ปากคำเหยื่อแก๊งค้ามนุษย์ที่หลอกไปทำ “คอลเซ็นเตอร์” ในกัมพูชา

งานง่าย ๆ ในต่างประเทศ, เงินเดือนก้อนใหญ่ และโอกาสที่จะได้อยู่ในโรงแรมหรูพร้อมเทรนเนอร์ส่วนตัว ข้อเสนอที่ฟังดูดีเช่นนี้ทำให้ หยาง เวบิน ตอบตกลงย้ายจากไต้หวันไปทำงานขายสินค้าผ่านโทรศัพท์ที่กัมพูชาโดยทันที 

ชาวไต้หวันคนนี้อายุ 35 ปี อาชีพพนักงานนวดของเขาทำเงินไม่ได้มาก และยังต้องดูแลพ่อที่กำลังรักษาตัวหลังเส้นเลือดในสมองแตก

แต่เมื่อเดินทางไปถึงกรุงพนมเปญ กลุ่มผู้ชายหลายคนขับรถพาเขาไปยังตึกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนถนนที่ไร้ผู้คน เขาถูกยึดหนังสือเดินทางและถูกพาไปอยู่ที่ห้องเปล่า ๆ ห้องหนึ่ง และได้รับแจ้งว่าเขาไม่สามารถออกไปจากที่นี่ได้

“ผมเพิ่งรู้ตอนนั้นว่ามาผิดที่เสียแล้ว เพิ่งรู้ว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายมาก ๆ”

เวบิน เป็นหนึ่งในคนหลายพันคนที่โดนแก๊งค้ามนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลอกว่าจะได้งานที่ดีและได้รับค่าตอบแทนสูง ตอนนี้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงอินโดนีเซีย, เวียดนาม, มาเลเซีย, ฮ่องกง และไต้หวัน ออกมาแจ้งเตือนเรื่องนี้แล้ว หลายคนถูกหลอกให้เดินทางไปกัมพูชา, เมียนมา และไทย แต่เมื่อไปถึงที่ พวกเขาถูกกักขังและใช้ให้ทำงานให้ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ต้มตุ๋นผู้คน

เหยื่อ

ที่มาของภาพ, MIRROR WEEKLY

การค้ามนุษย์เป็นปัญหาที่มีมายาวนานแล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้มุ่งเป้าไปที่เหยื่อกลุ่มใหม่ โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาวที่มีการศึกษาดี ใช้คอมพิวเตอร์เป็น และส่วนใหญ่พูดภาษาในภูมิภาคได้มากกว่าหนึ่งภาษา

แก๊งอาชญากรรมเหล่านี้เห็นว่าพวกเขาเป็น “แรงงานมีทักษะ” ที่จะสามารถมาช่วยก่ออาชญากรรมทางโลกออนไลน์ได้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการหลอกเป็นคนรัก, การฉ้อโกงเรื่องสกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี, การฟอกเงิน ไปจนถึงการพนันอย่างผิดกฎหมาย

ชี ทิน จากเวียดนามบอกกับบีบีซีว่า เขาต้องแกล้งเป็นผู้หญิงและพยายามหาเพื่อนในโลกออนไลน์ เขาถูกบังคับให้หาเพื่อนให้ได้ 15 คนต่อวัน และชักชวนให้มาเล่นการพนันและลอตเตอรี่ออนไลน์ให้ได้

“ในจำนวนนี้ ผมต้องโน้มน้าวให้คน 5 คนเติมเงินลงไปในบัญชีเล่นเกมให้ได้”
“ผู้จัดการบอกผมให้ทำงานแต่โดยดี อย่าพยายามหนีหรือขัดขืน ไม่งั้นผมจะถูกนำตัวไปห้องทรมาน หลายคนบอกผมว่าหากพวกเขาไม่สามารถทำงานได้ตามยอด พวกเขาจะต้องอดข้าวและก็โดนทุบตี”

ผลลัพธ์คือเหยื่อหลายคนได้รับความกระทบกระเทือนด้านจิตใจและร่างกายอย่างรุนแรง เหยื่อชาวเวียดนามสองคนซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อบอกกับบีบีซีว่า พวกเขาโดนทุบตี ใช้ไฟช็อต และถูกขายไปให้แก๊งต้มตุ๋นหลายแห่ง

หนึ่งในนั้นเป็นผู้หญิงอายุ 15 ปี หน้าเธอเสียโฉมจากการทารุณ ตั้งแต่กลับบ้านมา เธอลาออกจากโรงเรียนเพราะละอายใจเวลาต้องไปเจอหน้าเพื่อน

อีกคนหนึ่งเป็นชายอายุ 25 ปี เขาให้ดูภาพที่ผู้คุมขังถ่ายตัวเขาไว้เพื่อใช้เรียกค่าไถ่จากครอบครัวเขา ในภาพ เขาถูกใส่กุญแจมือมัดกับเตียงและเห็นแผลชัดเจนที่เข่าซึ่งเขาถูกไฟฟ้าช็อต

.

