สื่อ : ฟิลิปปินส์สั่งปิดเว็บไซต์ข่าวของเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ

Getty Images

จากประเทศที่เคยได้ชื่อว่าสื่อมวลชนมีเสรีภาพมากที่สุดในเอเชีย แต่ล่าสุดฟิลิปปินส์ได้สั่งปิดเว็บไซต์ข่าวสืบสวนสอบสวนแร็พเลอร์ซึ่งก่อตั้งโดย มาเรีย เรซซา เจ้าของราลวัลโนเบลสาขาสันติภาพ อีกครั้ง

มาเรีย เรซซา อดีตนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ของตัวเองในปี 2012 และเว็บไซต์ข่าวแร็พเลอร์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเสนอข่าวแนวสืบสวนสอบสวนและวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีดีโรดริโก ดูแตร์เต อย่างหนักข้อ

แต่ในปี 2018 คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฟิลิปปินส์ (SEC) ได้ทำเรื่องเพิกถอนใบอนุญาตของแร็พเลอร์ โดยให้เหตุผลว่าแร็พเลอร์มีนักลงทุนสองคนเป็นชาวอเมริกันซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดกับรัฐธรรมนูญของประเทศที่กำหนดให้เจ้าของสื่อต้องเป็นคนฟิลิปปินส์เท่านั้น

“แร็พเลอร์เป็นของคนฟิลิปปินส์ 100% ให้ฉันพูดอีกครั้งต่อหน้าสื่อแล้วกันว่าเราปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญของฟิลิปปินส์ทุกอย่าง” เรซซา กล่าวกับบีบีซี

แร็พเลอร์ได้ต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยย้ำการเป็นสื่อ “เสรี”

แต่แถลงการณ์ล่าสุดจาก SEC ชี้ว่าหน่วยงานรวมไปถึงศาลมีความเห็นว่ารูปแบบการหาเงินทุนสนับสนุนของแร็พเลอร์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

คำสั่งล่าสุดออกมาเพียงไม่กี่วันก่อนที่ประธานาธิบดีดูแตร์เตจะพ้นจากตำแหน่ง และส่งต่อบทบาทผู้นำประเทศให้กับพันธมิตรของเขาอย่าง เฟอร์ดินานด์มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส อดีตจอมเผด็จการผู้โหดร้าย

แร็พเลอร์ย้ำว่าสำนักข่าวจะไม่ปิดเว็บไซต์ของตัวเอง และสู้ต่อตามกฎหมาย

เรซซา กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าคำตัดสินนี้เกิดขึ้นจากกระบวนการพิจารณาคดีที่มีความผิดปกติอย่างสูง และเว็บไซต์ของเธอไม่สามารถเชื่อถือหลักนิติธรรมได้อีกต่อไป

ผู้ลงทุนชาวอเมริกันคือใคร

หลังก่อตั้งสำนักข่าวได้ราว 3 ปี แร็พเลอร์ได้เงินสนับสนุนจากสองนักลงทุนชาวอเมริกันในปี 2015 ได้แก่ นอร์ธ เบส มีเดีย กลุ่มบริษัทที่ดำเนินการโดยอดีตนักข่าว และโอมิดดียาร์ เน็ตเวิร์ค บริษัทลงทุนของ ปิแอร์ โอมิดดียาร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีเบย์ (eBay)

แร็พเลอร์ยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยถูกครอบงำจากต่างชาติ และเพื่อพิสูจน์จุดยืนดังกล่าว ในปี 2018 โอมิดดิยาร์ ได้มอบหุ้นการลงทุนให้กับพนักงานแร็พเลอร์ชาวฟิลิปินส์ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ‘ต่างชาติ’ จะไม่มีอำนาจในการบริหารธุรกิจนี้

เรซซา กล่าวว่า คำตัดสินครั้งนี้ของ SEC ถือเป็นความพยายามกำราบสำนักข่าวที่ท้าชนกับผู้มีอำนาจอีกครั้งในช่วงเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา

