ม.เกษตรดันอุตฯชีวภาพ ปั้นคนก้าวทันเทคโนโลยี

“ม.เกษตรฯ” ชูมือโปรด้านเกษตร เปิดหลักสูตรพัฒนาคนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สร้างผู้เชี่ยวชาญ-นักวิจัยเฉพาะด้าน ขานรับยุทธศาสตร์การพัฒนาตามนโยบายรัฐ ชูจุดแข็งใช้วัตถุดิบในประเทศ ข้าว-อ้อย-มันสำปะหลัง ดันไทยเป็นฮับด้านเทคโนโลยีชีวภาพ รับลอตแรก 15 คน 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าภาควิชาเทคโนโลยี คณะอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดหลักสูตร “การพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ” เพื่อพัฒนาคนทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศให้เข้าใจในกระบวนการผลิตทางเทคโนโลยีชีวภาพ และเพิ่มนักวิจัย-นักนวัตกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว

เนื่องจากประเทศมีจุดแข็งเรื่องของวัตถุดิบคือ อ้อย, ข้าว, มันสำปะหลัง, ข้าวโพด, เซลลูโลส และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น เพราะสามารถนำมาเป็นสารตั้งต้นสำหรับการเป็นผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพให้มีความหลากหลาย รวมถึงสถานการณ์การลงทุนในขณะนี้ คาดว่าจะมีการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีชีวภาพอยู่ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมกับกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดปริมาณของเสีย และใช้ทรัพยากรในประเทศอย่างคุ้มค่า

นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอด และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้หลายเท่าตัว ที่สำคัญคือ ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (2560-2578) ที่กำหนดไว้ 4 ด้านคือ

1) ยุทธศาสตร์ด้านนโยบาย (policy and regulation) มีการลดอุปสรรคด้านนโยบายและกฎระเบียบ โดยสนับสนุนการทำ “contract farming” ขนาดใหญ่ เพิ่มผลผลิตให้กับภาคการเกษตร เปิดเสรีการผลิต ขนส่ง การค้า และการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงชีวภาพ

2) ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุน (investment support)สนับสนุนผู้ลงทุนในหน่วยผลิตแกนกลางได้แก่ โรงหีบและแปรรูปอ้อย เป็นโรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตเอทานอล ไฟฟ้า/ไอน้ำจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เคมีชีวภาพ อย่างเช่น กรดแล็กติก กรดซักซินิกและพลาสติกชีวภาพ

3) ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี (researchdevelopment and innovation) ผลักดันให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ” โดยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับแปรรูปมันสำปะหลัง ผลผลิตเกษตรประเภทเส้นใยเป็นสินค้าชีวภาพ พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศ เชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายการวิจัยตั้งแต่ระดับ lab scale pilot plant และ commercial scale

และ 4) ยุทธศาสตร์ด้านการตลาด (market leader) ผลักดันไทยเป็นผู้นำตลาดสินค้าชีวภาพ โดยให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ เลือกให้สินค้าชีวภาพที่ผลิตในประเทศ ทั้งยังกำหนดสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ชีวภาพในบรรจุภัณฑ์ รวมถึงมาตรการแก้ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม โดยให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งต้องผลิตจากพลาสติกชีวภาพ สนับสนุนให้ใช้น้ำมัน E85 เป็นเชื้อเพลิงหลักในพื้นที่สร้าง complex และพื้นที่ใกล้เคียง “ยกเว้น” ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอทานอลมากกว่า 20%

สำหรับรายละเอียดของเนื้อหาภายใต้หลักสูตรดังกล่าว ประกอบด้วยประเภทของจุลินทรีย์ กระบวนการของก๊าซชีวภาพผลิตภัณฑ์จากเอทานอล และไบโอพลาสติกเป็นต้น โดยหลักสูตรดังกล่าวจะเริ่มในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2562 ค่าเรียนอยู่ที่ 45,000 บาท การคัดเลือกผู้เข้าเรียนจากการสัมภาษณ์ และต้องมีการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในเบื้องต้นวางเป้าหมายสำหรับการเปิดหลักสูตรครั้งนี้ไว้ที่ 10-15 คนเรียน 1 วัน/สัปดาห์ รวม 12 สัปดาห์ และใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการเรียนการสอน ส่วนการวัดผล จะต้องเข้าเรียนไม่น้อยกว่า 80% รวมถึงต้องนำเสนอผลงานในลักษณะการประชุมวิชาการด้วย