เหยื่อเหล่านี้ได้รับแจ้งให้จ่าย “หนี้” คืนให้กับแก๊งต้มตุ๋นหากว่าอยากออกไปจากที่ถูกคุมขัง นั่นก็คือให้จ่ายค่าไถ่นั้นเอง หรือไม่ก็เสี่ยงถูกขายต่อไปให้แก๊งต้มตุ๋นอีกที่ ในกรณีของ ชี ทิน ครอบครัวเขารวบรวมเงินจนได้ 2,600 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 110,000 บาท เพื่อแลกกับเสรีภาพของเขา

คนที่ไม่มีเงินไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพยายามหลบหนี เมื่อเดือนที่แล้ว ชาวเวียดนามมากกว่า 40 คนที่ถูกขังอยู่ในคาสิโนในกัมพูชาหนีออกจากที่พักและพยายามว่ายน้ำข้ามพรมแดน มีเด็กวัย 16 ปีคนหนึ่งที่เสียชีวิตหลังถูกกระแสน้ำพัดไป

นอกจากในกัมพูชาแล้ว แก๊งต้มตุ๋นก็ดำเนินการอยู่ที่จังหวัดติดพรมแดนในไทยและเมียนมาด้วย รายงานหลายชิ้นระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วดูเหมือนเป็นเจ้าของโดยหรือมีความเชื่อมโยงกับชาวจีน

องค์กรช่วยเหลือ Global Anti-Scam Organization (Gaso) บอกว่าบ่อยครั้งที่แก๊งเหล่านี้เป็นฉากบังหน้าให้กับองค์กรอาชญากรรม

แจน ซานเทียโก โฆษกของ Gaso บอกว่า หลายแก๊งมีโครงสร้างละเอียดซับซ้อน มีทั้งฝ่ายไอที ฝ่ายการเงิน และฝ่ายฟอกเงิน แก๊งที่ใหญ่กว่านั้นเป็นเหมือนบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีทั้งโครงการฝึกสอนวิธีต้มตุ๋น มีรายงานความก้าวหน้า และเป้ายอดการขาย

นอกจากนี้ พวกเขายังดำเนินการแบบข้ามชาติด้วย และบ่อยครั้งที่ไปร่วมมือกับแก๊งอาชญากรในพื้นที่ในการต้มตุ๋นหรือรับคนเข้ามาทำงาน เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการไต้หวันออกมาบอกว่า มีองค์กรอาชญากรรมในพื้นที่กว่า 40 กลุ่มที่พัวพันกับปฏิบัติการค้ามนุษย์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แม้ว่าการต้มตุ๋นลักษณะนี้โดยชาวจีนมีมานานแล้ว แต่ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าโควิดทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป จากที่เคยมุ่งเป้าไปที่เหยื่อชาวจีน มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในจีนทำให้แก๊งเหล่านี้หันไปหาเหยื่อจากประเทศอื่นในภูมิภาคแทน และในตอนนั้นก็มีคนหางานมากขึ้นเพราะเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ กำลังบอบช้ำจากวิกฤตโควิด

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า อีกปัจจัยหนึ่งคือ การลงทุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative – BRI) ทำให้ประเทศต่าง ๆ เชื่อมต่อกันง่ายขึ้นและองค์กรอาชญากรรมก็สามารถขยายกิจการไปได้ไกลมากขึ้น

เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการไทยจับกุมตัว เฉอ จี้เจียง นักธุรกิจจีนผู้ลงทุนไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงคาสิโนมูลค่านับพันล้านดอลลาร์และกลุ่มอาคารเพื่อการท่องเที่ยวในเมียนมาที่ชื่อ ชเวก็อกโก่ (Shwe Kokko)

องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ หรือตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ต้องการตัวเขา โดยบอกว่าเขาเป็นหัวหน้าแก๊งอาชญากรรมที่เปิดให้มีการพนันอย่างผิดกฎหมายในภูมิภาคนี้ เหยื่อหลายคนกล่าวหาว่าพวกเขาถูกขาย กักขัง และทรมานอยู่ในบริเวณกลุ่มอาคารของนาย เฉอ จี้เจียง ซึ่งรู้จักกันด้วยชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า “KK Park”

เพิ่งไม่นานมานี้เองที่ตำรวจกัมพูชาร่วมมือกับทางการไทย มาเลเซีย และเวียดนาม ในการบุกค้นและให้การช่วยเหลือเหยื่อแก๊งต้มตุ๋น

รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยกัมพูชายอมรับว่า นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแต่ก็บอกว่าส่วนใหญ่ดำเนินการโดยชาวต่างชาติ

อย่างไรก็ดี จากรายงานด้านการค้ามนุษย์โดยกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ปีนี้ เหยื่อและองค์กรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐบาล บอกว่า ตำรวจ ผู้พิพากษา และเจ้าหน้าที่ทางการด้านอื่น ๆ ของกัมพูชามีส่วนรู้เห็นด้วย โดยร่วมมือกับผู้ค้ามนุษย์ หรือไม่ก็รับสินบนเพื่อแลกกับการยกฟ้องในคดีต่าง ๆ

รายงานดังกล่าวระบุว่าแม้จะมี “ข้อกล่าวหาที่น่าเชื่อถือได้” แต่เจ้าหน้าที่หลายคนไม่ได้ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด

เปปปี คิวินเนมซิดิค จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอโอเอ็ม (International Organization for Migration – IOM) ของสหประชาชาติ บอกว่า รัฐบาลบางประเทศต้องปรับกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ให้ทันสมัยขึ้น ต้องมีระบบสนับสนุนแก่เหยื่อ และฝ่ายบังคับใช้กฎหมายของแต่ละชาติต้องให้ความร่วมมือกันมากขึ้น โดยเธอยอมรับว่า “เป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้เวลา”

ระหว่างนี้ หลายประเทศพยายามจะให้ความรู้กับสาธารณชนถึงความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อแก๊งต้มตุ๋น บางประเทศเพิ่มมาตราการตรวจตราเวลาคนจะเดินทางไปยังจุดหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ ให้ตำรวจไปตั้งด่านที่สนามบินเพื่อสอบถามว่าพวกเขาจะเดินทางไปทำอะไร เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการอินโดนีเซียไปสกัดเที่ยวบินพิเศษหลายเที่ยวที่จะพาคนงานหลายร้อยคนไปที่เมืองสีหนุวิลล์
มีการตั้งกลุ่มอาสาสมัครขึ้นในหลายประเทศ อาทิ กลุ่ม Gaso เพื่อช่วยเหยื่อสามารถหลบหนีและกลับบ้านได้ อาสาสมัครหลายคนเคยเป็นเหยื่อมาก่อน อย่างเช่น เวบิน

หลังถูกกักขังอยู่ 58 วันในเกาหลี เวบิน หลบออกมาได้ด้วยการคลานหนีออกจากบริเวณที่ถูกกักขังขณะที่ยามไม่ได้มอง ด้วยการช่วยเหลือจากนักเคลื่อนไหวต่อต้านแก๊งต้มตุ๋น ตอนนี้เขาได้กลับบ้านและมาทำงานเดิมแล้ว แต่ตอนนี้ผู้ที่มารับบริการนวดเขาจะสามารถอ่านป้ายที่เขียนด้วยลายมือบอกเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายในกัมพูชาไปด้วย นอกจากนี้ เขายังไปบอกเล่าเรื่องราวของเขาบนโลกออนไลน์และในสื่อไต้หวันด้วย

“คนหลายคนอยากมีชีวิตดี ๆ และมีความฝันที่เกินความเป็นจริง [เกี่ยวกับอาชีพการงาน] ตอนนี้ผมแนะนำให้คนมองโลกตามความเป็นจริงมากกว่าเดิม” เขาบอกกับบีบีซี

“คุณหาเงินจากที่ไหนก็ได้ คุณไม่จำเป็นต้องไปเสี่ยงขนาดนั้นที่เมืองนอก เมืองนอกเต็มไม่ด้วยสิ่งที่คุณไม่รู้จัก มันสามารถทำลายชีวิตคนในแบบที่คุณไม่อาจจินตนาการได้เลย”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว