‘โควิด’ หวนคืนถล่มจีน ผวาทุบเศรษฐกิจโลกเดี้ยง

ชีพจรเศรษฐกิจโลก

นงนุช สิงหเดชะ

 

การมีวัคซีนและหลายประเทศเร่งมือฉีดวัคซีนให้ประชาชน สร้างความหวังว่าอีกไม่นานจะสยบไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเป็นอัมพาตมา 1 ปีเศษได้เสียที แต่ดูท่าว่าความหวังนั้นจะไกลออกไปอีกเมื่อไวรัสกลายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ จนวัคซีนที่ผลิตออกมาใช้กันอยู่ด้อยประสิทธิภาพเกินกว่าจะสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้าที่ถูกระบุว่าร้ายกาจกว่าเดิมเพราะแพร่เชื้อได้มากและรวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมหลายเท่า

“สายพันธุ์เดลต้า” คือต้นเหตุที่ทำให้หลายประเทศที่เคยกำราบการระบาดรอบแรกได้ค่อนข้างดี กลับมาติดเชื้อพุ่งสูงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งหลายคนลุ้นว่าจีนซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดไวรัสและคุมการระบาดระลอกแรกได้เร็ว กระทั่งสามารถออกจากวิกฤตได้เป็นชาติแรกตั้งแต่กลางปีที่แล้ว อีกทั้งเศรษฐกิจพลิกฟื้นกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นที่สุด จะรอดจากอิทธิฤทธิ์ของสายพันธุ์เดลต้าได้หรือไม่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้คำตอบว่าดูเหมือนจีนจะไม่รอดพ้นจากพิษภัยของเดลต้า เพราะเริ่มพบผู้ติดเชื้อรอบใหม่กระจายไปหลายเมือง รวมถึง “อู่ฮั่น” ซึ่งเป็นเมืองต้นกำเนิดไวรัสกลับมาพบผู้ติดเชื้ออีกเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปีเมื่อต้นเดือนสิงหาคม สิ้นสุดสถิติไม่มีผู้ติดเชื้อติดต่อกันยาวนาน กระทั่งทางการสั่งระดมตรวจหาเชื้อให้กับชาวอู่ฮั่นกว่า 11 ล้านคน เสร็จภายใน 5 วัน

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมยอดผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันของจีนอยู่ที่ 143 คน สูงที่สุดนับจากเดือนมกราคมปีนี้ โดยสื่อจีนระบุว่าสาเหตุเกิดจากไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้ทางการจีนต้องกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดมากในเมืองใหญ่ ๆ รวมถึงปักกิ่ง

การกลับมาพบผู้ติดเชื้อในจีน และรัฐบาลจีนออกมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวของประชาชนและกิจกรรมต่าง ๆ สร้างความกังวลให้กับบรรดานักเศรษฐศาสตร์ เพราะเกรงว่าจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวม ทีมนักเศรษฐศาสตร์ธนาคาร ANZ แห่งออสเตรเลียระบุว่า หากการล็อกดาวน์และเร่งฉีดวัคซีนไม่สามารถควบคุมการติดเชื้อ และจีนไม่สามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้ภายในกลางเดือนสิงหาคมหรือต้นกันยายน เราอาจจำเป็นต้องทบทวนคาดการณ์จีดีพีของจีนจากเดิมที่ประเมินว่าจะเติบโต 8.8% ในปีนี้

“เดวิด โรช” ประธานของอินดีเพนเดนต์ สแตรทิจีชี้ว่า หากจีนล็อกดาวน์ในวงกว้างอาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งนั่นหมายถึงจะส่งผลเสียต่อการค้าระหว่างประเทศ ต้นทุนสินค้าบางอย่างจะแพงขึ้น ความคาดหวังด้านเงินเฟ้อทั่วโลกจะสูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 ปีนี้จะขยายตัวน้อยลงเหลือเพียง 2-3% ต่ำกว่าไตรมาส 2 ที่เติบโต 7.9%

ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่เผชิญกับการติดเชื้อพุ่งพรวดรอบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การล็อกดาวน์ หรือจำกัดการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าจะกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ

โดยนักเศรษฐศาสตร์ของแบงก์ออฟอเมริกาออกรายงานระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์เมื่อเร็ว ๆ นี้ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มส่งผลกระทบต่อการผลิตของโรงงานต่าง ๆ เห็นได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในประเทศดังกล่าวข้างต้นลดลง ซึ่งภาคการผลิตของภูมิภาคนี้มักจะเป็นสินค้าโลว์เทคและใช้แรงงานเข้มข้น ทำให้ไวต่อการรับผลกระทบที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า จากข้อมูลของ IHS Markit แสดงให้เห็นว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ในเดือนกรกฎาคมยังคงต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าผลผลิตของโรงงานหดตัว


การกลับมาติดเชื้อในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งจีนยังทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงฮวบฮาบ เนื่องจากเกรงว่าความต้องการน้ำมันจะน้อยลงโดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นผู้บริโภครายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยตลอดเดือนกรกฎาคมจีนนำเข้าน้ำมันเพียงวันละ 9.7 ล้านบาร์เรล เป็นการนำเข้าต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 แล้ว