รัสเซีย ยูเครน : ปธน.วลาดิเมียร์ ปูติน กำลังคิดและวางแผนอะไร

  • สตีฟ โรเซ็นเบิร์ก
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีในกรุงมอสโก

นี่เป็นคำถามที่เราถามกันมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่ก่อนรัสเซียบุกรุกรานยูเครนเสียอีก

ต้องขอบอกก่อนว่าผมไม่สามารถอ่านใจผู้นำรัสเซียคนนี้ได้ และก็ไม่สามารถต่อสายตรงไปหาเขาได้

อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยบอกว่ามองตาปูตินก็เข้าใจไปถึง “จิตวิญญาณ” ชายคนนี้ แต่ดูสิว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกเป็นอย่างไรตอนนี้

ดังนั้นการคาดเดาว่าเขาคิดอะไรเป็นเรื่องยากมาก แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพยายาม

ที่แน่ ๆ คือตอนนี้นายปูตินกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนัก สิ่งที่เขาเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ควรจะเสร็จสิ้นภายในไม่กี่วันแต่ตอนนี้ยืดเยื้อมาเกือบ 8 เดือนแล้วและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ

เมื่อเดือนที่แล้ว ปธน. ปูติน ต้องเพิ่มกำลังพลทหารด้วยการเรียกกำลังพลสำรองบางส่วนแม้ว่าก่อนหน้านี้เคยย้ำว่าจะไม่ทำ ขณะเดียวกันมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียมากขึ้นเรื่อย ๆ

แบบนี้แสดงว่านายปูตินคิดว่าเขาคิดผิดหรือเปล่า เขาคิดหรือไม่ว่าการบุกรุกรานยูเครนเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่

อย่าคิดอย่างนั้น

“สถานการณ์การทั้งหมดในความขัดแย้งครั้งนี้ขับเคลื่อนไปตามการรับรู้และความเข้าใจของปูติน” คอนสแตนติน เรมชูคอฟ เจ้าของและบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์รัสเซีย Nezavisimaya Gazeta ระบุ

รถถังยูเครน

ที่มาของภาพ, EPA

เรมชูคอฟบอกว่า ปูตินเป็นผู้นำเผด็จการที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในมือ เขาเป็นผู้นำที่ไม่มีใครท้าทายในประเทศนี้ สิ่งที่เขาเข้าใจและความเชื่อที่แรงกล้าทำให้เขาบ้า ปูตินเริ่มเชื่อว่านี่เป็นเรื่องของความอยู่รอด ไม่ใช่เฉพาะของตัวเขาเอง แต่ของรัสเซียด้วย

หากนี่เป็นเรื่องของความอยู่รอด ปธน. ปูติน พร้อมจะลุยแค่ไหนเพื่อชัยชนะ

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อาวุโสรัสเซียรวมถึงปูตินเองออกมาเปรยว่ารัสเซียพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามครั้งนี้

“ผมไม่คิดว่าเขาจะทำ” ประธานาธิบดีโจ ไบเดน บอกกับซีเอ็นเอ็น “แต่ผมคิดว่าเขาช่างไร้ความผิดชอบที่พูดถึงมัน[อาวุธนิวเคลียร์]”

การถล่มโจมตียูเครนระลอกใหม่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่ารัสเซียพร้อมที่จะทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น

แต่พวกเขาจะทำเช่นนั้นกับชาติตะวันตกด้วยหรือเปล่า

“เขาพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงกับชาติตะวันตก แต่ขณะเดียวกันเขาก็พร้อมที่จะทำเช่นนั้น” นักการเมืองแนวคิดเสรีนิยมอาวุโส กริกอรี ยาฟลินสกี ระบุ “ผมกลัวว่าจะเกิดความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่สุด รองลงมาคือกลัวว่าสงครามที่ไม่วันสิ้นสุด”

แต่ “สงครามที่ไม่มีวันสิ้นสุด” ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลด้วย และดูเหมือนรัสเซียจะไม่มีสิ่งนั้น การยิงขีปนาวุธไปเมืองต่าง ๆ ในยูเครนแสดงถึงแสนยานุภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่พวกเขาจะทำเช่นนั้นไปได้นานแค่ไหน

