เซเรนา วิลเลียมส์ : ย้อนดู 10 ช่วงเวลาสุดประทับใจของนักเทนนิสชื่อดัง ก่อนเลิกเล่นอาชีพ

เมื่อดูจากความสำเร็จที่เธอได้รับจากการเล่นเทนนิสเพียงอย่างเดียว คนจำนวนมากอาจจะยกให้ เซเรนา วิลเลียมส์ เป็นนักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

นักเทนนิสชาวอเมริกันวัย 40 ปี ผู้นี้ เตรียมที่จะเลิกเล่นหลังจบการแข่งขันยูเอส โอเพ่น ในปีนี้ ความสำเร็จที่ผ่านมาของเธอ รวมถึงการคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวแกรนด์สแลม 23 ครั้ง ครองมือวางอันดับหนึ่งของโลกนานรวม 319 สัปดาห์ และคว้าแชมป์หญิงคู่ในอีก 14 รายการสำคัญ

ในช่วงที่เจ้าของแชมป์ยูเอส โอเพ่น 6 สมัย เตรียมยุติการเล่นเทนนิสอาชีพในนครนิวยอร์ก เราลองมาย้อนดูช่วงเวลาที่น่าประทับใจที่สุดของเธอ 10 ช่วง ตลอดการเล่นเทนนิสที่ผ่านมา

1. ยูเอส โอเพ่น ปี 1999 – คว้าแชมป์แกรนด์สแลมรายการแรก

เซเรนา วิลเลียมส์ ดีใจ หลังคว้าแชมป์ยูเอส โอเพ่น ปี 1999

ที่มาของภาพ, Getty Images

ADVERTISMENT

วิลเลียมส์คว้าแชมป์แกรนด์สแลมหญิงเดี่ยวขณะอายุ 17 ปี สร้างความประหลาดใจให้ผู้คน

มือวางอันดับเจ็ดของโลกไม่เพียงแต่โชว์ความสามารถอันยอดเยี่ยมในการเอาชนะคิม ไคลจ์สเตอร์ส, คอนชิตา มาร์ติเนซ และโมนิกา เซเลส แต่ยังเผยให้เห็นถึงหัวใจและความมุ่งมั่นในการเอาชนะ 3 ครั้งรวด

ADVERTISMENT

จากนั้น เธอก็เอาชนะลินด์เซย์ ดาเวนพอร์ต และมาร์ตินา ฮิงกิส มือวางอันดับ 2 และมือวางอันดับ 1 ของโลก คว้าถ้วยรางวัลที่เธอใฝ่ฝันมาครองได้สำเร็จ

2. อินเดียน เวลส์ ปี 2001 – เอาชนะเสียงโห่เหยียดเชื้อาติโค่นไคลจ์สเตอร์ส

วีนัส วิลเลียมส์ และ ริชาร์ด วิลเลียมส์ กอด เซเรนา วิลเลียมส์ หลังการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศอินเดียน เวลส์ ปี 2001

ที่มาของภาพ, Getty Images

ดูเหมือนว่า ผู้ชมจะไม่พอใจจากการที่วีนัส วิลเลียมส์ ถอนตัวจากการได้รับบาดเจ็บในการแข่งขันรอบตัดเชือกกับน้องสาวของเธอ ผู้เข้าชมการแข่งขันเทนนิส อินเดียน เวลส์ จึงแสดงความไม่พอใจต่อเซเรนา ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิสกับคิม ไคลจ์สเตอร์ส จากเบลเยียม

ทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าอึดอัดใจมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การแข่งขันเทนนิส โดยคู่พี่น้องตระกูลวิลเลียมส์และริชาร์ด พ่อของพวกเธอ ได้แจ้งในเวลาต่อมาว่า ผู้เข้าชมการแข่งขันได้ทำการล่วงละเมิดทางเชื้อชาติกับพวกเขา

เสียงโห่ร้องขณะที่วิลเลียมส์ วัย 19 ปีและครอบครัวของเธอเดินทางมาถึงสนามแข่งขัน และเมื่อเธอพลาดพลั้งในเกมการแข่งขัน ผู้ชมก็ส่งเสียงร้องดีใจ แม้แต่หลังจากที่เธอพลิกกลับมาเอาชนะได้ ก็ยังไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นใด ๆ

