โกตัม อดานี : วีรกรรมเฉียดตายของเด็กอินเดียเรียนไม่จบ สู่มหาเศรษฐีร่ำรวยสุดในเอเชีย

 

Getty Image

Getty Images
โกตัม อดานี มหาเศรษฐีร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ของโลก

 

ในคืนวันที่ 26 พ.ย. 2008 โกตัม อดานี ซึ่งในขณะนั้นเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 10 ของอินเดีย กำลังรับประทานอาหารค่ำอยู่ในร้านอาหารสุดหรู ที่โรงแรมทัจมาฮาลในนครมุมไบของอินเดีย

ทันใดนั้น มือปืนบุกเข้ามา กราดยิงไปทุกทิศทางและขว้างระเบิด

กลุ่มติดอาวุธชาวปากีสถานจำนวน 10 คน เดินทางข้ามทะเลเข้ามาในอินเดีย ก่อนแบ่งกลุ่มกัน กลุ่มหนึ่งปล้นจี้รถยนต์ และโจมตีเป้าหมายหลายแห่ง รวมถึงโรงแรมหรู 2 แห่ง

การบุกโจมตีที่แทบจะทำให้นครมุมไบหยุดนิ่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 166 คน และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและปากีสถาน ตึงเครียดอย่างหนัก

อดานี ที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย บอกกับนิตยสารอินเดียทูเดย์ ว่า เจ้าหน้าที่โรงแรมเร่งผลักดันให้ผู้รับประทานอาหารอยู่ในร้าน รีบลงไปยังห้องใต้ดิน เพื่อซ่อนตัวเป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง ก่อนจะเกณฑ์ให้เหล่าแขกผู้เข้าพักขึ้นไปชั้นบนของโรงแรม แม้ว่าด้านนอกนั้น ความโกลาหลยังไม่สิ้นสุด

วันนั้น มีแขกและลูกค้าที่เข้ามาทานอาหารที่โรงแรมราว 100 คน แต่ละคน “ซ่อนตัวอยู่ใต้โซฟา และหาวิธีหลบเลี่ยงเหตุร้ายเท่าที่จะทำได้” บางคนก็สวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า

อดานี จำได้ว่า เขานั่งลงบนโซฟา แล้วบอกแขกคนอื่น ๆ ว่า “จงศรัทธาในพระเจ้า” แล้วโทรหาครอบครัวที่กำลังวิตกกังวลที่บ้านเกิดในเมืองอาห์เมดาบัด ห่างจากโรงแรมที่เขาอยู่ 500 กิโลเมตร ส่วนคนขับรถของเขาและเจ้าหน้าที่อารักขา รออยู่นอกโรงแรมด้วยความกังวล

หลังค้างคืนในห้องโถงของโรงแรม โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับพวกเขา หน่วยคอมมานโดได้ปิดล้อมโรงแรม แล้วพาตัว อดานี และตัวประกันคนอื่น ๆ ออกทางประตูหลัง ในเช้าวันต่อมา “ผมเห็นคนตายห่างออกไปแค่ 5 เมตร” อดานี บอกกับผู้สื่อข่าวหลังเดินทางกลับไปที่เมืองอาห์เมดาบัดด้วยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ในวันเดียวกัน

อาณาจักร อดานี กรุ๊ป

Getty Images
อาณาจักร อดานี กรุ๊ป

 

14 ปีต่อมา หลังเหตุร้ายในวันนั้น อดานี วัย 60 ปี กลายเป็นชายที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 3 ของโลก ตามหลังอีลอน มัสก์ และเจฟฟ์ เบซอส

อดานิ ขยายอาณาจักรธุรกิจกลุ่มบริษัทในเครือ อดานิ กรุ๊ป ให้เติบโตกว้างขวางมาก ทั้งทำธุรกิจ ดำเนินกิจการท่าเรือ สนามบิน บริษัทสื่อ ขนส่งโลจิสติกส์ ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงเทคโนโลยีอวกาศ รวมทั้งพลังงานสะอาด โดยเขามีพนักงานมากถึง 23,000 คน และมูลค่าในตลาดกว่า 230,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ เกือบ 8 ล้านล้านบาท