คอนสแตนติน เรมชูคอฟ บอกว่า จากมุมมองทางการทหาร ไม่มีใครตอบได้ว่าสิ่งที่บ่งบอกถึง ”ชัยชนะ” คืออะไร

“ในปี 1945 มันคือการชูธงเหนือเบอร์ลิน แต่อะไรคือเกณฑ์ของความสำเร็จในตอนนี้ [ธง]เหนือเคียฟเหรอ? เหนือแคร์ซอน? เหนือคาร์คิฟ? ผมไม่รู้ ไม่มีใครรู้”

ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนเลยว่า ปธน.ปูติน เองรู้หรือเปล่า

ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ. รัสเซียต้องการยึดกรุงเคียฟให้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องสู้รบกันยืดเยื้อ แต่ปูตินคำนวณพลาด เขาคาดไม่ถึงว่ากองทัพและชาวยูเครนจะมุ่งมั่นปกป้องดินแดนขนาดนี้ และเขาก็คาดว่ากองทัพตัวเองจะมีประสิทธิภาพกว่านี้

แล้วตอนนี้ปูตินกำลังคิดอะไร จะควบคุมดินแดนที่เขาผนวกมาเป็นของตัวเองให้เหนียวแน่นและยุติความขัดแย้ง หรือเขาตั้งใจจะเดินหน้ายึดทั้งยูเครนมาเป็นของตัวเองให้ได้

ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย บอกว่า โครงสร้างของรัฐยูเครนในปัจจุบันจะเป็นความเสี่ยงโดยตรงต่อรัสเซีย “ผมเชื่อว่าจุดมุ่งหมายของการลงมือในอนาคตของเราควรเป็นการรื้อถอนระบอบการปกครองทางการเมืองของยูเครนตอนนี้”

หากคำพูดของเมดเวเดฟสะท้อนสิ่งที่ปูตินคิดอยู่ เราก็เตรียมเห็นกับสงครามที่นองเลือดและยืดเยื้อได้เลย

อย่างไรก็ดี การกระทำของปูตินในต่างประเทศจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเขาในสายตาคนในประเทศ

หลายปีที่ผ่านมา ชนชั้นปกครองรัสเซียพยายามวาดภาพว่าเขาเป็นสัญลักษณ์แห่งเสถียรภาพ พยายามให้ประชาชนรัสเซียเชื่อว่าพวกเขาจะปลอดภัยตราบใดที่ปูตินครองอำนาจอยู่

ตอนนี้กลยุทธ์นี้อาจได้ผลยากแล้ว

“ก่อนหน้านี้ สัญญาระหว่างปูตินกับสังคมคือ ‘ผมจะปกป้องคุณ’…” เรมชูคอฟ กล่าว

“หลายปีที่ผ่านมา สโลแกนหลักคือความคาดเดาได้ แต่ทุกวันนี้เราคาดเดาอะไรกันได้บ้าง ความคิดนี้ไม่มีอยู่แล้ว ไม่มีอะไรคาดเดาได้อีกต่อไป นักข่าวในสังกัดผมไม่รู้ว่าจะได้รับจดหมายเรียกไปเป็นทหารหรือเปล่าเมื่อกลับบ้านไปเย็นนี้”

นักการเมืองอย่างยาฟลินสกี บอกว่า เขาไม่แปลกใจเลยที่รัสเซียบุกรุกรานยูเครน โดยบอกว่าปูตินพยายามเตรียมการมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดการกับสื่ออิสระซึ่งเริ่มในปี 2001 มาจนถึงปฏิบัติการในไครเมียและดอนบาสเมื่อปี 2014

“ปัญหาของรัสเซียคือระบบของเรา ระบบที่สร้างขึ้นที่นี่และสร้างคนอย่างปูตินขึ้น คำถามที่สำคัญมากคือ โลกตะวันตกมีบทบาทอย่างไรในการสร้างระบบแบบนี้ในรัสเซียขึ้น”

“ปัญหาคือระบบนี้ไม่ได้สร้างสังคมขึ้น มีคนดี ๆ มากมายในรัสเซีย แต่รัสเซียไม่มีการรวมตัวกันเป็นภาคประชาสังคม (civil society) นั่นเป็นเหตุผลที่[คนใน]รัสเซียไม่สามารถลุกขึ้นต้านทานได้”

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว