‘ไทยยูเนี่ยน’ พัฒนานวัตกรรมการเงิน ‘In-House Banking’ ย้ำความแกร่งผู้นำธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เป็นผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลก และเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทูน่าบรรจุกระป๋องที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมียอดขายต่อปีกว่า 1.41 แสนล้านบาท หรือราว 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลของไทยยูเนี่ยน มีตลาดหลักอยู่ในอเมริกาและยุโรป  ด้วยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงิน หรือ Global Treasury Center ของบริษัท ที่ได้ดำเนินงานด้าน In-House Banking & Automation ปัจจุบันไทยยูเนี่ยนมีโรงงานมากถึง 14 แห่ง กระจายอยู่ใน 11 ประเทศทั่วโลก และกว่า 90% ของยอดขายมาจากต่างประเทศ

หลังจากปี 2564 ที่ไทยยูเนี่ยนเปิดตัว ‘Blue Finance’ หรือการเงินที่ส่งเสริมความยั่งยืน มาปีนี้ บริษัทได้เดินหน้านวัตกรรมด้านการเงิน เกิดเป็นโมเดล In-House Banking เพื่อให้การบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน ขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ของกระแสเงินสด รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงิน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กล่าวว่า ในฐานะที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ทั่วโลก ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริหารและการบริการทางการเงินแบบรวมศูนย์

จึงได้จัดตั้ง Global Treasury Center ขึ้นในปี 2558 โดยทำงานร่วมกับศูนย์บริหารเงินในประเทศลักเซมเบิร์ก ที่บริหารงานเกี่ยวข้องในทวีปยุโรป และอีกหนึ่งศูนย์ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริก สำหรับการบริหารงานที่เกี่ยวข้องในประเทศสหรัฐอเมริกา

โมเดลการทำงานของศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยนในยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศไทยนั้น มีความแตกต่างกัน โดยศูนย์บริหารเงินระดับภูมิภาคที่สหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินทุน เงินสด และสภาพคล่องทางการเงิน รวมถึง เป็นศูนย์กลางในการบริหารและรวบรวมยอดเงินคงเหลือของแต่ละบริษัท เพื่อนำมาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ที่ไทยยูเนี่ยนที่ประเทศไทย

การบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินนั้น บริษัทมีการวางนโยบายหลักจาก Global Treasury Center แต่มีการดำเนินการตามนโยบายกับธนาคารในระดับแต่ละภูมิภาค

โดย Global Treasury Center ที่ประเทศไทย เป็นแหล่งเงินทุนหลักให้บริษัทในเครือทั้งหมด ด้วยการบริหารจัดการเงินสดและสภาพคล่องจากศูนย์กลาง ทำให้กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องทำกับธนาคารโดยตรงลดปริมาณธุรกรรมลง และสามารถเพิ่มอำนาจการต่อรองได้มากขึ้น พร้อมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางการเงินและการตรวจสอบต่างๆ ได้อีกด้วย

สำหรับกระบวนการอัตโนมัติทางธุรกิจ (Automation) ไทยยูเนี่ยนได้เริ่มใช้ Robotic Process Automation (RPA) ในกระบวนการ In-House Banking สำหรับขั้นตอนและรายงานทางการเงินประเภทต่างๆ ภายในบริษัท ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางการเงิน ที่บริษัทได้เริ่มนำมาใช้ในปี 2564 ทำให้สามารถรวบรวมข้อมูลทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น การเก็บเงิน การจ่ายเงิน และสถานะเงินสด ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ RPA ยังช่วยให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ที่ทำเป็นประจำ มีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เช่น การรับข้อมูลจากหลายแหล่ง การโอนเงิน การบันทึกการโอนเงินเข้าระบบ การจัดทำรายงานทางการเงิน การส่งรายงานและข้อมูลทางการเงินไปยังฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง สามารถทำได้โดยอัตโนมัติและทันท่วงที

กล่าวโดยสรุป นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นโดยศูนย์บริหารและบริการร่วมทางการเงินของไทยยูเนี่ยน ส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งเรื่องต้นทุนทางการเงินและประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้สามารถบริหารจัดการได้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งขั้นตอนต่างๆ ก็ลดลงและง่ายขึ้น

ทั้งยังสามารถทำให้การบริหารจัดการกระแสเงินสดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งที่มาของเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ การบริหารจัดการเงินที่คงค้างอยู่ในบัญชี ทั้งในรูปของเงินสด และลดการถือเงินสดในมือ จะทำให้สามารถบริหารจัดการเงินทุนของบริษัทได้ดียิ่งขึ้น

การบริหารจัดการการเงินด้วยนวัตกรรม จึงยิ่งตอกย้ำความแกร่งของไทยยูเนี่ยน ในฐานะผู้เล่นรายใหญ่ในธุรกิจอาหารทะเลระดับโลก ที่พร้อมสร้างการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง