แพงไปไหมกับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์

“ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ทำธุรกิจ ทั้งลดต้นทุนและง่าย” นี่คือวิธีปฏิบัติผิดๆ ที่ทำให้ธุรกิจจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย

นั่นก็เพราะหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของมาตรการแรกในการป้องกันองค์กรธุรกิจจากมัลแวร์และความเสี่ยงภัยไซเบอร์อื่นๆ คือ การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์)  จากผลการสำรวจการใช้ซอฟต์แวร์ทั่วโลกของบีเอสเอ ร่วมกับไอดีซี (IDC) ในประเทศไทย มีองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) มากถึง 66% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 57% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ในไทยมีโอกาสสูงที่จะถูกจู่โจมทางไซเบอร์และยังมีจุดอ่อนในมาตรการคุ้มครองข้อมูล

จากข้อมูลของ Allianz Global Corporate and Specialty SE (AGCS) พบว่า ราว 20% ขององค์กรธุรกิจที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ในไทย ต้องสูญเงินมากถึง 3.2 ล้านบาท และอีก 4% มีการเรียกค่าสินไหมทดแทนสูงถึง 32 – 3,200 ล้านบาท ในปี 2558 และนี่คือหลักฐานที่ชี้ชัดว่าความเสียหายที่เกิดจากภัยไซเบอร์ไม่ใช่เงินจำนวนเล็กน้อย

การตรวจสอบให้แน่ใจว่าซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งและใช้งานอยู่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) และถูกกฎหมาย คือหนึ่งในขั้นตอนสำคัญเพื่อลดหรือหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายดังกล่าว นอกจากนี้ องค์กรธุรกิจควรมีวิธีปฏิบัติที่ดีด้านการจัดการซอฟต์แวร์ จากการศึกษาที่ผ่านมา การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซนส์) ถูกต้องครบถ้วน และการจัดการซอฟต์แวร์ที่ดี จะช่วยองค์กรธุรกิจประหยัดงบประมาณด้านซอฟต์แวร์ในแต่ละปีได้สูงถึง 30% เราไม่ควรตั้งคำถามว่าถ้าองค์กรธุรกิจของเราถูกจู่โจม เราจะทำอย่างไร แต่ควรตั้งคำถามว่าองค์กรธุรกิจของเราจะถูกจู่โจมเมื่อไร ทั้งนี้ เพราะปัญหามัลแวร์กำลังทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายอย่างมากมายมหาศาล และส่งผลกระทบต่อองค์กรธุรกิจเป็นอย่างมาก จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่ต้องทำให้แน่ใจว่าองค์กรธุรกิจของตนมีวิธีปฏิบัติที่ดีโดยการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายและได้รับการสนับสนุนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จากบริษัทซอฟต์แวร์