ความหวังสุดท้าย แก้ปัญหา ”Climate Change”

ช่วงปลายเดือนตุลาคม จนถึงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ บรรดาผู้นำโลกมากกว่า 120 ประเทศ ตลอดจนผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูง มากถึง 25,000 คน จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 (26th United Nations Climate Change Conference) หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์

“จอห์น แคร์รี” ทูตพิเศษด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศ สหรัฐอเมริกา ระบุว่า การประชุมดังกล่าว ถือเป็นความหวังสุดท้ายสำหรับโลก ในการร่วมมือกัน เพื่อให้สถานการณ์ทางภูมิอากาศกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

โดยแคร์รีระบุว่า เหล่าประเทศที่สำคัญตอนนี้ กำลังดำเนินการออกมาตรการนโยบายต่าง ๆ ซึ่งมีความอันตรายอย่างมาก

“หากไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพียงพอ ในอีก 9 ปีข้างหน้า เป้าหมายในระยะยาว เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกินไป แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” แคร์รีกล่าว

บีบีซีรายงานว่า การประชุมดังกล่าว หรือที่เรียกว่า “การประชุมหลายฝ่าย” (COP) เป็นการประชุมประจำปี ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ที่มีการลงนามตั้งแต่ปี 1992

โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีเป้าหมายหลักในการผลักดันให้ลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหลีกเลี่ยงอันตรายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้การประชุมดังกล่าว ถือเป็นความเคลื่อนไหวและความร่วมมือด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่สุด นับตั้งแต่การลงนามความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015

โดยมีเป้าหมายสำคัญ ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม

รวมถึงเป้าหมายใหญ่ที่ไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกัน หากต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทางนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า จะต้องลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกให้ได้ 45% ภายในปี 2030 และลดการแพร่กระจายลงจนเหลือ 0 ภายในปี 2050

ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทั่วโลกจะกำหนดแผนตัดลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2030 ตามที่สัญญาไว้ในความตกลงปารีส

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุมครั้งนี้ จะมีการออกแนวนโยบายมาตรการ ซึ่งส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะเป็นมาตรการที่สอดคล้องกับเป้าหมายของความตกลงปารีส เช่น เร่งดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) ให้เร็วขึ้น และเร่งยกเลิกการใช้พลังงานถ่านหิน

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าจะมีการออกแนวทาง ลดการตัดต้นไม้ให้น้อยลง รวมถึงการคุ้มครองประชาชนจากผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น การสนับสนุนงบประมาณสำหรับระบบป้องกันชายฝั่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการออกแนวทางนโยบายมาตรการต่าง ๆ ซึ่งมุ่งให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แต่ยักษ์ผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินทั่วโลก ยังไม่มีแผนสำหรับการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์มองว่า หากบริษัทเหล่านี้ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก ช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสหประชาชาติรายงานว่า แทนที่หลายประเทศซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง จะลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่มุ่งใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่พบว่าขณะนี้หลายประเทศวางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งหมายความว่า จะใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของโลกพุ่งเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้อย่างแน่นอน

โดยถึงแม้การผลิตถ่านหินจะลดลง แต่การผลิตก๊าซจะเพิ่มขึ้นในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเกินกว่าระดับที่ ความตกลงปารีสจะ “ยอมรับได้”

ขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าว ซึ่งเก็บข้อมูลจากประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก อย่างออสเตรเลีย รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร (ยูเค)

โดยรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ แม้จะได้สัญญาว่าจะออกมาตรการมุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน อย่างไรก็ตาม ยังคงออกนโยบายที่มุ่งสนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป


อย่างไรก็ดี ถึงแม้เป้าหมายความตกลงปารีสแทบจะเป็นไปไม่ได้ในตอนนี้ แต่สิ่งที่อาจเป็นสัญญาณที่ดีในตอนนี้คือ สถาบันการเงินทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ร่ำรวย ได้ลดการสนับสนุนทางการเงินลงอย่างมาก กับผู้ผลิตน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