การที่นักเล่นเทนนิสสาวสู้กลับจนเอาชนะคู่แข่งระดับชั้นนำของโลกในบรรยากาศเช่นนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก

วิลเลียมส์ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งทางจิตใจของเธอ ซึ่งได้กลายเป็นเครื่องหมายในการเล่นเทนนิสอาชีพของเธอ เธอไม่สนใจเสียงรบกวนและได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่

3. วิมเบิลดัน ปี 2002 – กลายเป็นมือวางอันดับ 1 ของโลก

เซเรนา วิลเลียมส์ ยกถ้วยรางวัลวิมเบิลดันในปี 2002

ที่มาของภาพ, Getty Images

ตอนที่เธอเริ่มออกตระเวนแข่งขัน เซเรนา วิลเลียมส์ รู้สึกว่า คงจะมีคนรู้จักเธอว่า เป็น “น้องสาวคนเล็กของวีนัส” เท่านั้น

แต่ริชาร์ด พ่อของเธอ ทำนายอยู่เสมอว่า ลูกสาวคนนี้จะต้องกลายเป็นนักเทนนิสที่ยอดเยี่ยม และชัยชนะครั้งแรกจากทั้งหมด 7 ครั้งของเซเรนาในการแข่งขันวิมเบิลดัน เป็นช่วงเวลาที่เธอแสดงพลังออกมาได้อย่างเฉียบขาด

ก่อนหน้านั้นเธอก็เอาชนะวีนัส วิลเลียมส์ ในรอบชิงชนะเลิศเฟรนช์ โอเพ่น เซเรนาได้สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ โดยสามารถหักล้างข้อกังขาต่าง ๆ ที่ว่า เธอจะไม่สามารถเอาชนะพี่สาวของเธอได้

หลังคว้าชัยวิมเบิลดัน ส่งผลให้เซเรนาในวัย 20 ปีก้าวขึ้นมาครองมือวางอันดับ 1 ของโลกแทนวีนัส และรั้งอันดับนี้ต่อไปได้อีก 49 สัปดาห์ รวมแล้ว เธอครองตำแหน่งมือวางอันดับ 1 ของโลกในช่วงการเล่นเทนนิสอาชีพได้ 319 สัปดาห์ เป็นรองเพียงแค่สเตฟฟี กราฟ และมาร์ตินา นาฟราติโลวา

4. ออสเตรเลียน โอเพ่น 2003 – ครองแชมป์รายการแกรนด์สแลมได้ครบทั้ง 4 รายการ

เซเรนา วิลเลียมส์ ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์รับถ้วยรางวัลออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2003

ที่มาของภาพ, Getty Images

มีผู้หญิงเพียง 6 คนเท่านั้นที่เคยครองแชมป์รายการเทนนิสแกรนด์สแลมได้ครบทั้ง 4 รายการพร้อมกัน โดยวิลเลียมส์ วัย 21 ปี เป็นหนึ่งในนั้น หลังจากเอาชนะพี่สาวของเธอในการแข่งขันออสเตรเลียน โอเพ่น รอบชิงชนะเลิศในนครเมลเบิร์น

เธอไม่ได้คว้าชัยแกรนด์สแลมทั้งหมดนี้ได้ในปีปฏิทินเดียวกัน เพราะเธอคว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่นในปี 2003 และคว้าแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น, วิมเบิลดัน และยูเอส โอเพ่น ได้ในปี 2002 ทำให้การคว้าชัยของเธอ ถูกขนานนามว่า “เซเรนา สแลม”

5. ออสเตรเลีย โอเพ่น ปี 2007 – หวนคืนสู่วงการหลังปลีกตัวออกไป

เซเรนา วิลเลียมส์ นอนลงบนพื้น หลังคว้าชัยในรอบชิงชนะเลิศออสเตรเลีย โอเพ่น 2007

ที่มาของภาพ, Getty Images

ช่วงกลางทศวรรษ 2000 เป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดในการเล่นเทนนิสอาชีพของวิลเลียมส์

