“เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 เผือกร้อน ททท.

เราเที่ยวด้วยกัน

สร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวพอสมควร เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่พิจารณาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 ที่เพิ่มห้องพักอีก 2 ล้านห้อง และขยายเวลาดำเนินโครงการจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม พร้อมตีกลับให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปพิจารณารายละเอียดใหม่อีกครั้ง

พร้อมทั้งเป็นห่วงว่าโครงการดังกล่าวจะไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทยในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเทศกาลหยุดสงกรานต์ที่ทุกฝ่ายคาดหวังไว้ว่าจะเป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นของการปลุกกระแสคนไทยเที่ยวในประเทศให้พลิกกับมาคึกคักอีกครั้ง

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ชี้แจงว่า เหตุที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้รับการพิจารณานั้น เนื่องจากทางกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานรับงบประมาณและรับผิดชอบหลักใน 2 เฟสแรกที่ผ่านมา บอกว่า การประสานงานไม่ค่อยสะดวกจึงโอนงบประมาณมาให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นผู้รับช่วงดำเนินงานต่อ

โดยมอบให้ ททท. และธนาคารกรุงไทยไปทำข้อตกลงกันว่าจะใช้หลักการจองใช้สิทธิอย่างไร รวมถึงหามาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตในโครงการเหมือนที่ผ่านมาอย่างไร พร้อมทั้งจะต้องศึกษาหลักดำเนินการ ปรับเงื่อนไขใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของการยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อให้แน่ชัดว่าผู้ที่ใช้สิทธิเป็นเจ้าของสิทธิจริง ๆ

จากนั้นจะต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกลั่นกรองเงินกู้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ตามลำดับ หากผ่านการพิจารณาทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯจะนำรายละเอียดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”
เฟส 3 เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้ง โดยคาดว่าจะสามารถหาข้อสรุปและใช้ได้ทันในเดือนมีนาคมนี้

“เบื้องต้นที่ประชุม ครม.อยากให้เรากลับมายืนยันตัวตนผู้ได้สิทธิตามโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 6 ล้านคนแรกก่อน ว่าเป็นเจ้าของสิทธิจริง ๆ หรือไม่ มีการรับนักท่องเที่ยวเข้ามาถูกต้องอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ต้องกลับมาดูว่าระบบจะทำได้ทันหรือไม่ แต่ประเมินแล้วไม่น่าจะสามารถทำได้ทัน จึงต้องหาทางเพิ่มเติมในขั้นตอนอื่น ๆ แทน” นายพิพัฒน์ระบุ

เช่นเดียวกับโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่ปรับรูปแบบมาจาก “เที่ยวไทยวัยเก๋า” ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้คนไทยออกเดินทางมากขึ้นในวันธรรมดา โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งรัฐบาลจะสมทบค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์นำเที่ยวในสัดส่วน 40% และสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อคนต่อทริป ในวงเงิน 12,500 บาทขึ้นไปนั้นก็ต้องรอนำเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนชื่อโครงการจึงต้องนำรายละเอียดทั้งหมดเข้าเสนอสภาพัฒน์ใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนการขอใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ โดยเบื้องต้นคาดว่าโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน

หรือสรุปได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 และโครงการจบในเดือนกรกฎาคมพร้อมกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

ด้าน “ธนพล ชีวรัตนพร” นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ซึ่งดูแลและส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้สมาคมได้พยายามผลักดันให้มีสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นซัพพลายเชนทั้งหมดในภาคธุรกิจท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ด้วย โดยเฉพาะแพ็กเกจทัวร์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าถึงมาตรการของรัฐได้อย่างแท้จริง

แต่ที่ผ่านมาการผลักดันดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อรัฐบาลให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และ ททท. นำโครงการมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง จึงอยากนำเสนอใหม่อีกครั้งเพื่อให้ภาครัฐ
นำสินค้าและบริการทุกซัพพลายเชนด้านการท่องเที่ยวสามารถเข้าร่วมโครงการในเฟส 3 นี้ด้วย

คงต้องมาช่วยกันลุ้นให้โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 3 ในมือ ททท.สามารถตอบโจทย์นโยบายการทำงานของภาครัฐและเอกชน และสำเร็จตามเป้าหมาย