มะกันแบน “ZTE-หัวเว่ย” สะเทือนซัพพลายเทเลคอมโลก ?

เป็นข่าวสะเทือนวงการไอทีโลกอีกครั้ง เดอะ วอลล์สตรีต เจอร์นัล รายงานอ้างแหล่งข่าวนิรนามจากรัฐบาลสหรัฐว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ กำลังพิจารณาที่จะออกคำสั่งประธานาธิบดี จำกัดการเข้าถึงตลาดสหรัฐ ของ 2 แบรนด์อุปกรณ์สื่อสารจีนอย่าง “หัวเว่ย” (HUAWEI) และ “แซดทีอี” (ZTE) ซึ่งมียอดขายอันดับ 14 และ 4 ในสหรัฐตามลำดับ ด้วยความกังวลว่าทางการจีนอาจจะสอดแนมข้อมูลผู้บริโภคสหรัฐ ผ่านการเก็บข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ส่งออกมาจากจีนเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากเมื่อปลายเมษายน ที่เพนตากอนได้ประกาศยุติการขายและสั่งเก็บสินค้าของ2 แบรนด์จีน จากร้านค้าของฐานทัพสหรัฐทั่วโลก โดยให้เหตุผลคล้ายกัน

แต่นี่ไม่ใช่แอ็กชั่นแรกของรัฐบาลสหรัฐต่อ 2 แบรนด์จีน เพราะเมื่อเดือนมกราคม รัฐบาลมะกันก็ได้สั่งแบนไม่ให้เครือข่ายมือถือในสหรัฐ ขายสมาร์ทโฟน หัวเว่ยรุ่น Mate 10 Pro ด้วยเหตุผลชุดเดียวกัน

ทั้งกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐ โดยสำนักงานด้านอุตสาหกรรมและความปลอดภัย ที่ดูแลด้านการส่งออกสินค้าทางเทคโนโลยีและการทหาร ก็ได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัทสัญชาติอเมริกัน ขายผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนประกอบให้บริษัท ZTE เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

เนื่องจากปีที่แล้ว ZTE ได้ละเมิดมติการคว่ำบาตรประเทศเกาหลีเหนือ และอิหร่าน ด้วยการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสหรัฐ เข้าไปวางขายใน 2 ประเทศดังกล่าว แม้ว่าจะมีการประนีประนอมจ่ายค่าปรับไปแล้ว แต่ในภายหลังทางการสหรัฐตรวจสอบพบว่า ZTE ได้ให้ข้อมูลเท็จหลายครั้ง จึงมาสู่บทลงโทษถึงที่สุดด้วยการห้ามบริษัทมะกันค้าขายกับ ZTE เป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2025

บทลงโทษดังกล่าวส่งผลกระทบต่อบริษัทมะกันหลายราย รวมไปถึงQualcomm ที่จำหน่ายชิป “Snapdragon” อันมีชื่อเสียงให้กับ ZTE รวมทั้งระบบแอนดรอยด์ของกูเกิล ที่ใช้ในมือถือของ ZTE นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า 25-30% ของชิ้นส่วนไอทีที่ ZTE ใช้มาจากสหรัฐอเมริกา ขณะที่ซัพพลายชิปกว่า 70% ของโทรศัพท์มือถือก็มาจาก Qual-commถือว่าเป็นวิกฤตของ ZTE เพราะต้องดิ้นหาชิปตัวใหม่ในการผลิตมือถือ ที่จะต้องมีศักยภาพเทียบเท่าตัวเดิม ทั้งต้องหาระบบปฏิบัติการใหม่มารองรับ ซึ่งก็ไม่ง่าย เพราะปัจจุบันระบบปฏิบัติการบนมือถือที่ได้รับการยอมรับก็มีเพียงไอโอเอส และแอนดรอยด์เท่านั้น

แต่วิกฤตที่ใหญ่กว่านั้นคงเป็นเรื่องที่ว่า ตอนนี้ 2 ยักษ์ใหญ่ด้านเทเลคอมของจีน ถูกปิดประตูการค้าจากสหรัฐอเมริกาคนละบาน ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์มองสอดคล้องกันว่า น่าจะจุดเชื้อสงครามการค้า 2 ประเทศยิ่งขึ้น และจะทำให้การแข่งขันการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ระหว่างประเทศ ดุเดือดยิ่งขึ้นไปอีก

เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ต่อ ZTE ไม่ใช่แค่ผลกระทบระดับบริษัทเท่านั้น เป็นที่รู้กันดีว่า หัวเว่ย และแซดทีอี เป็นหัวหอกด้านการพัฒนาไอทีของจีน และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนอย่างเต็มพิกัด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้นำเทคโนโลยีโลก

“มาร์แชล เมเยอร์” ศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์จาก Wharton University ซึ่งเชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออก ได้พูดถึงประเด็นนี้ผ่านพ็อดแคสต์ของมหาวิทยาลัยเมื่อไม่กี่วันก่อนว่า วิกฤตที่เกิดขึ้น ถือเป็นวิกฤตที่ใหญ่มากสำหรับ ZTE แต่ก็เชื่อได้ว่า กรณีที่เกิดขึ้นของผู้ผลิตจีนทั้ง 2 ราย จะส่งผลต่อซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมสื่อสารระดับโลกด้วย และเป็นการบีบให้รัฐบาลจีนหันมาลงทุนพัฒนาชิปในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติ

รัฐบาลจีนคงต้องรีบแก้ไขปัญหา เพราะตอนนี้หัวเว่ยก็โดนทางวอชิงตันสอบสวนว่า มีการขายสินค้าให้เกาหลีเหนือและอิหร่านหรือไม่เช่นกัน

“มินหยวน เจา” รองศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จาก Wharton University เสริมว่า หากจีนหันมาลงทุนเซมิคอนดักเตอร์เอง ไม่พึ่งพาคนอื่น การแข่งขันแบบไม่มีใครยอมใครของสหรัฐและจีนจะเกิดขึ้น แต่ปัญหาคือจีนต้องใช้เวลานานทั้งการวิจัยและผลิต ทั้งประสิทธิภาพอาจไม่ดีเท่าผู้ผลิตรายเดิม และสิ่งที่น่ากลัวที่สุด คือ สถานการณ์ คล้ายนโยบายก้าวกระโดด (the great leap forward) ในยุคเหมาเจ๋อตุง จะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งผลสุดท้ายของนโยบายนี้ คือการถอยหลังกลับของจีน เพราะมันไม่ประสบความสำเร็จใด ๆ

ขณะเดียวกัน เธอมองว่าไม่น่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องที่สหรัฐจะแบนผลิตภัณฑ์จากจีน เพราะเห็นการพัฒนา 5G ของจีนเป็นภัยคุกคามต่อประเทศ อันที่จริงแล้ว สหรัฐต้องหาวิธีการบาลานซ์ระหว่างการเป็นส่วนหนึ่งของตลาดการค้าโลก พร้อม ๆ กับการสร้างความมั่นคงชาติ มิใช่เพียงใส่ใจแค่ความมั่นคงชาติด้านเดียวเท่านั้น

ผลสำรวจจาก CTIA กลุ่มอุตสาหกรรมไวร์เลสแห่งสหรัฐระบุว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้นำด้านการพัฒนา 5G ของโลก ตามมาด้วยเกาหลีใต้ และอเมริกา แต่การแข่งขันก็ยังสูสี ขณะที่ทุกประเทศต้องการเป็นผู้นำ 5G เพราะมองว่าคือประตูสู่อนาคต

ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมา มหาเศรษฐี “แจ็ก หม่า” เจ้าของอาณาจักรอาลีบาบาแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ ขึ้นพูดบนเวทีมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ให้นักศึกษาฟัง โดยประเด็นสำคัญที่หยิบยกขึ้นมา คือเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกหันมาพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง และเลิกพึ่งพา “เทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา” ทั้งยังอยากให้มีการพัฒนาชิปแบบบูรณาการเทคโนโลยี โดยไม่คำนึงถึงการแข่งขันระหว่างกัน เพื่อปกป้องโลกจากการกีดกันทางการค้า และเพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงของโลก