เปิดดัชนี ‘แหล่งฟอกเงิน’ ‘สหรัฐ-อังกฤษ’ อันดับพุ่ง

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

การเปิดเสรีทางการเงินส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายได้อย่างค่อนข้างเสรีทั่วโลก หลายประเทศจึงออกกฎหมายและกลไกต่าง ๆ เพื่อช่วยปกปิดข้อมูลของนักลงทุนหรือชาวต่างชาติที่นำเงินเข้ามาในประเทศเพื่อหวังดึงดูดเม็ดเงินทุนจำนวนมหาศาลเหล่านี้

อัลจาซีร่า รายงานอ้างอิงดัชนีชี้วัด “ความลับทางการเงิน” ที่จัดทำโดย “The Tax Justice Network” (ทีเจเอ็น) ซึ่งบ่งชี้ถึงความน่าดึงดูดเงินเพื่อหลบเลี่ยงภาษี รวมถึงเงินผิดกฎหมายของแต่ละประเทศ โดยประเมินจากความเข้มข้นของระบบการเงินและกฎหมายต่าง ๆ ที่ช่วยปกปิดข้อมูลของลูกค้าเพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษีและฟอกเงิน

ทั้งนี้ จากการสำรวจในปี 2019 พบว่า อันดับ 1 ของดินแดนที่เป็นสวรรค์ของผู้ที่ต้องการหลบเลี่ยงภาษีหรือฟอกเงิน คือ “หมู่เกาะเคย์แมน” มีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 24% ส่งผลให้หมู่เกาะแห่งนี้ไต่จากอันดับ 2 ในปี 2018 ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เป็นครั้งแรก ขณะที่ “สวิตเซอร์แลนด์” แชมป์เก่าตกไปอยู่อันดับ 3

ขณะที่ค่าดัชนีดังกล่าวของ “สหรัฐอเมริกา” เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2018 ซึ่งรายงานระบุว่า สาเหตุมาจากที่สหรัฐออกกฎหมายอนุญาตให้จัดตั้ง “มูลนิธิ” ในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูล ส่งผลให้ “สหรัฐ” กลายเป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการฟอกเงินอันดับ 2 ของโลกแซงหน้า “สวิตเซอร์แลนด์”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางสหรัฐมีสัดส่วนการบริการทางการเงินข้ามประเทศถึง 21.4% ของทั้งโลก จึงนับว่าสหรัฐเป็นแหล่งเลี่ยงภาษีและฟอกเงินแห่งสำคัญของโลก

ขณะที่ “สหราชอาณาจักร” เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ไต่อันดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วเช่นกันจากอันดับ 23 มาเป็นอันดับ 12 โดยค่าดัชนีเพิ่มขึ้น 26% นอกจากนี้ ด้วยสัดส่วนบริการทางการเงินข้ามประเทศสูงถึง 15.59% ของทั้งโลก จึงทำให้สหราชอาณาจักรกลายเป็นอีกประเทศที่น่ากังวลว่าจะเป็นแหล่งรวมของเงินผิดกฎหมายที่สำคัญของโลก

“จอห์น คริสเตนเซ่น” ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการทีเจเอ็น แสดงความกังวลว่า สหราชอาณาจักรจะกลายเป็นศูนย์กลางของเงินหลบเลี่ยงภาษีและการฟอกเงินของโลก โดยเฉพาะภายหลังการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม รายงานของทีเจเอ็นพบว่า ดัชนีความลับทางการเงินในภาพรวมของทั้งโลกลดลง 7% จากเมื่อปี 2018 บ่งชี้ว่าประเทศทั่วโลกเริ่มหันมาใส่ใจกับปัญหาการหนีภาษีและการฟอกเงินระหว่างประเทศด้วยการสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลลูกค้าต่างชาติของสถาบันการเงินระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวิตเซอร์แลนด์ที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหลายประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ดัชนีความลับทางการเงินของประเทศลดลงถึง 12%

จากการสำรวจทั้งหมด 133 ประเทศพบว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากการเป็นแหล่งฝากเงินสกปรกเหล่านี้ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นผู้ที่สูญเสียเงินได้จากการเก็บภาษี รวมถึงผลกระทบจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาซึ่งรายงานประเมินว่า ตั้งแต่ปี 1970 ประเทศในทวีปแอฟริกาเผชิญกับการไหลออกนอกประเทศของเงินจากกิจกรรมผิดกฎหมายมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นเงินหลีกหนีภาษีและเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายของกลุ่มชนชั้นนำที่เป็นคนส่วนน้อยของประเทศ ซึ่งนำไปฝากไว้กับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่ช่วยปกปิดข้อมูลของลูกค้าเหล่านี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนเงินหลบเลี่ยงภาษีที่ฝากไว้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 21-32 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ละปีจะมีการเคลื่อนย้ายเงินแบบผิดกฎหมายราว 1-1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนับตั้งแต่ช่วงเริ่มการเปิดเสรีทางการเงินทั่วโลกเมื่อปี 1980 หลายประเทศชั้นนำของโลกมีการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อปกปิดความลับลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อดึงดูดเงินทุนและค่าบริการจำนวนมหาศาล

อย่างไรก็ตาม กลไกที่ช่วยปกปิดความลับให้กับลูกค้ากลับเป็นการดึงดูดเม็ดเงินที่ผิดกฎหมายและยังเป็นการสนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายทางอ้อม