เธอต้องรับมือกับความเศร้าโศรกหลังจากเยทุนเด ไพรซ์ พี่สาวคนโตของเธอ เสียชีวิตจากการถูกยิงอย่างอุกอาจ นอกจากนี้เธอก็ยังมีอาการบาดเจ็บ แชมป์รายการใหญ่ 7 สมัย จึงหลุดออกจาก 100 อันดับแรกของโลกไปชั่วคราวในปี 2006 และกลับมาแข่งขันในเมลเบิร์นขณะครองตำแหน่งมือวางอันดับ 81 ของโลก

มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างของนักเทนนิสวัย 25 ปีผู้นี้มากมาย และการขาดการเตรียมความพร้อม แต่เธอก็สู้จนเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ และได้แสดงผลงานที่ยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งในการเล่นเทนนิสอาชีพ

เธอสามารถเอาชนะมาเรีย ชาราโปวา ที่กำลังจะก้าวขึ้นเป็นมือหนึ่งของโลกในอีกไม่นานไป 6-1 และ 6-2 ด้วยเวลาเพียง 1 ชั่วโมงกับอีก 3 นาที

6. ลอนดอน 2012 – คว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ทั้งประเภทหญิงเดี่ยวและหญิงคู่

เซเรนา วิลเลียม กัดเหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิก ลอนดอน 2012

ที่มาของภาพ, Getty Images

แม้ว่าวิลเลียมส์ จะประสบความสำเร็จมากกว่าที่ผู้เล่นเทนนิสส่วนใหญ่สามารถทำได้แล้ว แต่เธอยังไม่เคยคว้าเหรียญทองประเภทหญิงเดี่ยวในการแข่งขันโอลิมปิก

นั่นคือปัจจัยผลักดันที่ทำให้นักเทนนิสวัย 30 ปีในขณะนั้น ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ในปี 2011 กับการพักฟื้นจากแผลแก้วบาดที่เท้า และโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในกรุงลอนดอนของอังกฤษ และสามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จทั้งในประเภทหญิงเดี่ยวและหญิงคู่

“ฉันคิดว่า ‘อาชีพฉันคงจบแล้ว’ ฉันได้เหรียญทองแล้ว และตอนนี้ ฉันมีทุกอย่างแล้ว” เธอกล่าว

วิลเลียมส์ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม เอาชนะคู่ปรับเก่าอย่างชาราโปวาไปได้ 6-0 และ 6-1 เธอแสดงความดีใจด้วยท่าเต้นที่เป็นเอกลักษณ์

7. วิมเบิลดัน ปี 2015 – ทำ “เซเรนา สแลม” ได้เป็นครั้งที่ 2

เซเรนา วิลเลียม ระหว่างการแข่งขันวิมเบิลดัน ปี 2015

ที่มาของภาพ, Getty Images

หนึ่งในลักษณะเด่นของวิลเลียมส์คือ ความสามารถในการฟื้นตัวกลับคืนมาได้รวดเร็ว และครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะดีกว่าที่เคยทำมา

หลังจากที่สร้างผลงานได้อย่างไม่ดีนักในวิมเบิลดันปี 2014 ไม่นานเธอก็กลับมาทำผลงานได้ยอดเยี่ยมและคว้าชัยยูเอส โอเพ่น ได้ในอีก 2 เดือน ต่อมา

นั่นคือการเริ่มต้นการคว้าชัยรายการใหญ่พร้อมกันอีกรอบหนึ่ง โดยหากวิลเลียมส์ในวัย 33 ปี คว้าชัยวิมเบิลดันได้ ก็จะเป็นการทำ “เซรานา สแลม” ได้เป็นครั้งที่ 2

เธอดูจะประหม่าในช่วงแรก ก่อนที่จะเล่นได้ดีขึ้นและเอาชนะการ์บีเญ มูกูรูซา จากสเปนไปได้ 6-4 และ 6-4 เป็นการคว้าแชมป์หญิงเดี่ยวรายการใหญ่ครั้งที่ 21 ของเธอ

