59 หุ้นซิ่งติดแคชบาลานซ์ สวนตลาดซึม-ครึ่งปีหลังเก็งกำไรแรง-

หุ้นร้อนติดแคชบาลานซ์ในช่วง 7 เดือนแรก 59 บริษัท สวนทางตลาดหุ้นแกว่งแคบ ฟากหุ้นใหญ่อืด นักลงทุนต้องดิ้นหาหุ้นกลาง-เล็กที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า คาดครึ่งปีหลังแรงเก็งกำไรยังสูง ส่วนเงินต่างชาติไหลเข้าไม่ชัดเจน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเกือบ 7 เดือนที่ผ่านมา (26 ก.ค. 2560) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นราว 2.49% มาอยู่ที่ 1,583.17 จุด ขณะที่ราคาหุ้นหลายตัวได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศเป็นหุ้นที่ต้องวางเงินสดเต็มจำนวนก่อนซื้อ (แคชบาลานซ์) จำนวน 59 บริษัท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีจำนวน 47 บริษัท

นายรณกฤต สารินวงศ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เออีซี เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2560 หุ้นขนาดกลางและเล็กหลายตัวมีการเก็งกำไรสูง จนเข้าข่ายหุ้นติดแคชบาลานซ์มากกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากราคาหุ้นขนาดใหญ่เคลื่อนไหวช้า จนหาผลตอบแทน (รีเทิร์น) ได้ยาก

“ปีนี้รายย่อยส่วนใหญ่เล่นหุ้นไซซ์เล็ก โดยเฉพาะถ้าราคาต่ำประมาณ 1-2 บาทต่อหุ้น ซึ่งวิธีการเลือกซื้อก็จะมีค่อนข้างหลากหลาย เช่น ดูสัญญาณทางเทคนิค สตอรี่ (ประเด็น) ที่โดดเด่น ฯลฯ แม้แต่กองทุนก็เลือกหาหุ้นที่มีขนาดไม่ใหญ่เช่นกัน เพราะปีนี้ไม่มีประเด็นอะไรเข้ามาผลักดันหุ้นใหญ่ให้ปรับตัวขึ้นไปได้มาก ขณะที่ด้านความเสี่ยงต่างประเทศ ทั้งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) การลดขนาดมาตรการทางการเงินเชิงปริมาณ (QE) ของยุโรป ก็ยังรออยู่ ดังนั้นการจะลงทุนให้ได้รีเทิร์นดี ก็ต้องเลือกหุ้นกลาง-เล็ก ที่มีโอกาสอัพไซด์สูง (แกว่งตัวขึ้น)” นายรณกฤตกล่าว

สำหรับทิศทางในช่วงที่เหลือ ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวแคบ โดยหุ้นขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้น้อย จะไม่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น ดังนั้นการเก็งกำไรในหุ้นขนาดกลาง-เล็ก น่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มที่น่าสนใจ ได้แก่ หุ้นที่เกี่ยวกับธุรกิจวางระบบเทคโนโลยี (ไอซีที) และสายสัญญาณ เช่น บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น (ILINK) และ บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม (ITEL) เนื่องจากบริษัทเหล่านี้สามารถรับรู้รายได้ค่อนข้างเร็วกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มบริษัทที่รับงานโครงสร้างพื้นฐานของรัฐโดยตรง อีกทั้งขนาดของงานที่ได้รับก็มีมูลค่าค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลักพันล้านบาทขึ้นไป ซึ่งเป็นสตอรี่ที่สนับสนุนราคาระยะสั้นได้

“หุ้นกลางและเล็กน่าจะยังมีแรงเก็งกำไรสูงในช่วงที่เหลือของปี แต่ไม่เพียงเท่านี้ คาดว่าใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) ก็น่าจะได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะที่ผ่านมาวอร์แรนต์ปรับตัวขึ้นดีมาก 100% ต่อวันก็มี” นายรณกฤตกล่าว

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บล.แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะแกว่งตัวในกรอบ 1,500-1,600 จุด โดยสาเหตุที่ดัชนีแกว่งตัวได้ค่อนข้างแคบ เนื่องจากเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ยังไม่มีแนวโน้มไหลเข้าชัดเจน หลังจากผลประกอบการ บจ.ไตรมาส 2/2560 ออกมาไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงนัก โดยทั้งปีนี้คาดว่า บจ.จะมีอัตราผลตอบแทนต่อหุ้น (EPS) ประมาณ 6% และคาดว่าในปี 2561 จะไม่ถึงระดับ 10% เมื่อเทียบกับราคาหุ้นโดยรวม ณ ปัจจุบัน ถือว่าตลาดหุ้นมีโอกาสอัพไซด์ได้น้อย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างประเทศทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงประเด็นการลดขนาดงบดุล (Balance Sheet) และการเดินหน้านโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เคยประกาศไว้ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะทำได้สำเร็จหรือไม่

ส่วนกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจในครึ่งปีหลัง ได้แก่ กลุ่มอุปโภคบริโภค ท่องเที่ยว ค้าปลีก อาหาร และขนส่ง ส่วนกลุ่มที่ต้องหลีกเลี่ยง ได้แก่ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ที่จะได้รับผลกระทบจากราคาที่ผันผวน