คุมกำเนิด”โปรไฟไหม้” รัฐจัดระเบียบแพ็กเกจทัวร์

จัดระเบียบธุรกิจทัวร์ทั้งระบบ งัดมาตรการคุม “ราคาขั้นต่ำ” ขายแพ็กเกจทัวร์ ตั้งเป้าประกาศบังคับใช้ในสิ้นปี หลังปรากฏการณ์ “โปรไฟไหม้” ทุบราคาต่ำกว่าทุน กระทบเป็นลูกโซ่ทั้งผู้บริโภค-บริษัททัวร์เจ๊งระนาว นายกสมาคมทัวร์เอาต์บาวนด์ขานรับ เรียกผู้ค้าทั้งโฮลเซล-เอเย่นต์หารือกำหนดราคารายตลาด “ยุโรป-เอเชีย-จีน” วงในเผยรายใหญ่ไม่เห็นด้วย ชี้ควรให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนด

แหล่งข่าวจากธุรกิจท่องเที่ยวรายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้กลุ่มเอกชนท่องเที่ยวให้การตอบรับมาตรการยกระดับมาตรฐานธุรกิจนำเที่ยวในประเด็นทางการกำหนดอัตราค่าบริการนำเที่ยวขั้นต่ำแล้ว หลังจากที่กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประกาศดำเนินการเพื่อหาแนวทางกำหนดอัตราค่าบริการนำเที่ยวขั้นต่ำ ทั้งตลาดเอาต์บาวนด์ (นำคนไทยไปเที่ยวนอก)ตลาดอินบาวนด์ (นำต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทย) และตลาดโดเมสติกส์ (ไทยเที่ยวไทย) ตามข้อบังคับมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2559 (ฉบับแก้ไข)

ข้อบังคับดังกล่าวได้ระบุไว้อย่างชัดเจนใน พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2559 (ฉบับแก้ไข) แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ประกอบการไม่เห็นด้วย ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอยู่ในภาวะขยายตัวต่อเนื่อง ทุกรายทำธุรกิจและแข่งขันอย่างรุนแรง และส่งผลให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นทัวร์ไร้คุณภาพ, ทัวร์แช่แข็ง (ซื้อแล้วไม่ได้เดินทาง) รวมถึงทัวร์ไฟไหม้ ที่เน้นขายแพ็กเกจทัวร์ราคาถูกจนถึงระดับราคาต่ำกว่าทุน

หวั่นซัพพลายเชนเดี้ยงทั้งระบบ

“เมื่อก่อนบริษัททัวร์ต่าง ๆ ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำ และมองว่าประเทศไทยเป็นการค้าเสรี สามารถแข่งขันกันได้เต็มที่ ผ่านมา 2 ปีตอนนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งมีบริษัททัวร์จำนวนมากทยอยปิดตัว และอีกจำนวนมากที่เริ่มอยู่ไม่ได้ หายใจไม่ออก จึงหันมาร่วมมือเพื่อกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำตามข้อบังคับของภาครัฐ วางระบบมาตรฐานราคาแพ็กเกจทัวร์ในตลาดกันใหม่ทั้งระบบ” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ขณะนี้เสียงส่วนใหญ่ของคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยงของไทยเห็นด้วยที่ควรจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำของการขายแพ็กเกจทัวร์ทั้งตลาดเอาต์บาวนด์, อินบาวนด์ และโดเมสติกส์ โดยเฉพาะตลาดเอาต์บาวนด์ที่มีการแข่งขันที่รุนแรงมาก และกำลังได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอยู่ในขณะนี้ ที่สำคัญการแข่งขันในด้านราคานั้นได้ส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนทั้งระบบของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีมูลค่ารวม 3 ล้านล้านบาทอย่างหนักในขณะนี้ แม้ว่าการตรวจสอบคุมราคาอาจไม่ง่าย แต่การกำหนดราคาขั้นต่ำก็เพื่อเมื่อทัวร์เกิดปัญหาไม่ได้เดินทาง หรือลูกทัวร์ถูกทิ้ง อีกด้านรัฐก็จะสามารถใช้ข้อนี้มาจัดการบริษัททัวร์ได้ด้วย

“ทีทีเอเอ” เร่งทำโมเดลจัดเก็บ

นายธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ดูแลตลาดเอาต์บาวนด์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากที่สมาคมได้ประชุมร่วมกับกรมการท่องเที่ยว และได้รับมอบหมายให้เป็นตัวกลางเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมไทยไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA), สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ฯลฯ เข้ามาร่วมประชุมหารือไปแล้ว

โดยจัดแบ่งกลุ่มประเทศคร่าว ๆ เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ตลาดยุโรป, เอเชีย (รวมเกาหลี ญี่ปุ่น), จีน และอาเซียน พร้อมทั้งมอบหมายทุกฝ่ายไปศึกษาและคิดโมเดลในการจัดเก็บอัตราค่าบริการขั้นต่ำมานำเสนอในที่ประชุมอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน

“ในส่วนของรายละเอียดดำเนินการนั้น เมื่อแต่ละตลาดทำโมเดลราคามา ก็จะมาหารือกันอีกครั้งว่าข้อสรุปควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ จากนั้นจะนำโมเดลที่ได้เข้าหารือกับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ว่ารัฐจะมีความเห็นอย่างไรด้วย” นายธนพลกล่าวและว่า อย่างไรก็ตามทางสมาคมก็คงต้องขอเวลาในการศึกษาและนำเสนอโมเดลด้วย เพื่อประเมินว่าทำอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกรอบของหน่วยงานรัฐ และธุรกิจโดยรวมยังสามารถเดินต่อไปได้

ชงรัฐเว้นเก็บภาษีซ้ำซ้อน

นายธนพลก ล่าวด้วยว่า นอกจากการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำแล้ว ขณะนี้ทางสมาคมทีทีเอเอยังได้เตรียมนำเสนอให้ภาครัฐพิจารณาระบบการจัดเก็บภาษีของบริษัทนำเที่ยวเอาต์บาวนด์ใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานและบูรณาการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ครบในทุกมิติไปพร้อม ๆ กัน โดยให้รัฐพิจารณาว่ารายได้ส่วนไหนบ้างที่รัฐควรจัดเก็บภาษี ส่วนไหนที่บริษัทนำเที่ยวไม่ควรจะเสียภาษี

“ในความเป็นจริงแล้ว การใช้จ่ายนอกราชอาณาจักรนั้นเราไม่ควรที่จะนำมาเสียภาษี หรือในส่วนของตั๋วเครื่องบินที่พัก ก็ไม่ควรเสียภาษี เนื่องจากบริการเหล่านี้มีภาษีรวมอยู่แล้ว ดังนั้นระบบการเสียภาษีที่ถูกต้องรัฐควรคำนวณรายได้จากค่าบริการเท่านั้น ไม่ควรคำนวณภาษีจากราคาแพ็กเกจทัวร์แบบเหมารวม เพราะถือเป็นการจัดเก็บที่ซ้ำซ้อน” นายธนพลกล่าว

วงในชี้ไม่ง่าย-คลื่นใต้น้ำแรง

แหล่งข่าววงการท่องเที่ยวอีกรายกล่าวว่า แม้จะเป็นมติเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมของกลุ่มเอกชนท่องเที่ยว ว่าเห็นด้วยที่ต้องรีบดำเนินการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำของราคาแพ็กเกจทัวร์ แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่เห็นด้วย โดยมองว่ามาตรการดังกล่าวขัดกับระบบการค้าเสรีของประเทศ

“คนที่มองในมุมนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด ซึ่งมีความได้เปรียบในเชิงการตลาด และเป็นกลุ่มที่ใช้กลยุทธ์ราคามาเป็นจุดขาย โดยเฉพาะในกลุ่มที่ทำทัวร์โปรไฟไหม้ และกลุ่มที่ทำการตลาดขายถูก ๆ ในช่องทางออนไลน์เป็นหลัก” แหล่งข่าวกล่าว

ผู้เล่นรายใหญ่ยันไม่เห็นด้วย

ด้าน นายเอนก ศรีชีวะชาติ ประธานบริษัท ยูนิไทย แทรเวล จำกัด บริษัทนำเที่ยวเจ้าของโมเดลโปรไฟไหม้ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนของบริษัทยูนิไทยพร้อมดำเนินการตามมติของสมาคมไทยบริการท่องเที่ยวและตามกฎ กติกา ของภาครัฐ แต่ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เนื่องจากระบบการขายแพ็กเกจทัวร์เอาต์บาวนด์ถูกกำหนดโดยโฮลเซลและคู่ค้าจากต่างประเทศเป็นหลัก บริษัททัวร์เป็นเพียงส่วนที่ช่วยทำการตลาดและช่วยขายเท่านั้น

“การกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำสำหรับทัวร์เอาต์บาวนด์จึงเป็นกระบวนการที่ทำยากมาก และคงไม่สามารถไปกำหนดราคาให้โฮลเซลในต่างประเทศได้ ซึ่งตัวแทนในต่างประเทศก็คงไม่อยากกำหนดราคาขายที่สูงเกินไป เพราะกลัวว่านักท่องเที่ยวจะไม่ไปเที่ยวประเทศ ดังนั้นรูปแบบที่ดีที่สุดคือ รัฐควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกลไกตลาดตามระบบของการค้าเสรีต่อไป”

หวั่นวอลุ่มตก-กระทบผู้บริโภค

นายเอนกกล่าวต่อว่า การกำหนดราคาขายที่สูงก็ใช่ว่าจะเป็นผลดีเสมอไป เพราะหากไม่มีการเดินทางท่องเที่ยวทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเริ่มต้นทำงานที่มีความฝันอยากไปเที่ยวต่างประเทศ ที่สำคัญการปรับราคาให้สูงขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อวอลุ่มการขายแน่นอน

“เรื่องนี้ต้องมอง 2 มุม คือมุมหนึ่งอาจได้ราคาที่สูงขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งวอลุ่มมันตกลงไปแน่นอน ดังนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาราคาหรือวอลุ่มเป็นตัวกำหนด ขณะนี้มีคนบางกลุ่มพยายามตีรวนว่า โปรไฟไหม้ของยูนิไทยทำลายตลาดอยู่ ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่เลย อย่างที่บอกว่า เราไม่ได้เป็นคนกำหนดราคาขายเอง เราขายให้โฮลเซล เพียงแต่เรามีสื่อใหม่ ๆ ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าคนอื่นเท่านั้น” นายเอนกกล่าว

ระวังขัด พ.ร.บ.แข่งขันการค้า

เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากบริษัทนำเที่ยวใหญ่รายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สิ่งที่รัฐพยายามทำอยู่นั้นไม่เกิดประโยชน์และไม่ได้แก้ปัญหาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยแต่อย่างใด ประเด็นนี้รัฐควรปล่อยให้เป็นเรื่องของการแข่งขันเสรีมากกว่าที่จะมากำหนด แนวทางที่ดีที่สุดคือรัฐเข้ามายุ่งในรายละเอียดให้น้อยที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีใครที่จะขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนอยู่แล้ว

“การทำธุรกิจของเอกชนมีเรื่องของกลไกตลาดคุมอยู่แล้ว ใครที่ขายถูก ๆ สุดท้ายอยู่ไม่ได้เขาก็ต้องปิดตัว ส่วนใครที่ขายสูงเกินไป ไม่มีคนซื้อก็ไปไม่รอดอีกเช่นกัน จึงมองว่ารัฐควรดูในเรื่องมาตรฐานของภาพรวมจะดีกว่า ที่สำคัญ เรื่องนี้ทำไปแล้วก็ไม่รู้จะใช้ได้หรือเปล่า การทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำไปก็เสียเวลาเปล่า ๆ และที่สำคัญ ต้องดูให้ดีด้วยว่ามาตรการกำหนดอัตราค่าบริการขั้นต่ำดังกล่าวนี้ขัดกับพระราชบัญญัติการแข่งทางการค้าหรือไม่”

กำหนดยาก-ต้นทุนไม่เท่ากัน

นายโชติช่วง ศูรางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด กล่าวว่า ส่วนตัวไม่คิดว่าจะสามารถทำได้จริงและการยุ่งกับกลไกการตลาดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เหมือนที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามในการกำหนดราคาขั้นต่ำของทัวร์จีนหลังการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่สุดท้ายผู้ประกอบการก็เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการขายในราคาขั้นต่ำที่กำหนด แต่ขายแบบ 1 แถม 1 หรือ 1 แถม 2 แทนในกรณีของทัวร์ไทยนั้น ตนมองว่าจะไม่สามารถทำได้ด้วย 2 สาเหตุ

หนึ่ง คือ ต้นทุนของแต่ละบริษัทแตกต่างกัน ถ้าเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ค่าใช้จ่ายสูงต้นทุนก็จะสูงตามก็มีความจำเป็นที่จะต้องบวกกำไรมากกว่า

สอง คือ แต่ละเส้นทางมีรายละเอียดของที่พัก อาหาร และสินค้าทางด้านการท่องเที่ยวที่แตกต่างกันจึงมีราคาไม่เท่ากัน รวมถึงอาจทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องอัดโปรแกรมให้แน่นเพื่อให้คุ้มกับราคาขั้นต่ำที่กำหนด

ตั้งเป้าประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้

ด้าน นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเป้าหมายสำหรับการดำเนินงานเรื่องนี้ว่า เพื่อเป็นการช่วยยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งในกลุ่มคนไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมทั้งยังเป็นการป้องปรามและทำให้การทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง เป็นธรรม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

ทั้งนี้ ได้กำหนดรูปแบบการดำเนินงานคร่าว ๆ เป็นรายตลาดหลัก ๆ อาทิ ยุโรป, อเมริกา, เอเชีย, อาเซียน (ไม่รวมสิงคโปร์), จีน เป็นต้น เนื่องจากรายละเอียด และหลักการทำธุรกิจของแต่ละตลาดมีความแตกต่างกัน โดยตั้งเป้าดำเนินการให้แล้วเสร็จและประกาศในราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ หรือช้าสุดคือภายในสิ้นปีนี้