เกาหลีใต้ : เปิดห้องเรียนภาษาที่อุดรธานี สู่ใบเบิกทางแรงงานหนุ่มสาวในแดนกิมจิ

หากลองพิมพ์คำค้นหาว่า “โรงเรียนสอนภาษาเกาหลี” ในอินเทอร์เน็ต โรงเรียนที่ตั้งชื่ออย่างเช่น โคเรีย ฮวาซอง โกโกโคเรีย จะปรากฏในผลการค้นหานั้น  คุณผู้อ่านอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่า โรงเรียนเหล่านี้จำนวนไม่น้อยอยู่ในภาคอีสาน

และหากลองเข้าไปดูรายละเอียดอีกหน่อย จะพบว่านักเรียนหนุ่มสาวที่มาเรียนไม่ได้มาเรียนเพราะกระแสซีรีส์เกาหลีหรือเค-ป็อป แต่ล้วนเป็นผู้ที่กำลังเตรียมตัวสอบไปทำงานที่เกาหลีใต้ต่างหาก

ช่วงสายวันหนึ่งของเดือน พ.ย. ที่โรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี โรงเรียนฝึกอาชีพเอกชนใน อ.เมือง จ.อุดรธานี หนุ่มสาววัยตั้งแต่ 23 ขึ้นไป ราว 30 คน กำลังเริ่มต้นเรียนเรื่องสระเดี่ยวของภาษาเกาหลี 10 ตัว ในชั่วโมงแรกของการเรียน

ตัวอักษรและสระที่เป็นเส้น ๆ ขีด ๆ ในรูปทรงต่าง ๆ ที่ต่างจากภาษาไทยอย่างสิ้นเชิง ชวนให้ผู้เขียนรู้สึกถึงความยากในการเริ่มต้นเรียนภาษาใหม่ ๆ ที่ต้องเรียนรู้พื้นฐานทั้งหมดในเวลาเพียง 5 สัปดาห์

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ภูเก็ต นครพนม หนองบัวลำภู และจังหวัดอื่น ๆ ในแถบภาคอีสาน คือ จังหวัดที่นักเรียนหนุ่มสาวจากหลายอาชีพจากมา เพื่อเข้าเรียนในคอร์สนี้

หญิงสาวคนหนึ่งบอกว่า เธอถึงขนาดลาออกจากเป็นพนักงานที่ร้านทอง เพื่อมาเตรียมตัวเรียนโดยเฉพาะ

“เขม” จิราพร เติ้นสิริรักษ์ หญิงสาวจาก จ.ลำปาง วัย 26 ปี วาดหวังที่จะไปทำงานเกาหลีใต้ เพราะรายได้ที่สูงกว่าเมืองไทยหลายเท่ากว่าการช่วยแม่ของเธอที่ร้านขายของชำที่บ้าน หลังจากหางานด้วยวุฒิการศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่บ้านเกิดลำปางไม่ได้

“ถ้าเราอยู่บ้านเรา เราก็ได้เงินแค่นี้ มันพอใช้ แต่มันไม่พอเก็บ”

ญาติ ๆ ของเขมในลำปาง ล้วนไปทำงานที่เกาหลี เธอบอกว่า บางคนเสียเงินไป 70,000-80,000 บาท ไปแบบ “ผีน้อย” แต่อยู่ได้แค่ 3 เดือน ก็ถูกจับกุมและส่งกลับ ประสบการณ์ที่คนรอบตัวเขมเจอ ทำให้เธอตัดสินใจเลือกหนทางการจัดส่งในระบบ

“ถ้าไปเป็นผีน้อย โดนจับกลับ ต้องติดคุกเขาก่อน ถ้า ตอนนั้นเราไม่มีเงินติดตัวเลย เราก็ยังไม่ได้กลับจนกว่าจะมีเงิน ถึงจะซื้อตั๋วกลับได้ มันดูแล้วมันลำบากตรงนี้ ถ้าสักวันนึงเราไป แล้วเราป่วย หาหมอไม่ได้มันก็แย่ เลยเลือกจะเรียนเลยดีกว่า”

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

เขม เป็นหนึ่งในแรงงานไทยจำนวนปีละหลายหมื่นคน ที่เลือกทำเช่นนี้ และขั้นแรกของหลาย ๆ คน คือ การมาเข้าคอร์สเรียนภาษาเกาหลี เพื่อเตรียมตัวสอบความสามารถทางภาษาและทักษะการทำงาน ซึ่งเป็นการสอบที่เกาหลีใต้กำหนดในการสมัครไปทำงานผ่านระบบการจ้างงานแรงงานต่างชาติ (EPS – Employment Permit System)

ความนิยมในการไปทำงานเกาหลีใต้ของกลุ่มแรงงาน ซึ่งมีรายได้ต่อเดือนเริ่มตั้งแต่ราว 50,000-60,000 บาท ทำให้มีคนสมัครทดสอบภาษาและทักษะการทำงานปีละหลายหมื่นคน

โรงเรียนสอนภาษาเกาหลีเช่นเดียวกับที่นี่จึงมีจำนวนมากในไทย และกล่าวได้ว่ามีมากที่สุดในภาคอีสาน เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม โดยเฉพาะอุดรธานี ที่มีถึง 8 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามตัวเลขของกองบริหารแรงงานไปต่างประเทศ กรมการจัดหางานที่บันทึกไว้ว่า ประชากรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดินทางไปทำงานต่างประเทศสูงกว่าภาคอื่น

เปิดห้องเรียน 5 สัปดาห์ สู่ใบเบิกทางทำงานที่เกาหลี

อาคารสองชั้น 2-3 หลังในบริเวณเดียวกัน ที่มีทั้งห้องฝึกอาชีพ ห้องเรียนสอนทำงานอาหารที่นักเรียนในชุดกุ๊กสีขาวกำลังเรียนอยู่ และห้องเรียนที่มีโต๊ะเก้าอี้เลคเชอร์เสมือนในมหาวิทยาลัย คือ สถานที่ภายในโรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี โรงเรียนนอกระบบที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง และเปิดตั้งแต่ปี 2532

โรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนทั้งภาษาญี่ปุ่น และภาษาเกาหลี ใน 1 ปี มีการเปิดสอนทุก 2 สัปดาห์ โดยช่วงที่มีการเปิดรับสมัครทดสอบภาษาเกาหลี จะมีนักเรียนมาลงเรียนเตรียมสอบมากกว่ารอบอื่น ๆ ซึ่งเจ้าของโรงเรียนบอกว่า บางปีมีคนมาเรียนภาษาเกาหลีรวมทั้งปีกว่า 3,000 คน

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

อมร อินทรโชติ ผู้บริหารโรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ผู้ที่มาเรียนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ หลายการศึกษา และเดินทางมาจากจากหลายจังหวัดไม่เฉพาะในอีสาน

“คนไทยส่วนใหญ่เน้นประเทศเกาหลีอันดับหนึ่ง เรื่องการเปลี่ยนแปลงไม่มี มีแต่จะเปลี่ยนจากประเทศอื่นเป็นมาไปเกาหลี” อมร ระบุ

ภายในห้องเรียนชั้น 1 “ครูนุ๊กนิ๊ก” จิรนันท์ เสียงใส ครูวัย 28 ปี กำลังสอนพื้นฐานของภาษา เธอบอกกับบีบีซีไทยว่า คอร์สเรียนสำหรับแรงงานต้องเตรียมตัวผู้เรียนให้มีทักษะพื้นฐานการสื่อสารให้ได้ใน 5 สัปดาห์ ซึ่งต่างจากชั้นเรียนภาษาของระดับมัธยมที่เธอเคยสอน ใช้เวลาเรียนระดับพื้นฐานภาษา 2 ปี

“ภาษาเกาหลีเป็นภาษาใหม่สำหรับนักเรียน และการเรียนไม่จำกัดวุฒิการศึกษามันก็ยากนิดนึง เพราะระดับการเรียนแต่ละคนไม่เท่ากัน”

จิรนันท์ เล่าถึงกระบวนการเรียนในห้องว่า สัปดาห์แรกเป็นการปูพื้นฐานตั้งแต่พยัญชนะ สระ ตัวสะกด เพื่อให้อ่านออกเขียนได้ ในระดับที่เรียนรู้คำศัพท์เป็นคำ ๆ ได้ สัปดาห์ที่สอง จะเข้าสู่ไวยากรณ์ พร้อม ๆ กับแนวข้อสอบ และแทรกเรื่องคำศัพท์ และจะเป็นรูปแบบนี้จนครบ 5 สัปดาห์ โดยข้อสอบส่วนที่ยากคือ การอ่านจับใจความ การเติมคำที่ต้องใช้ไวยากรณ์ คำศัพท์เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน และคำศัพท์ในงานทั้งอุตสาหกรรม เกษตร ก่อสร้าง

