เลย์วี (LayV) ไวรัสชนิดใหม่ พบในจีน 35 ราย มีอาการอย่างไร ต้นตอจากไหน

เลย์วี (LayV) ไวรัสชนิดใหม่ พบในจีน 35 ราย อาการเป็นอย่างไร ต้นตอมาจากไหน
ภาพจาก pixabay

รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ไวรัสชนิดใหม่ “เลย์วี” ตรวจพบในจีน 35 ราย อาการเป็นอย่างไร มีต้นตอมาจากไหน อะไรทำให้แพร่จากสัตว์สู่คน ? เช็กที่นี่ 

วันที่ 11 สิงหาคม 2565 สื่อต่างประเทศรายงานว่า ศูนย์ควบคุมโรคของไต้หวัน (CDC) ระบุว่า ไวรัสชนิดใหม่ที่ชื่อว่า “Langya henipavirus” หรือ “เลย์วี” (LayV) ที่ติดสามารถติดเชื้อจากสัตว์สู่คนได้ ในจีนพบผู้ติดเชื้อแล้ว 35 ราย ใน 2 มณฑลทางตะวันออกของจีน

หลายรายงานระบุตรงกันว่า นี่เป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบไวรัสชนิดนี้ในมนุษย์

ต่อไปนี้คือทุกเรื่องที่มีการรายงานเกี่ยวกับเลย์วี จนถึงขณะนี้

ไวรัสเลย์วีคืออะไร ?

เลย์วีเป็นโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน อยู่ในกลุ่มไวรัสนิปาห์ (Henipavirus)

ก่อนหน้านี้มีการระบุสายพันธุ์ไว้ 2 สายพันธุ์ สายพันธุ์แรกคือ ไวรัสเฮนดรา (Hendra virus ; HeV) อีกสายพันธุ์คือไวรัสนิปาห์ (Nipah Virus)

ทั้ง 2 สายพันธุ์ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงและบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิต

องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดประเภทกลุ่มไวรัสนิปาห์ให้เป็นภัยคุกคามความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 4 ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ระหว่าง 40-75%

แต่ล่าสุดยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากเลย์วี

อะไรทำให้ไวรัสเลย์วีแพร่จากสัตว์สู่คน ?

โรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คนหมายถึงโรคติดเชื้อที่สามารถส่งผ่านระหว่างสปีชีส์ รวมถึงจากสัตว์สู่คน หรือจากคนสู่สัตว์

ตัวอย่างไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน เช่น โควิด-19, ฝีดาษลิง และไวรัสเฮนดรา

ต้นกำเนิดของไวรัสเลย์วีคืออะไร ?

ผลจากการทดสอบสัตว์ป่ามากกว่า 20 ชนิด ชี้ให้เห็นว่า “หนูผี” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีคล้ายตัวตุ่นขนาดเล็ก อาจเป็นพาหะนำโรคตามธรรมชาติของไวรัสดังกล่าว

ผู้ป่วยกลุ่มที่พบล่าสุดมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ ตามรายงานในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสเลย์วีเป็นอย่างไร ?

อาการของผู้ติดเชื้อไวรัสเลย์วี ได้แก่ มีไข้ เหนื่อยล้า ไอ เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ และอาเจียน

มีการตรวจพบไวรัสเลย์วีนอกจีนหรือยัง ?

ล่าสุดยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสเลย์วีนอกจีน

รายงานเดียวกันนี้ระบุด้วยว่า ยังไม่พบการติดเชื้อจากคนสู่คน

นักวิจัยชี้ว่า การติดตามผู้ป่วย 9 รายที่มีสมาชิกในครอบครัวใกล้ชิด 15 คน ไม่พบการแพร่เชื้อเลย์วี

“แต่ขนาดกลุ่มตัวอย่างของเรามีขนาดเล็กเกินไปที่จะระบุสถานะการแพร่เชื้อจากคนสู่คนของไวรัสเลย์วี” นักวิจัยกล่าว