คุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อหมู

“คุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อหมู”  เป็นประเด็นที่ผมเคยให้ข้อมูลมาเป็นระยะๆ  และย้ำมาโดยตลอดว่าทั้งคุณภาพและความปลอดภัย  เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญควบคู่กัน  โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีทางเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ    

เมื่อพูดถึงคุณภาพของเนื้อหมู   มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องตั้งแต่สายพันธุ์ของสุกร อาหารที่ใช้เลี้ยง การเลี้ยงดู ขั้นตอนชำแหละ กระบวนการจัดการเนื้อสุกรที่ได้หลังการชำแหละ ไปจนถึงขั้นตอนของการเก็บรักษา  ที่สำคัญ  คุณภาพของเนื้อหมู  ต้องมาจากสุกรที่สุขภาพดี แข็งแรง  ไม่ป่วยเป็นโรค  ไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะ      

ปัจจุบัน ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรนำหลัก สวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare)มาใช้เพื่อให้สัตว์มีความสุข  มีสุขภาพพื้นฐานที่ดี แข็งแรง สามารถเติบโตดีตามศักยภาพพันธุกรรมธรรมชาติ  เป็นการลดความเสี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ  โดยเฉพาะบริษัทที่มีมาตรฐานสากลในการเลี้ยงและผลิตสุกร  มีการปรับปรุงฟาร์มสุกรเป็นโรงเรือนระบบปิด  ควบคุมอุณหภูมิด้วยการระเหยของน้ำ (EVAP) ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค  ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการส่งมอบเนื้อหมูที่สะอาด  ปลอดภัย และมีคุณภาพสู่ผู้บริโภค     

ความมั่นใจของผู้บริโภคด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยของเนื้อหมู จำเป็นต้องมีการใช้ระบบประกันคุณภาพการผลิต ที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ในส่วนของการผลิตอาหาร หรือโรงชำแหละหมู อย่างน้อยควรปรับปรุงให้มีการบังคับใช้ระบบปฏิบัติที่ดี (Good  Manufacturing  Practices) ในกระบวนการผลิต เป็นระบบพื้นฐาน หรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพควรที่ส่งเสริมให้นำระบบการวิเคราะห์จุดวิกฤตและควบคุมอันตราย (Hazard Analysis Critical Control  Point  : HACCP ) ในโรงฆ่าสัตว์และสถานประกอบการที่ผลิตอาหาร ซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพการผลิตที่เป็นสากล  

การนำระบบประกันคุณภาพการผลิตมาใช้    เป็นผลดีกับทุกฝ่าย เช่น ผู้บริโภคได้สินค้าที่มีคุณภาพดี ถูกสุขอนามัย สะอาด และปลอดภัย ผู้ผลิตก็ได้รับผลดีที่ผลิตสินค้าคุณภาพ มีมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค


เนื้อหมู ยังถือได้ว่าเป็นอาหารยอดนิยมของผู้บริโภคในหลายประเทศ  เห็นได้จากความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี  รวมทั้งปริมาณการบริโภคเนื้อหมูของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการันตีได้ในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย   โดยในปี  2561  ปริมาณการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยอยู่ที่ 1.39 ล้านตัน และในปี  2562 อยู่ที่่ 1.48 ล้านตัน หรือคิดเป็นอัตราการบริโภค 22 กิโลกรัม/คน/ปี     

กลุ่มอาหารประเภทเนื้อสัตว์และเนื้อหมู  มีประโยชน์ต่อร่างกาย เพราะเป็นแหล่งโปรตีนที่ให้พลังงานสูง ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของร่างกาย ซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนที่สึกหรอ  

เนื้อหมู  จึงเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กในวัยกำลังโต  วัยเรียน  ในวัยผู้ใหญ่ที่ต้องใช้พลังงานมากในแต่ละวัน และผู้ที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อซึ่งต้องการโปรตีนมากกว่าปกติ

ผศ.น.สพ.ดร.สุเจตน์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย