ภูฏานเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เก็บค่าธรรมเนียมความยั่งยืน

ชาวภูฏานยืนอยู่ด้านหน้า Taktsang Monastery หรือวัดถ้ำเสือ ในประเทศภูฏาน
Photo by Ed Jones / AFP

ภูฏานประกาศเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมเก็บค่าธรรมเนียม “พัฒนาความยั่งยืน” 2,400 บาทต่อคืน หวังใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คงการปล่อยคาร์บอนเป็นลบ

วันที่ 29 กันยายน 2565 บลูมเบิร์ก รายงานว่า ราชอาณาจักรภูฏาน ได้เปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ทางการได้ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development Fee) ที่จัดเก็บจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 65 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,400 บาท ต่อการพักค้าง 1 คืน

ก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวต้องชำระค่าแพ็กเกจทัวร์อย่างต่ำ 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7,600 บาทต่อวัน ให้กับบริษัททัวร์ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ได้ยกเลิกกฎดังกล่าว ส่วนการจัดเก็บเพื่อการพัฒนาความยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของแผนของรัฐบาลภูฏาน ที่มุ่งสู่การให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่มีจำนวนลดน้อยลง

ภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้ จะนำมาใช้ชดเชยกับรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) ที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว เป็นส่วนหนึ่งของการพยายามให้ประเทศภูฏานมีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นลบ (Carbon-negative) เพื่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศโลก อีกทั้งนำมาพัฒนาศักยภาพแรงงานในภาคท่องเที่ยว และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวแบบเน้นปริมาณในหลายประเทศ จุดหมายที่ได้รับความสนใจหลายประเทศต่างต้องการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนอย่างเร็วที่สุด เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี เลื่อนการบังคับใช้ค่าธรรมเนียมขาเข้าสำหรับนักท่องเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ ซึ่งเก็บราว 10 ยูโร หรือประมาณ 365 บาทออกไปก่อนจนถึงปีหน้า ขณะที่ประเทศไทยก็ได้เลื่อนการเก็บค่าธรรมเนียมนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จำนวน 300 บาทออกไปก่อนเช่นกัน

ภูฏานตั้งอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย ไม่มีพื้นที่ติดทะเล มีประชากรราว 770,000 คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คิดเป็นสัดส่วน 88% ของประชากรทั้งประเทศ นอกจากนี้ ภูฏานเลือกนำเสนอต่อสังคมโลกว่า ใช้ “ดัชนีความสุข” เพื่อวัดการพัฒนาประเทศ และเป็นอีกประเทศที่พยายามหลีกเลี่ยงการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณมาเป็นเวลานาน