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

คนรุ่นใหม่ กลายเป็นผู้เรียนกลุ่มหลัก

โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนจากหลาย ๆ จังหวัด หลายห้องเรียนอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ราว 22 ปี ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์อายุที่เกาหลีเปิดรับ คือ ต้องมีอายุระหว่าง 18-39 ปี

“ก้อย” จุฑามาศ ไกรษร หญิงวัย 34 อาชีพนวดสปาอิสระ เดินทางมาจาก จ.ตราด เพื่อมาเรียนคอร์สนี้โดยเฉพาะ และเธอเป็นผู้เรียนที่อายุมากที่สุดในห้อง

ก้อย ทำงานหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่ช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นพนักงานพีอาร์สินค้าในห้าง จนช่วงที่ยุติการเรียนไปก็ทำมาหลากหลายอาชีพ ทั้งในโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่นวนคร โรงงานยาง ทำนา งานประจำสุดท้ายคือ พนักงานนวดสปาที่มาเลเซีย แต่เมื่อมีโควิดก็เดินทางกลับบ้าน

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ก้อย ทำงานหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่ช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นพนักงานพีอาร์สินค้าในห้าง จนช่วงที่ยุติการเรียนไปก็ทำมาหลากหลายอาชีพ ทั้งในโรงงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่นวนคร โรงงานยาง ทำนา งานประจำสุดท้ายคือ พนักงานนวดสปาที่มาเลเซีย แต่เมื่อมีโควิดก็เดินทางกลับบ้าน

ถ้าให้กลับไปตอนนี้อีกครั้ง เธอบอกว่าค่าเงินริงกิตตกลงไปหลายบาท ไม่คุ้มกับค่าเหนื่อย จึงหันหน้ากลับเมืองไทย

“ทำงานที่ไทยเราก็เหนื่อย เกาหลีเราไปทำงานก็เหนื่อย แต่ว่าค่าตอบแทน มันสูงมันต่ำไม่เท่ากัน ดังนั้นเราก็ต้องลองวัดดวงดู” ก้อย เล่าอย่างมุ่งมั่น พร้อมกับเทียบค่าแรงให้ดูว่า ทำงานที่เกาหลีใต้ก็ได้ค่าแรงขั้นต่ำของที่คิดเป็นเงินไทยเกือบ 2,000 บาทต่อชั่วโมง

ไม่ต่างจาก สุทัศน์ ศิริศิลป์ หนุ่มวัย 28 จากนครพนม ซึ่งเรียนจบชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ตัดสินใจกลับมาทำงานที่บ้าน มาได้ 1 ปี หลังจากเข้าไปทำงานในบริษัทด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ที่กรุงเทพฯ เขาบอกว่า เหตุที่เลือกกลับบ้าน เพราะรายได้ที่หักค่าครองชีพแล้ว ไม่ต่างจากการกลับมาทำงานเป็นช่างทำมีดสวยงามที่บ้านเกิด

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

จุดเปลี่ยนของเขา คือ การต้องรับภาระจำนองที่ดินของครอบครัว ซึ่งสุทัศน์บอกว่า หากอยู่เมืองไทย เพียงจ่ายหนี้ก็หมดแล้ว ไม่มีหวังได้มีทุน

“แต่ก่อนผมไม่คิดว่ากลับมาอยู่บ้านจะมีภาระตรงนี้ขึ้นมา ยังเลี้ยงพ่อแม่ได้อยู่มีเงินเก็บบ้าง ทีนี้ต้องมาจ่ายหนี้ส่วนนี้ จึงไม่มีเงินเก็บแต่ละเดือน”  เขากล่าว พร้อมบอกว่า ถ้าเลือกได้เขาอยากไปทำงานอุตสาหกรรม และคิดว่าอยากไปให้เร็วที่สุด

ห่างกันไม่กี่กิโลเมตรในตัวเมืองอุดรฯ อาคารพาณิชย์สองคูหา คือที่ตั้งของโรงเรียนโคเรียศึกษา โรงเรียนสอนภาษาเกาหลีอีกแห่ง ก็เพิ่งเริ่มต้นชั้นเรียนชุดใหม่ในสัปดาห์เดียวกัน ในชั้นเรียนมีหนุ่มสาวในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ นั่งเรียนเต็มห้อง

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ธรรมรงค์ เทียนสี เจ้าของโรงเรียนโคเรียศึกษา โรงเรียนสอนเตรียมสอบภาษาเกาหลีอีกแห่ง บอกกับบีบีซีไทยถึงความเปลี่ยนแปลงของคนที่ต้องการไปทำงานเกาหลีที่เขาเห็นจากผู้ที่มาลงเรียนในช่วงหลายปีหลังว่า มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ระดับการศึกษาจะสูงขึ้น และเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อยลง

“จากเดิมเมื่อก่อน ม.6 ม.3 เต็มที่ ทุกวันนี้ ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาตรีตอนนี้เกือบจะเข้ามาครึ่งหนึ่งแล้วนะ ครึ่งต่อครึ่งเลย ถ้ามี 20 คน ปริญญาตรีสัก 10 คน…วุฒิการศึกษาสูงขึ้นเรื่อย ๆ เคยสอนกระทั่งการจบปริญญาโท” ธรรมรงค์กล่าวกับบีบีซีไทย

ยากแค่ไหนที่จะไปทำงานเกาหลีอย่างถูกกฎหมาย

การไปทำงานเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย ปัจจุบัน มีทั้งการจัดส่งของเอกชน ด้วยวีซ่า E8 และการจัดส่งโดยรัฐบาล ผ่านระบบการจัดส่งแรงงานระหว่างรัฐบาลเกาหลีใต้ กับ รัฐบาลของประเทศผู้ส่ง หรือ EPS ด้วยวีซ่า E 9

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีบันทึกข้อตกลงเช่นนี้กับ 16 ประเทศ เช่น เนปาล เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา ลาว เป็นต้น โดยเกาหลีใต้จะจัดแบ่งโควตาแรงงานว่าแต่ละประเทศจะส่งได้จำนวนเท่าใดในทุก ๆ 2 ปี ปีละ 50,000-60,000 คน โดยระบบนี้เริ่มใช้เมื่อปี 2549

ระบบ EPS ไม่จำกัดวุฒิการศึกษาของแรงงาน แต่ต้องมีอายุ 18-39 ปี และทดสอบความสามารถทางภาษาเกาหลี (EPS-TOPIK) ผ่าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจำนวนคนไทยในเกาหลีใต้แล้ว แรงงานผิดกฎหมายของไทยมีจำนวนมากกว่าแรงงานในระบบ EPS หลายเท่า จำนวนแรงงานไทยตามระบบ EPS (ณ 30 ก.ย.) อยู่ในเกาหลีใต้ 16,686 คน ขณะที่แรงงานผิดกฎหมายมีอยู่ราว 140,000 คน

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

สำหรับปี 2565 ประเทศไทย ได้รับโควตาส่งแรงงานจำนวนเพียงกว่า 3,900 คน น้อยกว่าช่วงปี 2548-2560 ที่แรงงานไทยไปปีละเฉลี่ย 5,000 คน กรมการจัดหางาน ชี้ว่านี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไปช่องทางอื่นที่ผิดกฎหมาย

สถิติที่ผ่านชี้ด้วยว่า แรงงานชายได้รับเลือกจากนายจ้างมากกว่าแรงงานผู้หญิง โดยเป็นแรงงานชายเฉลี่ยกว่า 83% ในแต่ละปี

การไปเกาหลีใต้ด้วยวิธี EPS เปิดรับสมัครให้ทดสอบความสามารถทางภาษาเกาหลีก่อน โดยเปิดทั้งสิ้น 3 รอบ งานอุตสาหกรรมได้รับความสนใจมากที่สุดเพราะมีรายได้ดีที่สุดในงาน 3 ประเภท

ผู้ที่สอบผ่านจะได้รับการจัดส่งข้อมูลให้ทางการเกาหลีใต้ แต่ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะได้ไปทำงานที่เกาหลีใต้ทันที ชื่อของแรงงานจะถูกขึ้นทะเบียนไว้ 2 ปี และรอให้นายจ้างเลือกก่อน บางคนอาจจะได้สัญญาจ้างเร็ว บางคนอาจเกิน 1 ปีขึ้นไป ทำให้บางคนเลือกวิธีการลักลอบเข้าเกาหลีใต้แทน

“ตอบไม่ได้ว่าจะเร็วจะช้า เพราะว่า ส่วนใหญ่ผู้ชายจะเร็วกว่าผู้หญิง ผู้หญิงค่อนข้างจะช้านิดนึง บางคนก็เร็ว บางคนก็ช้า บางคน 1-2 เดือน เป็นปี บางคนเกือบ 2 ปี สัญญาจ้างเพิ่งมาเพิ่งได้บินก็มี” อมร ผู้บริหารโรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี กล่าว

โรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี

ที่มาของภาพ, โรงเรียนพัฒนาอาชีพอุดรธานี

สำหรับการทดสอบภาษา เกณฑ์คะแนนที่สอบผ่านสูงขึ้นทุกปี อย่างการสอบประเภทงานอุตสาหกรรม รอบแรงงานชาย ปีนี้ มีผู้สมัครสอบ 30,000 คน แต่สอบผ่านเพียง 8% น้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่เกาหลีใต้ให้ประเทศไทยด้วยซ้ำ

เจ้าของโรงเรียนโคเรียศึกษา ซึ่งคลุกคลีอยู่ในวงการสอนภาษาเกาหลีมา 20 ปี บอกว่า ระยะเวลาการเตรียมตัวของคนไทยนั้นสั้นกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา ที่มีเวลาเตรียมตัวอย่างน้อย ๆ 6 เดือน และความไม่แน่นอนของช่วงการเปิดสอบแต่ละรอบ ทำให้คนไทยมีเวลาเตรียมสอบไม่มากเท่าประเทศอื่น

“คนไทยก็รู้อยู่แล้วว่า ถ้าไม่มีแพลนที่จะรับสมัครออกมา เขาไม่เรียน จะมาเรียนเมื่อมีประกาศออกมาอีก 2 อาทิตย์รับสมัคร ก็แห่มาเรียน กลายเป็นว่าระยะเวลาเตรียมตัวไม่พอ” ธรรมรงค์ กล่าว

เขาเสนอด้วยว่า หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศแผนที่แน่นอนล่วงหน้าเป็นปี น่าจะช่วยส่งเสริมการเตรียมตัวของแรงงานให้มีความพร้อมได้สูงขึ้น

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ราคาที่ต้องจ่ายของการไปอย่างถูกต้อง

แค่คิดจะไปทำงานเกาหลีอย่างถูกกฎหมาย ค่าใช้จ่ายแรกคือ ค่าลงเรียนภาษาเกาหลีเพื่อเตรียมสอบ โดยทั่วไปหลักสูตร 5 สัปดาห์เช่นโรงเรียนที่บีบีซีไทยสำรวจ ค่าเรียนคอร์สละ 9,500 บาท แต่ละโรงเรียนมีแพ็กเกจแตกต่างกันไป เช่น รวมค่าหอพัก อุปกรณ์การเรียน หรือการติวข้อสอบจนกว่าจะสอบผ่าน

นี่จึงเป็นโอกาสของโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีรูปแบบนี้ เกิดขึ้นจำนวนมากในไทย โดยกระทรวงแรงงานบอกกับบีบีซีไทยว่าอยู่ระหว่างสำรวจตัวเลข แต่ผู้บริหารโรงเรียนโคเรียศึกษาบอกว่า มีโรงเรียนที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ร.ร. เอกชน 47 แห่ง และประเมินด้วยว่ามีจำนวนมากกว่าที่ขึ้นทะเบียน  ยังไม่นับรวมครูสอนภาษาเกาหลีอิสระอื่น ๆ

NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

ที่มาของภาพ, NAPASIN SAMKAEWCHAM/BBC THAI

นอกจากนี้ นักเรียน 3 คนที่บีบีซีไทย ได้พูดคุยบอกว่า พวกเขาต้องเตรียมเงินก้อนไว้ราว ๆ 1 แสนบาท นับรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเรียนภาษา ไปจนถึงค่าใช้จ่ายสำรอง และค่าดำรงชีวิต เมื่อไปถึงเกาหลีเดือนแรก

“ค่าตั๋วเครื่องบินตัดไปเลย 25,000 บาท ค่าเรียนเราก็ 9,500 แล้ว ค่าวีซ่า ค่าตรวจโรค ค่าที่เรายื่นประวัติอาชญากรรมที่กรมตำรวจอีกมากมาย” จุฑามาศ บอกกับบีบีซีไทย พร้อมบอกถึงที่มาของทุนตั้งแต่ว่า “น่าจะให้ที่บ้านเอาที่ไปจำนอง ถ้าไม่งั้นก็ต้องขอยื่นกู้เขาก่อน”

คำนวณดูแล้ว ค่าใช้จ่ายเพื่อไปทำงานเกาหลี 1 แสนบาท เท่ากับ ค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยถึงกว่า 11 เดือน

นี่อาจเป็นบางส่วนของเหตุผลที่แรงงาน “ผีน้อย” เลือก “เสี่ยงดวง” ลักลอบเข้าประเทศเกาหลีใต้มานับทศวรรษ

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว