ม.กรุงเทพปลื้ม! โครงการหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ Young AI Robotics สร้างต้นทางความรู้สู่สังคม

นับว่าสร้างความฮือฮาให้แก่วงการการศึกษาไทยไม่น้อย สำหรับโครงการ Young AI Robotics ที่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล รองอธิการบดีอาวุโสด้านกิจการภายนอก มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้เป็นประธานกองทุน ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล และทำพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว

โครงการ Young AI Robotics เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของมหาวิทยาลัยกรุงเทพและกองทุน ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขับเคลื่อนโลกอนาคต แต่ในเมืองไทยกลับพบว่า ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไม่มากนัก จึงเห็นว่า นักเรียนควรสั่งสมความรู้ด้านนี้ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา เพื่อให้มีพื้นฐานพร้อมสำหรับการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา อันจะทำให้เรียนรู้ต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเรียนจบก็สามารถนำความรู้ไปพัฒนาประเทศได้ทันที ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจดังกล่าว มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงเชิญโรงเรียนต้นแบบจำนวน 10 แห่ง มาเข้าร่วมการอบรมการพัฒนาหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Robotics กับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญอย่างมากในด้าน Creative Technology เป็นเวลารวมทั้งสิ้น 3 ปีเต็ม และทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมอบรมยังได้รับมอบหุ่นยนต์ TurtleBot3 จาก ดร.สุพงษ์ ลิ้มธนากุล เพื่อนำไปใช้การฝึกภาคปฏิบัติต่อ ซึ่งถือเป็นโครงการแรกของไทยที่จัดอบรมพร้อมมอบหุ่นยนต์ให้ด้วย

และเมื่อไม่นานมานี้ โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา หนึ่งใน 10 โรงเรียนที่เข้าร่วมการอบรม ก็ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา ให้เป็นตัวแทนของจังหวัดในเขต EEC นำเสนอผลงานด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์ในวันการศึกษาเอกชน เนื่องจากทางโรงเรียนมีนโยบายในการพัฒนาทั้งอาจารย์และนักเรียนให้มีทักษะที่สอดคล้องกับนโยบายชาติ ซึ่งคณะครูผู้ดูแลกิจกรรมในโครงการจากโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวว่า

“โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาการเรียนการสอนให้มีความทันสมัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เขตพื้นที่การศึกษาฉะเชิงเทรา มองเห็นความมุ่งมั่นของเราในการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่มีความสนใจด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์มีโอกาส มีประสบการณ์ต่อยอดไปสู่ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในอนาคต จึงได้คัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบของ EEC ซึ่งนับว่ามหาวิทยาลัยกรุงเทพมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนให้โรงเรียนพัฒนาองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ จนได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้”

เช่นเดียวกับโรงเรียนร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ อีกหนึ่งโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ก็มีความก้าวหน้าในการเรียนการสอนด้านหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์เป็นอย่างมาก ดังที่อาจารย์ยุพดี ปรีดี ครูชำนาญการ หัวหน้าศูนย์หุ่นยนต์ของโรงเรียน กล่าวว่า

“โรงเรียนร่องคำนำหุ่นยนต์ TurtleBot3 ที่ได้รับมอบ มาใช้ทำกิจกรรมการสอนในรายวิชาพัฒนาผู้เรียนชมรมหุ่นยนต์ ซึ่งมีนักเรียนทั้งม.ต้นและม.ปลาย โดยนำบทเรียนและแบบฝึกหัดต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากทางมหาวิทยาลัยมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ ทำให้นักเรียนได้ทดลองทำหุ่นยนต์จริงๆ เด็กๆ จึงรู้สึกสนุกและตื่นเต้น เมื่อพบว่าหุ่นยนต์สามารถทำภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย การนำหุ่นยนต์ TurtleBot3 มาใช้ในการเรียนรู้จึงนับเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ ทันสมัย และทำให้เข้าใจหลักการทำงานของหุ่นยนต์ได้ดีขึ้น”

จะเห็นได้ว่า โครงการ Young AI Robotics ไม่ได้มีประโยชน์แค่ในระดับโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในระดับประเทศชาติด้วย เพราะทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมการอบรมจะเป็นต้นทางความรู้ส่งต่อไปสู่สังคมจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสร้างบุคลากรของชาติให้มีความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่ทัดเทียมนานาประเทศต่อไป