“ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ สงครามการค้าก็จะดำเนินต่อไป” คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ สำนักวิจัย องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วโลกเห็นตรงกัน
นโยบายของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนขั้นต่ำ 60% และประเทศอื่น ๆ 10% ถึง 20% จะสุมไฟเพิ่มเติมจากกำแพงภาษีตามคำสั่งของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตามมาตรา 301 ของกฎหมายการค้า (Trade Act of 1974) เมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งทยอยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา
โลกจับตาผลกระทบเทรดวอร์
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บอกคาดการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยไม่ได้เจาะจงผลกระทบจากแผนภาษีนำเข้าของทรัมป์ หรือแผนใด ๆ ของคามาลา แฮร์ริส ว่า หากเศรษฐกิจโลกมีการแยกส่วนห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) อย่างจริงจัง และมีการใช้ภาษีนำเข้าสินค้าในวงกว้าง อาจทำให้จีดีพีโลกสูญเสียไปเกือบ 7% ซึ่งเทียบเท่ากับเศรษฐกิจของฝรั่งเศสและเยอรมนีหายไปจากการคำนวณจีดีพีโลก
บริษัทวิจัย บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) บอกผลของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์กรณีสหรัฐขึ้นภาษีตามนโยบายของทรัมป์ว่า สัดส่วนการค้าของสหรัฐในการค้าสินค้าทั่วโลกจะลดลงเหลือ 9% ในปี 2028 จากสัดส่วน 21% ในปัจจุบัน สำหรับจีน การส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐจะหายไปเกือบ 90% สำหรับเม็กซิโกและแคนาดา การส่งออกไปยังสหรัฐจะลดลงมากกว่า 50%
ขณะที่ สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (PIIE) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชื่อดังในสหรัฐวิเคราะห์ว่า ผลกระทบในระดับนานาชาติจากนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์นั้น มากจน “ประเมินค่าไม่ได้”
โพลิซีเซ็นเตอร์ฟอร์เดอะนิวเซาท์ (PCNS) กลุ่มงานวิจัยของโมร็อกโกออกรายงานวิเคราะห์ว่า ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนเส้นทางการค้าและการย้ายห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่อีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติและประเทศที่ด้อยพัฒนาที่สุด จะต้องเผชิญกับภาวะที่อัตราส่วนการค้าต่อจีดีพีลดลง อันเป็นผลจากสงครามการค้า
เบอร์นาร์ด ยาริส (Bernard Yaris) นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทวิจัยออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์ (Oxford Economics) วิเคราะห์ว่า การขึ้นภาษีของทรัมป์จะทำให้การค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง 70% จากระดับปัจจุบันที่ลดลงอยู่แล้วจากผลของภาษีนำเข้าที่ทรัมป์ประกาศในปี 2018-2019
ยาริสวิเคราะห์อีกว่า การขึ้นภาษีศุลกากรนี้จะไม่ทำให้การขาดดุลการค้าโดยรวมของสหรัฐลดลง แต่จะกระตุ้นให้เกิดการจัดระเบียบกระแสการค้าครั้งใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนสินค้าสูงในระยะสั้น
ขุนคลังชี้ไทยต้องเร่งปรับตัว
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นโดนัลด์ ทรัมป์ หรือคามาลา แฮร์ริส ก็ล้วนจะส่งผลกระทบต่อโลกและไทย เพราะนโยบายของทั้งคู่จะยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศตัวเองมากขึ้น
“ที่ผ่านมา สหรัฐมีบทบาทแบบ One Man Show แต่ปัจจุบันมีขั้วอื่น ๆ เพิ่มมา ดังนั้นหลังจากนี้ สหรัฐจะต้องมีการปรับแนวนโยบายในการบริหารประเทศ ทำให้มองว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งก็มีปัญหาทั้งหมด แต่ความหนักและความแรงอาจจะไม่เท่ากัน”
ขุนคลังกล่าวอีกว่า ท่ามกลางความรุนแรงของปัญหาสงครามการค้าที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้งนั้น ประเทศไทยจะต้องพิจารณาภาพรวมและปรับตัวให้ดี หากปรับตัวได้ดีก็อาจจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย
ที่ผ่านมาถือว่าไทยทำได้ค่อนข้างดี สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มสูงสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยจะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ต้องพัฒนาและสนับสนุนให้เป็นการผลิตโดยคนท้องถิ่น (Local Content) 2.โครงสร้างความเป็นเจ้าของการผลิตจะต้องเป็นของคนไทยด้วย ไม่ใช่แค่การนำเข้ามาประกอบในประเทศไทยเท่านั้น
