วิกฤตพลังงานโลก ยังไม่เห็นทางออกอันใกล้

พลังงาน
ชีพจรเศรษฐกิจโลก
นงนุช สิงหเดชะ

หนึ่งในประเด็นร้อนระดับโลกที่กำลังถูกกล่าวถึงมากที่สุดในขณะนี้ก็คือ “ราคาพลังงาน” ถีบตัวสูงขึ้นมาก ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พร้อมกับที่เริ่มได้ยินนักวิเคราะห์ทำนายว่าราคาน้ำมันดิบอาจดีดตัวไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นตัวเลขคุ้น ๆ ที่กลับมาให้ได้ยินอีกครั้งหนึ่ง

วิกฤตพลังงานโลกในขณะนี้มีสาเหตุทั้งจากสภาพอากาศ และความต้องการที่พุ่งขึ้นฉับพลัน ภายหลังจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากโควิด-19 และหากเข้าสู่หน้าหนาวสถานการณ์จะยิ่งเลวร้าย และเรื่องยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก เมื่อเกิดแรงกดดันให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดที่บรรดาผู้นำโลกเตรียมประชุมสุดยอดเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศในเดือนพฤศจิกายนนี้

โดย “คาดริ ซิมสัน” หัวหน้าด้านพลังงานของสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูง เป็นวิกฤตที่ไม่คาดหมาย ซึ่งดันมาเกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง ซึ่งทางอียูจะจัดทำโครงร่างแผนตอบสนองปัญหาระยะยาวในสัปดาห์หน้า

ในยุโรป ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นมากกว่า 130% ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วมากกว่า 8 เท่า ส่วนในเอเชีย ราคาก๊าซธรรมชาติขยับขึ้น 85% ตั้งแต่เดือนกันยายนเช่นกัน

“นิกอส ซาฟอส” ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์ ศูนย์ศึกษาระหว่างประเทศและกลยุทธ์ในวอชิงตัน ระบุว่า มีหลายปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง ความวิตกกังวลเป็นเหตุให้ตลาดแยกพื้นฐานของดีมานด์และซัพพลายออกจากกัน

ความบ้าคลั่งที่จะได้ก๊าซธรรมชาติมาไว้ในมือยังเป็นเหตุให้ราคาถ่านหินและน้ำมันซึ่งสามารถใช้ทดแทนกันได้ในบางเรื่องทะยานขึ้นไปด้วย สภาพเช่นนี้ยิ่งเลวร้ายต่อสภาพภูมิอากาศ สภาวการณ์ดังกล่าวทำให้บรรดาธนาคารกลางและนักลงทุนกังวล เพราะจะซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อ

วิกฤตพลังงานดูเหมือนจะไม่มีทางออกที่ง่าย อากาศที่หนาวยาวนานกว่าปกติเมื่อต้นปีนี้ ทำให้สต๊อกก๊าซธรรมชาติในยุโรปหมดไป และประจวบเข้ากับความต้องการที่พุ่งสูง ทำให้การจะจัดหาก๊าซมาสต๊อกไว้อีกครั้งมีอุปสรรค ซึ่งปกติกระบวนการสต๊อกจะเริ่มดำเนินการในช่วงฤดูใบไม้ผลิ (มีนาคมถึงพฤษภาคม) และฤดูร้อน (มิถุนายนถึงสิงหาคม) นักวิเคราะห์พลังงานของโซซิเอเต เจเนอราล ชี้ว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงในยุโรปเป็นสิ่งเฉพาะอย่างแท้จริง เราไม่เคยเห็นราคาพุ่งขึ้นถึงระดับนี้อย่างรวดเร็วมาก่อน

สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างผลสะเทือนไปทั่วโลก ราคาก๊าซธรรมชาติที่สูงหมายถึงราคาน้ำมันสูง เพราะพลังงาน 2 ชนิดมีความสัมพันธ์กัน โดยราคาน้ำมันในสหรัฐสัปดาห์ที่แล้วมีราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี ซึ่ง “แบงก์ออฟอเมริกา” ทำนายว่า อากาศหนาวอาจผลักดันราคาน้ำมันดิบเบรนต์ ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงโลกขยับขึ้นเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเบรนต์ไม่เคยมีราคาสูงขนาดนี้มาก่อนนับแต่ปี 2014

บรรดาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า “วิกฤตพลังงานครั้งนี้ ยังมองไม่เห็นหนทางว่าจะบรรเทาลงโดยเร็ว” เนื่องจากมติของกลุ่มโอเปกเมื่อเร็ว ๆ นี้ยืนยันว่าจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ดังนั้นก็หมายถึงว่าไม่มีซาอุดีอาระเบียมาช่วยเหลือเรื่องก๊าซธรรมชาติ เพราะซาอุฯคือผู้ผลิตเพียงรายเดียวที่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติได้รวดเร็ว

นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากหน้าหนาวนี้อุณหภูมิอยู่ในค่าเฉลี่ยไม่หนาวมากเกินไป จะช่วยผ่อนแรงกดดันช่วงไตรมาส 2 ของปีหน้าได้ แต่ถ้าอากาศหนาวรุนแรงจะสร้างแรงกดดันมหาศาล โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติสูงมากในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่นอังกฤษและอิตาลี โดยเฉพาะอังกฤษนั้นอยู่ในจุดลำบากเป็นพิเศษ เพราะขาดแคลนศักยภาพในการสต๊อกก๊าซธรรมชาติ

“เฮนนิ่ง กลอยสไตน์” ผู้อำนวยการทีมพลังงาน ภูมิอากาศและทรัพยากรของยูเรเซีย กรุ๊ป ชี้ว่า อังกฤษมีความเสี่ยงสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของยุโรปที่จะขาดแคลนพลังงานช่วงหน้าหนาว หากเกิดการขาดแคลนมีแนวโน้มที่รัฐบาลจะเรียกร้องให้บรรดาโรงงานต่าง ๆ ลดการผลิต และลดใช้ก๊าซเพื่อรับประกันว่าบรรดาครัวเรือนจะมีพลังงานใช้

การพุ่งขึ้นของราคาพลังงานที่ยังไม่มีท่าทีจะผ่อนคลายลง กระพือความกลัวเงินเฟ้อที่มีอยู่แต่เดิม เพราะค่าไฟฟ้าและพลังงานที่สูงอาจทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายด้านเสื้อผ้าหรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การกินอาหารนอกบ้าน ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 อีกทั้งหากบรรดาธุรกิจและโรงงานต่าง ๆ ถูกขอร้องให้ลดกิจกรรมลงเพื่อสงวนพลังงาน ก็จะทำร้ายเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นจึงเกิดความกังวลว่าจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปหลังโควิด-19 มีความเสี่ยง