ททท.ขอพันล้านบูสต์ท่องเที่ยว อัดโปรติดสปีดรายได้ครึ่งปีหลัง

นักท่องเที่ยว

 

ททท.จ่อเจรจา ศบศ. ของบฯ 1 พันล้านเป็น booster shot อัดโปรโมชั่นร่วมตั๋วเครื่องบิน 1 ล้านที่นั่ง ห้องพักโรงแรม 1 ล้านรูมไนต์ รถบัส 1 ล้านคน อุ้มผู้ประกอบการ-กระตุ้นท่องเที่ยวครึ่งปีหลัง ดันเป้าเที่ยวในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง นักท่องเที่ยวต่างชาติ 7-10 ล้านคน สร้างรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.มีแผนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. เพื่อดำเนินโครงการ Booster Shot อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยและผู้ประกอบการภายในประเทศฟื้นไปด้วยกัน

โครงการดังกล่าวมีกรอบวงเงินงบประมาณรวม 1,035.75 ล้านบาท แบ่งเป็นสินค้าและบริการ จำนวน 432 ล้านบาท การตลาดภายในประเทศ จำนวน 450 ล้านบาท การตลาดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 50 ล้านบาท และการตลาดภูมิภาคยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา จำนวน 103.75 ล้านบาท

โดยงบประมาณสำหรับตลาดในประเทศ 2 ส่วนรวม 882 ล้านบาท จะเป็นงบฯที่ขอจากงบฯเงินกู้ของสภาพัฒน์ ส่วนงบประมาณในส่วนของตลาดต่างประเทศ 153.75 ล้านบาท เป็นงบประมาณกลางของ ททท.

นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมการตลาดนั้น จะเน้นรูปแบบการทำ joint promotion ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ (ระหว่างเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2565) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการในฝั่งซัพพลายไซด์มีกำลังใจที่จะกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง โดยตลาดในประเทศจะดำเนินการ 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.สายการบิน โดยเพิ่มจำนวนที่นั่งสายการบิน 1 ล้านที่นั่ง เพื่อให้จำนวนที่นั่งของสายการบินกลับมา และช่วยให้ทุกเส้นทางการบินมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 70%

2.โรงแรม ด้วยการเพิ่มจำนวนห้องพักที่อยู่ในระบบฐานภาษี 1 ล้านห้อง (room night) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีเป้าหมายเพิ่มอัตราการเข้าพักให้โรงแรมทั่วประเทศเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 55% และ 3.รถทัวร์พร้อมไกด์นำเที่ยว โดยมีเป้าจำนวนผู้โดยสาร 1 ล้านคน

“แนวทางดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นข้อเสนอของภาคเอกชนที่เสนอเข้ามา ททท.เรารับในหลักการและได้ทำเวิร์กช็อปเพื่อกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณมาแล้ว ส่วนของรูปแบบดำเนินการนั้น ได้มอบให้ภาคเอกชนเสนอเข้ามาอีกครั้ง ขณะนี้เรารอเพียงกำหนดวันที่จะนำเข้าที่ประชุม ศบศ. ซึ่งคาดว่าจะสรุปรายละเอียดและดำเนินการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565 นี้” นายยุทธศักดิ์กล่าว

และว่า โดยโครงการดังกล่าวจะดำเนินการคู่ขนานไปกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” เฟส 4 ส่วนต่อขยายที่เพิ่มสิทธิให้ใหม่อีก 1.5 ล้านสิทธิ และโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” เฟส 2 ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้จะสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2565 ขณะที่โครงการใหม่ที่นำเสนอนี้จะสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565

สำหรับตลาดต่างประเทศนั้น นายยุทธศักดิ์กล่าวว่า หัวใจหลักคือ การเพิ่มจำนวนที่นั่งเครื่องบิน (seat capacity) ให้สามารถกลับมาได้ไม่ต่ำกว่า 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 รวมถึงผลักดันเรื่องการขอยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทั้งในส่วน tourist visa และ visa on arrival (VOA) รวมทั้งขยายระยะเวลาวันพำนักทั้ง 2 รูปแบบเป็น 45 วัน

