ผลวิจัยชี้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กระทบผู้อพยพกว่าร้อยล้านคน

(REUTERS/Lucas Jackson)

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะทำให้น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลายลงอย่างรวดเร็ว ล่าสุดสำนักข่าวบีบีซีอ้างถึง ข้อมูลจากวารสารรวมเอกสารการวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (PNAS) ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา

รายงานดังกล่าวรวบรวมงานวิจัยของนักวิชาการที่ชี้ว่า ระดับน้ำทะเลจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงขึ้นราว 1 เมตรในปี 2100 นั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิมถึงสองเท่าหรือเป็น 2 เมตร โดยสาเหตุหลักมาจากน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้น

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างยาวนาน ตามการรายงานของ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ครั้งที่ 5 ในปี 2013 ชี้ว่า โลกร้อนที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้จะส่งผลระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นระหว่าง 52 – 98 ซม. ในปี 2100

แต่ผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบันเริ่มมองว่า การคาดการณ์ดังกล่าวอาจน้อยเกิน เนื่องจากแบบจำลองการละลายของแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลเดิม ไม่ได้รวมการวิเคราะห์ความไม่แน่นอนของการละลายของน้ำแข็งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบันไว้ด้วย

งานวิจัยใหม่ได้สำรวจกรณีศึกษาการละลายของน้ำแข็งในกรีนแลนด์ตะวันตกและแอนตาร์กติกาตะวันออก โดยทีมนักวิจัยวิเคราะห์ว่า หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังดำเนินต่อไปแบบในปัจจุบัน จะทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นราว 5 องศาเซลเซียสในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นระหว่าง 62 – 238 ซม. ในปี 2100

“โจนาธาน แบมเบอร์” ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบริสตอลและหัวหน้าผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า “ในปี 2100 การละลายของแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นระหว่าง 7-178 ซม. แต่ถ้ารวมธารน้ำแข็งอื่น ๆ นอกเหนือไปจากแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกและอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น อาจทำให้ระดับของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นกว่า 2 เมตร”

ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะทำให้โลกสูญเสียผืนดินไปราว 1.79 ล้านตารางกิโลเมตรหรือเท่ากับประเทศลิเบียทั้งประเทศ โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเช่น พื้นที่เพาะลุ่มน้ำเพาะปลูกอาหารสำคัญอย่างสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ พื้นที่ในบังกลาเทศ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่บางส่วนของเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็จะได้รับผลกระทบด้วย ไม่ว่าจะเป็น ลอนดอน นิวยอร์ก และเซี่ยงไฮ้

ศาสตราจารย์แบมเบอร์ชี้ว่า การเพิ่มของระดับน้ำทะเล 2 เมตรดังกล่าวจะทำให้เกิดการอพยพของผู้คนเพื่อหาพื้นที่อาศัยใหม่ราว 200 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนของผู้อพยพกรณีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่เข้าไปในยุโรปถึง 200 เท่า


อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์แบมเบอร์ระบุว่า ยังมีเวลาพอที่จะบรรเทาความเลวร้ายดังกล่าวด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงหลาย 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้ราว 5%