8. ออสเตรเลียน โอเพ่น ปี 2017 – แซงหน้าสถิติของกราฟ ขณะตั้งท้อง

วีนัส วิลเลียม และเซเรนา วิลเลียม ถ่ายรูปกับถ้วยออสเตรเลีย โอเพ่น ปี 2017

ที่มาของภาพ, Getty Images

หลังจากที่ทำสถิติในยุคโอเพ่นได้เทียบเท่ากับของสเตฟฟี กราฟ ด้วยการคว้าแชมป์รายการใหญ่ได้ 22 ครั้ง ในการแข่งขันวิมเบิลดัน ปี 2016 และเฝ้ารอว่า เมื่อไหร่จะทำสถิติแซงหน้ากราฟ นักเทนนิสที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมนีได้

เธอพลาดโอกาสนั้นหลังจากแพ้คาโรลินา พลิสโควา ในการแข่งขันยูเอส โอเพ่น รอบรองชนะเลิศ แต่วิลเลียมส์ก็ทำสำเร็จในโอกาสครั้งต่อไปของเธอในศึกออสเตรเลียน โอเพ่น 2017

แต่ที่สร้างความตกตะลึงไปยิ่งกว่านั้นคือ ในเดือน เม.ย. ราว 12 สัปดาห์ หลังจากที่เธอคว้าแชมป์รายการนี้ เซเรนา เปิดเผยว่า เธอกำลังตั้งท้อง เมื่อคำนวณแล้ว ในช่วงที่เธอเอาชนะวีนัส พี่สาวของเธอ เธอตั้งได้ประมาณ 8 สัปดาห์

9. อินเดียน เวลส์ ปี 2018 – กลับมาตระเวนแข่งอีกครั้ง หลังจากเกือบเสียชีวิตช่วงคลอดลูก

เซเรนา วิลเลียมส์ โบกมือให้ผู้ชมการแข่งขัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ห้าเดือนหลังจากให้กำเนิดลูกสาว โอลิมเปีย ในเดือน ก.ย. 2017 วิลเลียมส์เปิดเผยว่า เธอเกือบเสียชีวิตหลังจากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ขณะคลอดลูกด้วยการผ่าตัด

“ฉันโชคดีที่รอดชีวิตมาได้” เธอ กล่าว

นักเทนนิสวัย 36 ปี ฟื้นตัวอย่างเต็มที่และกลับมาลงแข่งอีกครั้งในเดือน มี.ค. ปี 2018

โดยเริ่มที่การแข่งขันอินเดียน เวลส์ ซึ่งเธอเคยพ่ายต่อวีนัส 17 ปีผ่านไปแล้วนับจากเหตุการณ์ที่ทำให้พี่น้องวิลเลียมส์บอยคอตการแข่งขันนี้นาน 14 ปี และเธอยังผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศวิมเบิลดันและยูเอส โอเพ่น ในปีนั้นด้วย

แม้ว่าวิลเลียมส์จะแพ้ในรอบชิงชนะเลิศทั้งสองรายการ แต่เธอก็ทำให้เห็นว่า เธอยังอยู่ในกลุ่มนักเทนนิสที่ยอดเยี่ยม

10. ออกแลนด์ ปี 2020 – สร้างประวัติศาสตร์เพิ่มเติมในการแข่งขันเทนนิสเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 ของเธอ

เซเรนา วิลเลียมส์ ฉลองชัยชนะการคว้าแชมป์ออกแลนด์ คลาสสิก ในปี 2020 กับโอลิมเปีย ลูกสาวของเธอชื่อ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ท่ากำหมัดชูขึ้นกลางอากาศทั้งสองแขน และเอนศรีษะไปด้านหลัง แผดเสียงแสดงความดีใจ เป็นท่าทางที่เราคุ้นเคยของวิลเลียมส์

ไฟในตัวเธอยังไม่มอดไหม้ ชัยชนะของเธอเหนือเจสซิกา เพกูลา ในการแข่งขันออกแลนด์ คลาสสิก (Auckland Classic) รอบชิงชนะเลิศ มีความสำคัญ 2 อย่างคือ เป็นการคว้าแชมป์ในฐานะแม่ครั้งแรก และยังทำให้นักเทนนิสวัย 38 ปี ในขณะนั้นเป็นผู้เล่นคนแรกที่สามารถคว้าแชมป์หญิงเดี่ยว WTA ได้ในทั้ง 4 ทศวรรษ

……

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว