EXIM BANK ขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการค้าการลงทุนไทย-สปป.ลาว

ประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นับเป็นบ้านพี่เมืองน้องที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยาวนานกว่า 2 สหัสวรรษในหลากหลายมิติ แต่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตสมัยใหม่อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2493 ในโอกาสฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สปป.ลาว  นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผู้นำทั้งสองประเทศต่างเห็นพ้องที่จะเร่งขับเคลื่อนความร่วมมือไทย-สปป.ลาว ให้ก้าวหน้าไปด้วยกัน ส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชนของทั้งสองประเทศอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการค้าทวิภาคีเป็น  11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2570

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ไทยและ สปป. ลาว เป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นและมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง EXIM BANK มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการสนับสนุนโครงการที่ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมใน สปป.ลาว อาทิ การสนับสนุนโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ 12 แห่ง มูลค่ารวมราว 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังการผลิตรวม 5,400 เมกะวัตต์ (ราว 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของ สปป.ลาว)โดย EXIM BANK สนับสนุนทางการเงินราว 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงไฟฟ้าพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยระบบทางปลาผ่านเพื่อให้ปลาสามารถเดินทางได้ตามฤดูกาลต่าง ๆ ช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขง 

“EXIM BANK ได้เปิดสำนักงานผู้แทนที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อปี 2561 ตามนโยบายของรัฐบาลไทย
ในการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทยใน สปป.ลาว ซึ่ง EXIM BANK พร้อมพัฒนาบริการทางการเงินให้ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการไทยอย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ การใช้เงินสกุลกีบเป็นเงินสกุลหลักในการประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนใน สปป.ลาว เพื่อลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน” ดร.รักษ์ กล่าว 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในด้านโอกาสและศักยภาพทางการค้าและการลงทุน จากการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระหว่างจีนและอาเซียน มีรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีนส่งเสริมให้เกิดการค้าและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้ผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น
ถนน R3A เชื่อมไทยสู่จีน และถนน R8 R12 และ R9 เชื่อมไทยสู่เวียดนามและจีน นอกจากนี้ ยังมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแล้ว 4 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 1 (หนองคายเวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหารสะหวันนะเขต) สะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 3 (นครพนมคําม่วน) และสะพานมิตรภาพไทยลาว แห่งที่ 4 (เชียงรายบ่อแก้ว) ที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ และในปลายปี 2568 สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) จะเปิดใช้งาน

ADVERTISMENT

 ขณะเดียวกัน สปป.ลาว มีศักยภาพสูงในด้านพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนสูงถึง 76% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดในประเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมยุคใหม่ และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เกษตรที่เอื้อต่อการเพาะปลูก ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และแร่สำคัญ อาทิ ทองคำ ทองแดง และโพแทช รวมถึงแร่ Rare Earth ซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ADVERTISMENT

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจาก EXIM BANK พัฒนาเครื่องมือทางการเงินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ EXIM BANK จึงผลักดัน Kip Utilization โดยร่วมมือกับธนาคารพันธมิตรคือ ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว มหาชน (Banque Pour Le Commerce Exterieur Lao Public: BCEL) เพื่อช่วยสนับสนุนนักลงทุนไทยใน สปป.ลาว หรือนิติบุคคลลาว รวมถึงนิติบุคคลไทย ให้สามารถขอรับการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อโดยใช้ Standby Letter of Credit (SBLC) จาก EXIM BANK เป็นหลักประกัน

นายธนวัฒน์ จิตบันเทิงพันธ์ กรรมการสายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ระบุว่า สปป.ลาว ถือเป็นตลาดที่ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนสูง รองจากมาเลเซียเท่านั้น ขณะเดียวกัน ทั้งไทยและสปป.ลาว ยังมีความสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนที่ต้องการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งสินค้าจากเอเชียไปตะวันออกกลางและยุโรป ครอบคลุมถึง 63 ประเทศ หากทั้งสองประเทศสามารถยกระดับระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงระหว่างกันให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนให้มีมูลค่าสูงขึ้นตามไปด้วย

นายอานงเดด เพ็ดไกสอน รองผู้อำนวยการ บริษัททางรถไฟลาว-จีน จำกัด กล่าวว่า การเชื่อมต่อระบบรถไฟจากจีนผ่าน สปป.ลาว มายังจังหวัดหนองคายของไทยถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาการค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยปัจจุบันรถไฟ สปป.ลาว-จีนได้เปิดบริการแล้ว 9 สถานี จำนวนเที่ยวโดยสารไป-กลับรวมกัน 12 เที่ยวต่อวัน ขณะที่รถไฟขนส่งสินค้ามีจำนวนเที่ยวไป-กลับรวมกัน 20 เที่ยว และในอนาคตจะมีการยกระดับการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายข้อจำกัดในด้านกฎระเบียบ นิติกรรม และกฎหมายระหว่างประเทศ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

EXIM BANK ในบทบาทของ Green Development Bank ให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและ สปป.ลาว เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศ เชื่อมโยงกับกัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม และประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียนให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป