กางแผน 5 ปี 5 ยุทธศาสตร์ พื้นที่พิเศษ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา”

สงขลา

ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ หรือ ท.ท.ช. ให้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปเมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาสำหรับ “พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” พื้นที่พิเศษอันดับที่ 7 ขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.

เชื่อมโยงท่องเที่ยว 3 จังหวัด

ภายใต้วิสัยทัศน์ “วิถีชีวิตแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน” เพื่อยกระดับฐานทุนวัฒนธรรมที่มาจากการเคลื่อนย้ายของคนหลายสัญชาติมาพัฒนาภายใต้แนวคิด “โหนด นา เล” ที่สะท้อนวิถีดั้งเดิมที่ยังคงรากวัฒนธรรมไว้อย่างเหนียวแน่น

“โหนด” มาจากคำว่า “ตาลโตนด” ที่เป็นสัญลักษณ์แทนความหลากหลายด้านทรัพยากรธรรมชาติพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ที่เป็นฐานเศรษฐกิจสำคัญ “นา” คือ ฐานสำคัญทางความมั่นคงด้านอาหาร ส่วน “เล” คือ แหล่งทรัพยากรทางน้ำ อาหาร เส้นทางการค้าที่ทำให้ผู้คนมั่งคั่งและมีชีวิตชีวา เป็นเส้นเลือดใหญ่ของความอุดมสมบูรณ์ที่ขับเคลื่อนสงขลาให้มีความเจริญมาอย่างยาวนาน

โดยพื้นที่ดังกล่าวนี้มีเนื้อที่ราว 5,553.260 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 15 อำเภอ ใน 3 จังหวัดประกอบด้วย สงขลา 8 อำเภอ คือ อ.เมืองสงขลา ระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ สิงหนคร หาดใหญ่ ควนเนียง และบางกล่ำ พัทลุง 5 อำเภอ คือ อ.เมืองพัทลุง ปากพะยูน บางแก้ว เขาชัยสน และควนขนุน และนครศรีธรรมราช 2 อำเภอ คือ อ.ชะอวด และหัวไทร

มุ่งกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน

“นาวาอากาศเอกอธิคุณ คงมี” ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบแบบ “ลากูน” หนึ่งเดียวของไทย และเป็น 1 ใน 117 แห่งทั่วโลกที่มีน้ำเค็ม น้ำจืด และน้ำกร่อย จึงทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ

เป็นพื้นที่ที่อุดมด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติและมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีคุณค่าและความโดดเด่นทั้งด้านธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชุมชน

การดำเนินงานพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบ “พื้นที่พิเศษ” จะช่วยให้พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เกิดความยั่งยืนด้วยการใช้หลักเชิงวิชาการ เชิงเทคนิคมาวิเคราะห์และกำหนดสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ที่สามารถพัฒนาและต่อยอดเชิงสร้างสรรค์เพื่อพลิกฟื้นสู่การท่องเที่ยวที่มีมูลค่าสูง มีเอกลักษณ์บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้

โดย อพท.ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับทุกภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และเสริมสร้างความแข็งแรงของภาคีที่เกี่ยวข้องด้วยการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษอย่างมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชน

เปิดแผน 5 ปี 5 ยุทธศาสตร์

ขณะนี้ อพท.อยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดทำแผนขับเคลื่อนการพัฒนาระยะ 5 ปี (2566-2570) ที่สอดคล้องกับนโยบายการท่องเที่ยวและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง

ทั้งนี้ จากการศึกษาเบื้องต้นกำหนดไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน

2.ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ตามวิถีโหนด-นา-เล

3.ยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่ต่อยอดอัตลักษณ์ของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

4.ยุทธศาสตร์การพัฒนาเครือข่ายและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว และ

5.ยุทธศาสตร์การพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการการท่องเที่ยว

ปั้นชุมชนแห่ง “ความสุข”

โดยมีเป้าหมายหลัก คือ พัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเพื่อมุ่งสู่ชุมชนแห่งความสุข สร้างเสริมและกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน สร้างต้นแบบของการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่น

รวมถึงประสานความร่วมมือทุกภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลไกและระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาตามแนวทางของหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard : STMS) และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (Community Based Tourism : CBT) มายกระดับมาตรฐานการให้บริการของชุมชน และผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ดัน 5 เส้นทางท่องเที่ยว

“นาวาอากาศเอกอธิคุณ” บอกว่า ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีการดำเนินการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ขาดการจัดการในการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาของ อพท.จะใช้วิธีบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยดึงพื้นที่ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” เป็นแกนหลักในการพัฒนาพื้นที่

นับตั้งแต่ทะเลสาบตอนบนซึ่งเป็นจุดกำเนิดแหล่งน้ำจืดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ไหลมารวมกันเป็นทะเลน้อย ซึ่งอยู่ตอนบนของจังหวัดพัทลุง ทำให้เป็นแหล่ง 3 น้ำในทะเลสาบตอนใน มีพื้นที่ราบเหมาะต่อการทำการเกษตร และไหลบรรจบที่ทะเลสาบสงขลาตอนล่างจังหวัดสงขลา ผ่านการนำเสนอ 5 เส้นทางการท่องเที่ยว

ประกอบด้วย 1.เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

2.เส้นทางท่องเที่ยววิถี โหนด นา เล

3.เส้นทางท่องเที่ยววิถีชีวิตทะเลสาบสงขลา

4.เส้นทางท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด

และ 5.เส้นทางท่องเที่ยวโนรา มรดกภูมิปัญญาไทย มรดกวัฒนธรรมโลก

ตั้งเป้ารายได้ 4 หมื่นล้าน/ปี

ทั้งนี้ ประมาณการว่าจากการพัฒนาตามแผนงานระยะ 5 ปี (2566-2570) จะส่งผลให้ทั้ง 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้าพื้นที่ราว 7-8 ล้านคนต่อปี และสร้างรายได้ปีละกว่า 4 หมื่นล้านบาท

และผลักดันให้พื้นที่ “ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา” ได้รับมาตรฐานการท่องเที่ยวในระดับสากล เช่น เมืองสร้างสรรค์ และ Green Destination TOP-100 เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลกด้วย