“เราถูกข่มเหง นี่เป็นการข่มขู่ นี่คือลูกเล่นทางการเมือง และเราปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อมัน” เธอกล่าว

องค์กรสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ออกมาแถลงว่า การเคลื่อนไหวครั้งล่าสุด “แบบจอมปลอม” ของ SEC เป็นเพียงความพยายามในการ “ปิดปากเจ้าของรางวัลโนเบล มาเรีย เรซซา และปิดตายแร็พเลอร์ ด้วยวิธีการใดก็ตามที่พวกเขาสามารถทำได้”

ที่ผ่านมาแร็พเลอร์รายงานข่าวจำนวนมากเกี่ยวกับนโยบายสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูแตร์เต รวมไปถึงพฤติกรรมเกลียดชังผู้หญิง การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทุจริต

สำนักข่าวแร็พเลอร์ ณ กรุงมนิลา

ที่มาของภาพ, Getty Images

ปัจจุบันนี้ เรซซา ต้องเผชิญหน้ากับการสู้คดีอย่างน้อย 7 คดี ซึ่งเธอชี้ว่านี่เป็นความท้าทายทางการเมือง

โนเบลสาขาสันติภาพจากงานปกป้องเสรีภาพสื่อ

คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของนอร์เวย์ มีมติให้มอบรางวัลประจำปี 2021 ให้แก่ มาเรีย เรซซา ผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ และดมิทรี มูราทอฟ ผู้สื่อข่าวชาวรัสเซีย จาก “การต่อสู้อย่างกล้าหาญ” เพื่อปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศฟิลิปปินส์และรัสเซีย

คณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัล ระบุว่า เรซซา ใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อ “เปิดโปงการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้ความรุนแรง และความเป็นเผด็จการที่เพิ่มมากขึ้นในฟิลิปปินส์ ประเทศบ้านเกิด”

มาเรีย เรซซา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty

เมื่อปี 2019 เรซซา ยังเคยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 สตรีผู้เป็นแรงบันดาลใจและทรงอิทธิพลจากทั่วโลกในโครงการ 100 Women ของสำนักข่าวบีบีซี

ถ้อยความช่วงหนึ่งจากคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพระบุว่า:

“เมื่อปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน ก็ยากที่การส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาติ การลดอาวุธ และความสงบเรียบร้อยที่จะส่งต่อในยุคสมัยของเรา จะประสบความสำเร็จ”

คำสั่งดังกล่าวของ SEC ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่ารัฐบาลชุดถัดไปที่นำโดย เฟอร์ดินานด์มาร์กอส จูเนียร์ จะเป็นอย่างไร

ในยุคสมัยที่บิดาของเขานั่งเป็นผู้นำประเทศ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ทั้งสั่งจำคุกนักข่าว นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

นักเคลื่อนไหวจำนวนมากเริ่มออกมาแสดงความกังวลต่อการกดขี่สื่อมวลชวนและการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

ในเดือนที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลยังออกมากระตุ้นให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตสั่งปิดเว็บไซต์ของนักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้าย

นักข่าวจำนวนมากต่างออกมาวิจารณ์ว่ารัฐบาลพยายามทำร้ายประเทศอย่างต่อเนื่อง เท่านั้นไม่พอ เหล่าบัญชีผู้ใช้งานตามโซเชียลมีเดียที่ทำตัวเป็น ‘ยามทางการเมือง’ ยังเข้าไปโจมตีและข่มเหงนักข่าวและผู้อยู่ฝั่งตรงข้ามของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก

ฟิลิปปินส์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 147 จากทั้งหมด 180 ประเทศ ในประเด็นเสรีภาพสื่อ จากองค์การนักข่าวไร้พรมแดน ตกลง 9 อันดับจากปี 2021

…..

ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือระหว่างสององค์กรข่าว