“จีน” ปล่อยกู้แข่ง IMF-สหรัฐ ลดลงทุน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

จีน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

การถือกำเนิดของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ belt and road initiative (BRI) ของจีน ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกเพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างจีนกับภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งเอเชียและยุโรปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทำให้จีนถูกจับตาว่านี่คือการพยายามสร้างอิทธิพลระดับโลก และเมื่อผ่านไประยะหนึ่งจีนก็เริ่มถูกกล่าวหาว่า “สร้างกับดักหนี้” ให้กับประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นต้องพึ่งพิงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจีน

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ปล่อยกู้จำนวนมากให้กับรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ผ่านโครงการ BRI และกลายเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาใหม่พบว่าตอนนี้จีนกลายเป็นรายใหญ่ในการปล่อยกู้ช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับประเทศต่าง ๆ ที่จีนเคยปล่อยกู้ให้ทำโครงการ BRI เพราะหลายประเทศกำลังมีความลำบากในการใช้หนี้

ซีเอ็นเอ็นระบุว่า จากผลการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยจากธนาคารโลก, ฮาร์วาร์ด เคนเนดี้ สคูล, สถาบันคีลเพื่อเศรษฐกิจโลก และ AidData ของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าระหว่างปี 2008-2021 จีนปล่อยกู้จำนวน 2.4 แสนล้านดอลลาร์ช่วยเหลือ 22 ประเทศ ซึ่งเกือบจะทั้งหมดเป็นลูกหนี้จีนในโครงการ BRI ในจำนวนนี้มีอาร์เจนตินา ปากีสถาน เคนยา และทูร์เคีย

ทั้งนี้ แม้จำนวนเงินที่จีนปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือฉุกเฉิน (bailout) แก่ประเทศต่าง ๆ จะเล็กกว่าวงเงินที่สหรัฐอเมริกา หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศปล่อยกู้ แต่จีนก็ได้กลายเป็นผู้เล่นสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก

ในปี 2010 การปล่อยกู้ของจีนเพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังมีปัญหาหนี้สินมีไม่ถึง 5% ของการปล่อยกู้ต่างประเทศทั้งหมด แต่พอถึงปี 2022 การปล่อยกู้ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 60% สะท้อนให้เห็นว่าจีนกำลังมุ่งปล่อยกู้ระหว่างประเทศ และถอยห่างออกจากการลงทุน BRI

หากดูจากช่วง 5 ปี คือระหว่างปี 2016-2021 จะเห็นว่าในจำนวนเงินปล่อยกู้ 2.4 แสนล้านดอลลาร์นั้น 1.7 แสนล้านดอลลาร์เป็นเงินที่มาจากเครือข่ายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (swap line) ของธนาคารกลางจีน (อันหมายถึงว่าธนาคารกลางจีนมีการทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนเงินตรากับธนาคารกลางของชาติอื่น ๆ) ส่วนอีก 7 หมื่นล้านดอลลาร์มาจากธนาคารและวิสาหกิจของรัฐ รวมทั้งบริษัทน้ำมันและก๊าซ

ประเทศส่วนใหญ่ที่กู้ยืมจีนผ่าน swap line ล้วนมีหนี้สินหนักหน่วง ซึ่งถูกกระตุ้นโดยโควิด-19 อย่างเช่นอาร์เจนตินาที่มีปัญหาผิดนัดชำระหนี้ หลังจากมีหนี้สินท่วมมาหลายสิบปี และปากีสถานที่ค่าเงินดิ่งเพราะทุนสำรองระหว่างประเทศเหือดแห้ง แต่การช่วยเหลือของจีนไม่ได้มีราคาถูก เพราะธนาคารกลางจีนเรียกดอกเบี้ยถึง 5% เมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยของไอเอ็มเอฟที่เรียกเก็บเพียง 2%

นอกจากนี้ การปล่อยกู้ช่วยเหลือส่วนใหญ่จะเสนอให้กับประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่จีนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความสำคัญต่อภาคธนาคารของจีน ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำได้รับเงินใหม่จากจีนเพียงเล็กน้อย และได้รับข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้แทน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนพยายามจะช่วยเหลือธนาคารของตัวเองเป็นสำคัญ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจีนจึงเข้ามาในธุรกิจปล่อยกู้เพื่อการช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ค่อนข้างมีความเสี่ยง

การผงาดขึ้นของจีนเพื่อเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางการเงินระดับโลก เป็นภาพที่คุ้นเคยกันดี เพราะสหรัฐอเมริกาก็ใช้ยุทธวิธีเดียวกันนี้มาเกือบหนึ่งศตวรรษ ในการเสนอเงินกู้ช่วยเหลือประเทศที่มีหนี้สูง เช่นกลุ่มประเทศละตินอเมริกาช่วงทศวรรษ 1980

อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการปล่อยกู้ของจีนทำอย่างลับ ๆ กว่ามาก มีการปกปิดการทำธุรกรรมส่วนใหญ่จากสายตาสาธารณชน ซึ่งสะท้อนว่าระบบการเงินโลกมีความเป็นสถาบันน้อยลง โปร่งใสน้อยลง

กลุ่มผู้วิจัยระบุว่า ธนาคารกลางของจีนไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการปล่อยกู้ หรือข้อตกลง swap line กับธนาคารกลางของชาติอื่น ๆ ส่วนธนาคารรัฐและวิสาหกิจจีนก็ไม่เปิดเผยรายละเอียดการปล่อยกู้ให้กับประเทศอื่น ๆ ทำให้ผู้วิจัยต้องอาศัยข้อมูลจากรายงานประจำปี และแถลงการณ์ทางการเงินของประเทศอื่น ๆ ที่ทำข้อตกลงกับธนาคารจีน รวมทั้งข้อมูลจากข่าวที่สื่อรายงาน และเอกสารอื่น ๆ แทน จึงกล่าวได้ว่าจีนได้สร้างระบบการปล่อยกู้เงินข้ามแดนแบบใหม่ที่มีความคลุมเครือและไม่ให้ความร่วมมือเรื่องข้อมูล