KKP มอง 5 เอฟเฟ็กต์ภาษีทรัมป์
เคเคพี รีเสิร์ช (KKP Research) สำนักวิจัยโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรวิเคราะห์ว่า นโยบายภาษีนำเข้าของทรัมป์อาจเร่งให้การค้าโลกหดตัวเร็วกว่าที่คาด และจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในด้านการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
เคเคพี รีเสิร์ช ประเมินผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ 5 ด้านสำคัญ ดังนี้
1.ผลกระทบทางตรงจากภาษีนำเข้า ที่จะทำให้มูลค่าการส่งออกไทยเผชิญกับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
2.การเบี่ยงเบนทางการค้าผ่านตลาดอาเซียน (Trade Diversion) ผู้ประกอบการในสหรัฐอาจหันมานำเข้าสินค้าจากตลาดอื่นในสัดส่วนที่มากขึ้น เช่น อาเซียน ที่มีอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำกว่า
3.การโยกย้ายการลงทุนจากต่างประเทศ (Relocation) เข้ามาไทย
4.ปัญหาสินค้าจีนทะลักเข้ามารุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอุปทานส่วนเกินในจีนไม่สามารถระบายไปยังตลาดสหรัฐได้ง่ายนัก ทำให้สินค้าต่าง ๆ จะถูกนำมาขายในตลาดอื่น ๆ โดยเฉพาะในอาเซียน รวมทั้งไทยมากขึ้นไปอีก
5.ค่าเงินในภูมิภาคเสี่ยงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
จับตาย้ายฐานการผลิต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า ในขณะที่พรรคเดโมแครตมีแนวทางการกีดกันทางการค้ากับจีน โดยขึ้นภาษีสินค้าจีนแบบเจาะจงในกลุ่มสินค้ายุทธศาสตร์ พรรครีพับลิกันจะสานต่อสงครามการค้ารอบใหม่ โดยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนแบบครอบคลุม นอกจากนี้ หากประเทศใดถอยออกจากการใช้เงินสกุลดอลลาร์ จะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเพิ่มอีก 100%
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า หากเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ สินค้าในกลุ่ม 3 ซึ่งยังไม่เคยโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากสงครามการค้ารอบแรกจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และมีแนวโน้มจะเกิดการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนอีกระลอก ซึ่งหากมีการย้ายฐานการผลิต ไทยน่าจะได้อานิสงส์บางส่วนจากอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนเดิมอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่ม 3 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ที่ต้องพึ่งพาจุดแข็งในด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำของจีน ซึ่งเวียดนามและเม็กซิโกน่าจะได้รับประโยชน์มากสุด โดยเวียดนามจะได้อานิสงส์ในสินค้ามีมูลค่าเพิ่มอย่างโน้ตบุ๊ก แท็บเลต สมาร์ทโฟน หูฟัง ของเล่นและเฟอร์นิเจอร์ ส่วนเม็กซิโกจะได้ประโยชน์ในกลุ่มรถกระบะ รถบรรทุกและชิ้นส่วน และเฟอร์นิเจอร์
ลุ้นไทยได้ประโยชน์เทรดวอร์
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยและโลก ทั้งทรัมป์และแฮร์ริสมีแนวนโยบายต่อการค้าระหว่างประเทศที่ใกล้เคียงกัน คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนจะยังคงดำเนินต่อไป และอาจทวีความรุนแรงขึ้น โดยจะเกิดการแข่งขันทั้งในด้านเศรษฐกิจ การทหาร และเทคโนโลยี
ผอ.สนค.ประเมินว่า “ไทยอาจจะได้รับประโยชน์” จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งในด้านการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเซมิคอนดักเตอร์ และการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐทดแทนสินค้าจีน ในขณะที่หากสินค้าจีนถูกจำกัดการส่งออกไปสหรัฐ
ขณะเดียวกัน ไทยควรเตรียมมาตรการรับมือกับการหลั่งไหลของสินค้าจากจีน รวมถึงพิจารณากลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนจากการย้ายฐานผลิตของสหรัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในภูมิภาค ต้องเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนในท่าทีของสหรัฐและผลกระทบต่อโอกาสทางการค้าในอนาคต และภาคธุรกิจควรกระจายความเสี่ยง โดยขยายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากสหรัฐ