
ประชากรครึ่งหนึ่งในยุโรปจ่อติดโอมิครอน ขณะที่เศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยง
วันที่ 12 มกราคม 2565 แชนแนลนิวส์เอเชียรายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งในยุโรปมีแนวโน้มติดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ภายในเดือนมีนาคม ขณะที่ธนาคารโลกเตือนว่าสายพันธุ์ที่มีการติดต่อได้ง่ายอาจขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ผู้คนนับล้านในจีนอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง หลังจาก 2 ปีก่อนหน้านี้ ทางการจีนรายงานการเสียชีวิตรายแรก ซึ่งมีการยืนยันในภายหลังว่าเป็นการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา
สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่เชื้อได้ในระดับสูงได้แพร่ระบาดไปทั่วในหลายประเทศ ทำให้รัฐบาลต่าง ๆ ต้องบังคับใช้มาตรการใหม่ ๆ และเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็ม 3
แต่ WHO เตือนเมื่อวันอังคารว่า การใช้วัคซีนกระตุ้นชนิดเดียวกับวัคซีนเดิมนั้น ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ใช้ได้ผลกับการต่อสู้โควิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ทั้งยังเรียกร้องให้มีวัคซีนชนิดใหม่ ที่สามารถป้องกันการแพร่เชื้อได้ดีกว่า
คณะที่ปรึกษาด้านวัคซีนของ WHO กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนโดยใช้วัคซีนเข็ม 3 เป็นชนิดเดียวกับวัคซีนชนิดเดิม ไม่น่าจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมหรือยั่งยืน
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อเกือบ 8 ล้านคนในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ขณะนี้ยุโรปกำลังเผชิญสถานการณ์จำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก ตามรายงานของเอเอฟพี
ยูโรปกำลังเป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่ และ WHO เตือนว่า โอมิครอนอาจแพร่เชื้อสู่ประชากรครึ่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ หากพิจารณาจากอัตราการระบาดในปัจจุบัน
คลื่นยักษ์ถล่มยุโรป
“ฮานส์ คลุกย์” ผู้อำนวยการยุโรปของ WHO อธิบายว่า คลื่นยักษ์ลูกใหม่กำลังแผ่ขยายไปทั่วภูมิภาคนี้
“สถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพ (IHME) คาดการณ์ว่าประชากรมากกว่า 50% ในยุโรป จะติดเชื้อโอมิครอนในอีก 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า” เขากล่าวเสริม
ภูมิภาคยุโรปของ WHO ครอบคลุม 53 ประเทศ และเขตแดน ซึ่งรวมถึงหลายประเทศในเอเชียกลาง
คลุกย์ย้ำด้วยว่า “วัคซีนที่ได้รับการอนุมัติยังคงให้การป้องกันที่ดีกับโรครุนแรงและการเสียชีวิต ซึ่งรวมถึงจากโอมิครอนด้วย”
สำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) ระบุว่า การแพร่เชื้อของโอมิครอนทำให้โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นที่มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยได้ แม้ว่าจะยังคงระบาดอยู่ในตอนนี้ก็ตาม
แผลเป็นในด้านการพัฒนา
ขณะเดียวกันธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลงในปี 2565 เนื่องจากโอมิครอนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนในภาคแรงงานและซัพพลายเชน
ในรายงานล่าสุดของโกลบอล อิโคโนมิก พรอสเพกต์ หรือ จีอีพี ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เหลือ 4.1% หลังจากที่ฟื้นตัวขึ้นมา 5.5% เมื่อปีที่แล้ว
“เดวิด มัลพาสส์” ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า การระบาดอาจทิ้ง “แผลเป็นถาวรในด้านการพัฒนา” เนื่องจากตัวชี้วัดความยากจน โภชนาการ และสุขภาพ กำลังเคลื่อนไปสู่ทิศทางที่ผิด
คำเตือนนี้มีขึ้นหลังครบ 2 ปี ที่มีการประกาศผู้เสียชีวิตรายแรกจากโควิด ซึ่งเป็นชายอายุ 61 ปี ในเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งเป็นจุดที่ตรวจพบผู้ป่วยครั้งแรก
ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2562 จำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโควิดเพิ่มขึ้นเกือบ 5.5 ล้านคน
จีนควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงเริ่มต้นด้วยการล็อกดาวน์ ปิดพรมแดน และปูพรมหาผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม การระบาดได้ปะทุขึ้นอีกครั้งในเมืองใหญ่บางแห่ง ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้าการจัดโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง ขณะที่ทางการจีนกำลังใช้กลยุทธ์โควิดเป็นศูนย์
เมืองอันหยางในมณฑลเหอหนาน ประกาศเมื่อคืนวันจันทร์ ห้ามประชาชน 5 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในเมือง ออกจากบ้าน หรือขับรถบนถนน ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัวของทางการจีน
เมืองยูซุและซีอานก็กำลังปิดเมืองอย่างเข้มงวด
ส่วนฮ่องกง ซึ่งมีการจำกัดการเข้าพรมแดนอย่างเข้มงวดที่สุดในโลก เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาได้ปิดโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมศึกษาไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อรับมือกับการระบาดของโอมิครอน
ขณะที่ญี่ปุ่นได้ต่อเวลานโยบายปิดพรมแดนไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ สกัดไม่ให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ
ปัญหาเรื่องการเข้าถึงวัคซีน
เวทีการประชุมและเสวนาเศรษฐกิจระดับโลก เวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม (WWE) เตือนว่า การเข้าถึงวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมอาจสร้างความไม่พอใจจนกลายเป็นอุปสรรคในการบรรลุข้อตกลงในประเด็นระดับโลกอื่น ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“การระบาดของโควิดในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในระดับต่ำ มากกว่าในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในระดับสูง ส่งผลต่อความพร้อมของแรงงานและประสิทธิภาพในการทำงาน ขัดขวางห่วงโซ่อุปทาน และทำให้การบริโภคลดลง” WWE ระบุ