐานลับ วิหารประกอบพิธีทางศาสนา หรือสุสานใต้ดินของเอเลียนก็เป็นได้

ภาพมุมกว้างของภูมิประเทศบนดาวอังคาร ซึ่งบางจุดดูคล้ายกับประตูทางเข้าฐานลับของเอเลียน

ประตูปริศนาดังกล่าวเป็นภาพที่บันทึกได้จากภูเขาชาร์ป (Mount Sharp) ภายในแอ่งหลุมเกล (Gale Crater) ซึ่งหุ่นยนต์คิวริออซิทีทำการสำรวจในหลายจุดมาตั้งแต่ปี 2012

แม้องค์การนาซาซึ่งเป็นผู้เผยแพร่ภาพดังกล่าว ยังไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นเพิ่มเติมในเรื่องนี้ แต่มีผู้ใช้เว็บไซต์เรดดิตบางรายสันนิษฐานว่า “ประตูเอเลียน” อาจเป็นเพียงรอยแตกเฉือน ในโครงสร้างของชั้นหิน ซึ่งเกิดจากแรงบีบให้แน่นตึง หรือการเปลี่ยนรูปร่างของหินเมื่อมีแรงภายนอกมากระทำ ซึ่งอาจเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงบนดาวอังคาร ซึ่งนาซาเพิ่งตรวจพบการสั่นสะเทือนในขนาดหรือแมกนิจูดระดับสูงสุดเท่าที่เคยพบมา เมื่อวันที่ 4 พ.ค.นี้เอง