ลงทุนอสังหาฯเวียดนามเดือด ยักษ์ต่างชาติชักแถวบุก “M&A”

“เวียดนาม กำลังเป็นดาวเด่นของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชีย” คำกล่าวหนึ่งของนักวิเคราะห์จาก “ซีบีอาร์อี” บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลก ซึ่งขณะนี้ “อสังหาริมทรัพย์” ขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ของธุรกิจที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน ทั้งในรูปแบบการร่วมลงทุน และการควบรวมกิจการ

“มาร์ค ทาวน์เซนด์” ผู้อำนวยการบริษัทซีบีอาร์อี ประจำเวียดนาม กล่าวกับ “เวียดนามนิวส์” ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามกำลังค่อย ๆ ฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2008 เห็นได้จากราคาอพาร์ตเมนต์ระดับไฮเอนด์ หรืออาคารพาณิชย์ในฮานอย และกรุงโฮจิมินห์ รวมถึงราคาที่ดินก็ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากต่างประเทศ ที่นิยมเข้ามาซื้อกิจการเพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตก่อสร้างที่ล่าช้า ขณะเดียวกันข้อกฎหมาย 76/2015/ND-CP ที่เอื้อให้นักลงทุนสามารถขายโครงการอสังหาฯ หรือบางส่วนของโครงการได้อย่างโปร่งใส และขั้นตอนรัดกุมมากขึ้น

นาย เหงียน ดั๊ก ทัน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการเมืองของเวียดนาม ระบุว่า ตลาดอสังหาฯเวียดนามได้รับการส่งเสริมจากหลายปัจจัย ทั้งกฎหมายที่ผ่อนคลายขึ้น รวมถึงผลดีจากข้อตกลงต่าง ๆ เช่น ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (EU) ที่มีผลบังคับใช้ในปีนี้ จะช่วยหนุนให้เงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในเวียดนามเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ราคาที่อยู่อาศัยในนครฮานอย โฮจิมินห์ และอีกหลายเมืองที่รัฐบาลผลักดัน อย่าง “ดานัง” ยังมีราคาถูกกว่าหลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน และสิงคโปร์ หรือบางเมืองในมาเลเซีย

ล่าสุด “เจแอลแอล” (JLL) บริษัทผู้ให้บริการด้านการจัดการทั้งอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในเวียดนาม ได้เปิดเผยงานวิจัยแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามประจำปี 2018 ระบุว่า ตลาดอสังหาฯในเวียดนามเติบโตดีขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการลงทุนโดยตรงของต่าง ประเทศ (FDI) ที่สนใจเข้ามาลงทุนร่วมกับบริษัทเวียดนาม รวมถึงการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) มากขึ้น

ปัจจัยแรกที่ต่างชาติให้ความสนใจก็คือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่เติบโตอย่างมีเสถียรภาพมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยเวิลด์แบงก์ระบุว่า อัตราเติบโตที่มั่นคงเฉลี่ยอยู่ที่ 6.46% ต่อปี เริ่มตั้งแต่ปี 2000-2017 เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตแข็งแกร่งอยู่ที่ 6.8% นอกจากนี้ FDI ในปี 2017 ยังเป็นการสร้างสถิติใหม่ ซึ่งมีมูลค่าเกือบ 35.9 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 44.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

และในเดือน ม.ค.ปี 2018 พบว่า มีบริษัทจัดตั้งขึ้นใหม่อีก 1,400 แห่ง เพิ่มขึ้น 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยพบว่าเป็นกลุ่มบริษัทอสังหาฯมากกว่า 460 แห่ง เติบโตขึ้น 47% ซึ่งมีมูลค่าการจดทะเบียนรวมอยู่ที่ 17.5 ล้านล้านเวียดนามด่องทำให้ธุรกิจอสังหาฯในเวียดนามจึงขยับขึ้นมาอยู่อันดับ 3 ของธุรกิจที่ต่างชาติให้ความสนใจ รองจากอุตสาหกรรมการผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน จากที่เดิมอยู่นอกสายตาไม่ติดโผ “ท็อปไฟว์” ของการลงทุนจากต่างประเทศ

ตัวอย่าง บริษัทต่างชาติที่รุกเข้ามาลงทุนในตลาดอสังหาฯของเวียดนาม ได้แก่ บริษัท Mirae Asset Securities จากเกาหลีใต้ ที่ร่วมทุนกับบริษัท AON BGN ในนามเก่าคือ AON Holdings เข้าซื้อโครงการ “เคียงนัม ฮานอย แลนด์มาร์ก ทาวเวอร์” (Keangnam Hanoi Landmark Tower) ประกอบด้วยอาคารสำนักงานสูง 72 ชั้น และคอนโดมิเนียม 48 ชั้น 2 หลัง ด้วยมูลค่า 349.80 ล้านดอลลาร์

รายงานข่าวระบุว่า อาคารสำนักงานดังกล่าวจะเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทต่างชาติชั้นนำ อาทิ บริษัทเคพีเอ็มจีฯ, บริษัทสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดฯ และบริษัทแอลจี อีเล็คทรอนิคส์ ซึ่งโครงการเคียงนัมฯถือว่าเป็นอาคารที่สูงที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน

นอกจากนี้ ยักษ์ดีเวลอปเปอร์จากสิงคโปร์ อย่าง “แคปิตอลแลนด์” ก็ได้เข้าซื้อโครงการ “ซัมเมอร์เซต วิสต้า แอนด์ วิสต้า วอล์ก” (Somerset Vista & Vista Walk) ในกรุงโฮจิมินห์ซิตี จากบริษัท เหงียนบินห์ คอมเมอร์เชียล จอยสต็อก ในราคา 46.5 ล้านดอลลาร์

โครงการซัมเมอร์ เซตฯเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ขนาด 100 ห้อง และเป็นอาคารสูง 3 ชั้น โดยแคปิตอลแลนด์ มีบริษัทบริหารที่เรียกว่า “แอสคอต” เป็นบริษัทในเครือและบุกตลาดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ในอาเซียนและทั่วโลก

ส่วนบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่อีกรายจากสิงคโปร์ คือ”เคปเปลแลนด์” ได้รุกลงทุนในเวียดนามเช่นกัน โดยเข้าซื้อโครงการ “เอ็มไพร์ซิตี” จากบริษัท แถงห์ โฝ เดอ หวุง ในราคา 93.9 ล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์จาก JLL เผยการณ์ว่า ขณะที่มีเม็ดเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์กำลังรอที่จะลงทุนและซื้อกิจการในตลาด อสังหาฯในเวียดนาม ทั้งที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์การค้า และอุตสาหกรรมบริการ เป็นอานิสงส์จากที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของเวียดนามยังต่ำ รวมถึงซัพพลายอสังหาฯไม่สอดรับกับดีมานด์ที่ทะยานขึ้น โดยนักลงทุนที่ให้ความสนใจมากที่สุดในเวลานี้ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และจีน

“ปีที่ผ่านมามีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ข้ามชาติ ให้ความสนใจและเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนกฎระเบียบในการโอนกรรมสิทธิ์ใน ตลาดอสังหาฯ รวมถึงระเบียบในการเข้าซื้อกิจการมากที่สุด โดยเฉพาะจากสิงคโปร์ และจีน”


นอกจากนี้คาดว่าในปี 2018 จะเห็นการเข้าร่วมลงทุนและการควบรวมกิจการในตลาดอสังหาฯของเวียดนามมากขึ้น อีก 1 เท่าตัว หรือมากกว่านั้น และเชื่อว่าตลาดอสังหาฯยังไม่มีสัญญาณภาวะฟองสบู่ เพราะดีมานด์ยังโตแข็งแกร่ง