ลุ้นเป้านักท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง อัดงบฯ 1,000 ล้านฝ่าปัจจัยลบ

File (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

รัฐเร่งปั๊มรายได้ท่องเที่ยว เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวหลัก เตรียมอัดยาแรงช่วยผู้ประกอบการฟื้นไข้ ททท.เผยครึ่งปีหลังปัจจัยลบเพียบ ที่นั่งสายการบินเข้าไทยกลับมาได้แค่ 30% หวั่นทุบตัวเลขนักท่องเที่ยวทั้งตลาดต่างประเทศ-ในประเทศไม่ถึงเป้า เตรียมอัดงบฯกว่า 1,000 ล้าน อุ้มผู้ประกอบการทุกเซ็กเตอร์

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศระยะที่ 1 (เมษายน)

และระยะที่ 2 (พฤษภาคม) แต่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2565) ที่ผ่านมายังมีจำนวนแค่ประมาณ 2 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 20-30% ของเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 7-10 ล้านคน

“ปัจจัยเสี่ยง” เพียบ

เช่นเดียวกับตลาดภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย ที่คาดว่าช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาจะอยู่ในระดับประมาณ 60 ล้านคน-ครั้ง หรือประมาณ 36.5% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง และเพิ่มได้อีกประมาณ 18-20 ล้านคน-ครั้ง ในช่วงไตรมาส 3/2565 นี้ รวม 9 เดือนแรกคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 80 ล้านคน-ครั้ง หรือประมาณ 50% ของเป้าหมายเท่านั้น

ปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้ผู้ประกอบการในด้านซัพพลาย ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน รถขนส่ง บริษัทนำเที่ยว ร้านอาหาร สถานบันเทิง ฯลฯ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว (attraction) มีดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ในระดับเพียงแค่ประมาณ 50% ของสภาวะปกติเมื่อปี 2562 และมีสถานประกอบการบางส่วนหยุดการให้บริการอีกครั้ง เนื่องจากแบกรับต้นทุนไม่ไหว จากราคาวัตถุดิบ และต้นทุนสูงขึ้นจากราคาน้ำมันและจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น, เศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก, สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นความเสี่ยงใหญ่ของเศรษฐกิจโลก, ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ, ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า รวมทั้งหนี้ครัวเรือนของคนในประเทศที่อยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แนะผนึกพลังอัด “ฮาร์ดเซล”

สอดรับกับ นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ว่าแนวโน้มตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่การจะดันให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกำลังต่อสู้กับ 3 สงคราม คือ สงครามโควิด-19, สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก และสงครามช่วงชิงนักท่องเที่ยว หรือ tourism war game ที่หลายประเทศกำลังอัดกลยุทธ์เพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยว

“เพื่อรักษาสภาพการจ้างงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน สภาท่องเที่ยวฯเสนอให้รัฐบาลเร่งบูตตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12-16 ล้านคน โดยมองว่าทุกกระทรวง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจับมือกันทำฮาร์ดเซล เพื่อเติมลูกค้าให้เพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศฟื้นไข้ และกลับมาเป็นเจ้าบ้านที่ดี พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง” นายชำนาญกล่าว

และว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชนได้รวบรวมประเด็นปัญหาและข้อเสนอถึงรัฐบาลผ่านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกระทรวงการท่องเที่ยวฯแล้ว อาทิ ปัญหาขาดแคลนเที่ยวบินและบุคลากรทางการบิน ปัญหารถ-เรือไม่พร้อมให้บริการ ผู้ประกอบการขาดเงินทุนหมุนเวียนอย่างหนัก ฯลฯ

โดยเสนอให้มีการเติมทุนและเติมความรู้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายโดยตรึงราคาพลังงาน เพื่อไม่ให้ภาคขนส่งหยุดกิจการ ฯลฯ รวมถึงออกนโยบายพิเศษ เช่น มาตรการเรื่อง visa หรือภาษี เป็นต้น

“ที่นั่งสายการบิน” อุปสรรคใหญ่

ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ในฐานะหน่วยงานด้านการตลาดและรัฐบาล ยังคงมีเป้าหมายทำให้การท่องเที่ยวเป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลเร่งเครื่องด้วยการทยอยผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศเป็นระยะ ซึ่งทุกครั้งที่มีการผ่อนคลาย พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ช่วง 6 เดือนแรกเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามา 2.12 ล้านคน หากไตรมาส 3 สามารถทำได้ 1 ล้านคนต่อเดือน และประมาณ 1.5 ล้านคนต่อเดือนในไตรมาส 4 เรามีโอกาสเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ราว 9.5-10 ล้านคน ตามเป้าหมาย” นายยุทธศักดิ์กล่าว

และว่าประเด็นปัญหาในขณะนี้คือ ต้นทุนค่าตั๋วเครื่องบินสูงมาก จำนวนเที่ยวบินและที่นั่งมีจำกัด เนื่องจากสายการบินต่าง ๆ โดยเฉพาะสายการบินอินเตอร์และสนามบินในต่างประเทศที่ยังกลับมาให้บริการไม่เต็มที่

จ่ออัด 1,000 ล้านปั๊มตัวเลข

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนเที่ยวบินที่บินเข้ามารวม 249,853 เที่ยวบิน คิดเป็น 56,282,290 ล้านที่นั่ง สำหรับปีนี้ ตัวเลข ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2565 พบว่า มีจำนวนเที่ยวบินบินเข้าประเทศไทยรวม 72,548 เที่ยวบิน คิดเป็น 17,329,962 ล้านที่นั่ง หรือมีสัดส่วนเพียงแค่ประมาณ 30% เมื่อเทียบกับปี 2562

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 นี้ ททท.จึงวางแผนเร่งเครื่องทุกรูปแบบ ทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ เพื่อให้การดำเนินการบรรลุเป้าหมาย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7-10 ล้านคน และตลาดไทยเที่ยวไทยที่ 160 ล้านคน-ครั้ง

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า ททท.เตรียมขออนุมัติงบประมาณราว 1,000 ล้านบาท ช่วยให้ผู้ประกอบการในฝั่งซัพพลายไซด์ให้มีกำลังใจที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง โดยตลาดในประเทศจะดำเนินการ 3 ส่วนคือ 1.เพิ่มจำนวนที่นั่งสายการบิน 1 ล้านที่นั่ง และช่วยให้ทุกเส้นทางการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70%

2.เพิ่มจำนวนห้องพัก 1 ล้านห้อง โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) ให้โรงแรมทั่วประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 55% และ 3.เพิ่มคนเดินทางท่องเที่ยวผ่านรถทัวร์ 1 ล้านคน

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น จะเน้นไปที่การเพิ่มจำนวนที่นั่งเครื่องบิน (seat capacity) ให้กลับมาได้ไม่ต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือมีจำนวนที่นั่งที่ประมาณ 28,141,145 ที่นั่ง รวมถึงผลักดันเรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทั้งในส่วน tourist visa และ visa on arrival (VOA) และขยายระยะเวลาวันพำนักทั้ง 2 รูปแบบเป็น 45 วัน

นอกจากนี้ ยังเน้นทำงานร่วมกับเอเย่นต์ทัวร์เพื่อให้บริการเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์ รวมถึงทำงานร่วมกับ OTAs ต่าง ๆ และทำกิจกรรมโรดโชว์ในตลาดต่างประเทศควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เตรียมประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อหารือเรื่องมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ทั้งประเภทท่องเที่ยวและ visa on arrival และขยายเวลาพำนักของวีซ่าท่องเที่ยว จาก 30 วันเป็น 45 วัน และ visa on arrival จาก 15 วันเป็น 45 วัน นับตั้งแต่วันอนุมัติไปจนถึงสิ้นปี 2565

ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยและมีวันพำนักนานขึ้น โดยกระทรวงมีแผนนำเสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อพิจารณาต่อไป

“โรงแรม” ทยอยฟื้นตัว

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ รวมถึงการยกเลิก Thailand Pass และไม่บังคับสวมหน้ากากอนามัยตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น

โดยข้อมูลจากการสำรวจล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า โรงแรมร้อยละ 88 เปิดกิจการปกติ คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และเปิดประเทศในช่วงปลายปีก่อน เหลือปิดชั่วคราวเพียงร้อยละ 1

โดยโรงแรมทั่วประเทศที่มีอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) เฉลี่ย 38% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2565 ที่มีอัตราเฉลี่ย 36% และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค ยกเว้นโรงแรมในภาคใต้ และภาคตะวันออกที่ปรับลดลงเล็กน้อย ซึ่งลูกค้าของโรงแรมส่วนใหญ่ยังคงเป็นลูกค้าชาวไทยเป็นหลัก ขณะที่ลูกค้าต่างชาติเริ่มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจะปรับเพิ่มสูงขึ้นได้ถึงประมาณ 40% ในเดือนกรกฎาคม 2565 นี้ และเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 50% ในช่วงไตรมาส 4/2565 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น

“นอกจากนี้เรายังพบว่าโรงแรมร้อยละ 28 ที่มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่มีลูกค้าหลักเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ และมีการจ้างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักที่เพิ่มขึ้น” นางมาริสากล่าว