รวมถึงสนับสนุนสายการบินในการเพิ่มความถี่และเปิดเส้นทางบินใหม่ ร่วมกับเอเย่นต์ทัวร์ให้บริการเที่ยวบินชาร์เตอร์ไฟลต์ เน้นทำงานร่วมกับ OTAs ต่าง ๆ รวมถึงเดินหน้าทำกิจกรรมโรดโชว์ในตลาดต่างประเทศ

“ในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนที่นั่งเครื่องบินที่ทำการบินเข้ามาทั้งหมดรวม 56.28 ล้านที่นั่ง มีจำนวนเที่ยวบินรวม 2.49 แสนเที่ยวบิน สำหรับปีนี้ ตัวเลข ณ 27 เดือนมิถุนายน 2565 ประเทศไทยเรามีจำนวนที่นั่งบินรวม 17.33 ล้านที่นั่ง คิดเป็น 31% ของปี 2562 มีจำนวนเที่ยวบิน 7.25 หมื่นเที่ยวบิน คิดเป็น 29% ของปี 2562 โจทย์ของเราคือ ต้องทำให้ที่นั่งกลับมาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 50% หรือต้องมีประมาณ 28.14 ล้านที่นั่ง นั่นหมายความว่าเราต้องพยายามเร่งให้ได้เพิ่มอีก 10.81 ล้านที่นั่ง” นายยุทธศักดิ์กล่าว

นายยุทธศักดิ์กล่าวต่อไปอีกว่า ททท.เชื่อมั่นว่า กรอบงบประมาณดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสำหรับ 2565 นี้เป็นไปตามเป้าหมาย คนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5.56 แสนล้านบาท มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7-10 ล้านคน สร้างรายได้ 8.44 แสนล้านบาท และมีรายได้รวมที่ 1.5 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปี 2562 (ก่อนโควิด)

ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดพบว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน 2565) ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.12 ล้านคน และคาดการณ์จำนวนคนไทยเที่ยวภายในประเทศประมาณ 78 ล้านคน-ครั้ง หากไม่มีบูสเตอร์ชอตอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศไม่ถึงเป้าหมาย

“ถ้าเราเพิ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจากการทำบูสเตอร์ชอตได้ 1 ล้านคน จะทำให้เรามีรายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นได้ประมาณ 50,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าหากตัวเลขหลุดเป้าเราจะเสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ล้านคน เช่นเดียวกับตลาดในประเทศเราประเมินว่าหากไม่มีบูสเตอร์ชอตจะได้ประมาณ 110 ล้านคน-ครั้ง หลุดเป้าไป 50 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจประมาณ 2.1 แสนล้านบาท” นายยุทธศักดิ์กล่าว

ด้านนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ทยอยเปิดประเทศกลับสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ประเด็นปัญหาสำคัญคือ ผู้ประกอบการในฝั่งซัพพลายกลับมาเปิดให้บริการในสัดส่วนที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่มีกระแสเงินสดมาหมุนเวียน รวมถึงขาดบุคลากรที่มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ประกอบกับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรือ “ทัวร์เที่ยวไทย” นั้น ยังไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวได้ทุกเซ็กเตอร์อย่างแท้จริง หากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณดังกล่าวเข้ามาอัดฉีดผู้ประกอบการอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการในทุกเซ็กเตอร์มีรายได้เพิ่มขึ้น

“ภาคเอกชนเราเชื่อว่าแนวทางการกระตุ้นที่จะทำให้เกิดผลชัดเจนที่สุดในเวลานี้คือ กลยุทธ์ฮาร์ดเซล หรือต้องอัดยาแรง เพื่อให้ผู้ประกอบการมีพละกำลังขึ้น และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง และมีศักยภาพในการรองรับทั้งนักท่องเที่ยวคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศตามนโยบายเปิดเมือง” นายชำนาญกล่าว