หลังเมื่อวันที่ 30 ส.ค. เขากลายเป็นข่าวดัง เพราะขึ้นแท่นมหาเศรษฐีอันดับ 3 ของโลก ตอนนี้ เขากลายเป็นที่จับตาของสื่ออีกครั้ง เพราะใกล้จะได้เป็นเจ้าของ เอ็นดีทีวี เครือข่ายสถานีข่าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอินเดีย ถือเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมสื่อครั้งใหญ่แรกของเขา

จากเด็กดรอปเรียนมหาวิทยาลัย สู่มหาเศรษฐีระดับโลก เขามีเผชิญเหตุเฉียดตายมาแล้วหลายครั้ง

บริษัทของอดานี มั่งคั่งจากอุตสาหกรรมพลังงาน

AFP
บริษัทของอดานี มั่งคั่งจากอุตสาหกรรมพลังงาน

เมื่อเดือน ม.ค. 1998 เขาและผู้ช่วยถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ โดยกลุ่มมือปืนบุกประชิดรถยนต์ของเขา เพื่อลักพาตัวเขาจากเมืองอาห์เดมาบัด แต่ภายหลังเขาได้รับการปล่อยตัวออกมาอย่างปลอดภัย

อดานี และผู้ช่วยของเขา ไม่พูดถึงเหตุการณ์นี้มากนัก และถึงกับไม่ไปขึ้นศาล จนทำให้ผู้ต้องสงสัยลักพาตัว ได้รับการปล่อยตัวในปี 2018 โดย อดานี บอกกับผู้สื่อข่าวครั้งหนึ่งว่า “ชีวิตผมเจอกับเรื่องเลวร้าย 2-3 ครั้ง”

อดานี ดรอปเรียนมหาวิทยาลัย ตอนอายุ 16 ปี แล้วย้ายไปอยู่นครมุมไบ ทำธุรกิจซื้อขายเพชร แต่การทำธุรกิจนี้ของเขาอยู่ได้ไม่นาน สองปีต่อมา เขาจึงกลับไปรัฐคุชราต เพื่อบริหารโรงงานบรรจุภัณฑ์ที่พี่ชายเขาเป็นเจ้าของ นี่คือ ‘ประตู’ ที่นำ โกตัม อดานิ ไปสู่การค้าขายกับต่างประเทศ ผ่านการนำเข้า โพลีไวนิล คลอไรด์

ความเป็นคนขยันทำงาน และมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้ามาก ทำให้ในช่วงทศวรรษ 1990 โกตัม อดานิ ขยายธุรกิจมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึง ท่าเรือ เหมือง รางรถไฟ โครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เขาได้ฉายาจากสื่อว่า “ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เกรี้ยวกราดมากที่สุดคนหนึ่ง”

Getty Images

Getty Images
เขาสนิทกับผู้นำอินเดียมาก

 

ปัจจุบัน อดานี เป็นเจ้าของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ มีบริษัทซีเมนต์ขนาดใหญ่สุดอันดับ 2 ของอินเดีย เจ้าของท่าเรือ 13 แห่ง รวมถึงท่าเรือใหญ่ที่สุดในประเทศที่เมืองมุนดรา เขายังบริหารสนามบินเจ็ดแห่ง และกำลังสร้างทางรถไฟสายยาวที่สุดในประเทศ เชื่อมกรุงนิวเดลีและนครมุมไบ

ด้วยโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน 6 แห่งในกำมือ อดานียังเป็นเอกชนรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมพลังงานของประเทศด้วย โดยเขาให้คำมั่นจะลงทุน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในพลังงานสีเขียว และสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติยาว 8,000 กิโลเมตร

เขายังซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ด้วยความหวังจะเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนภายในปี 2030

เจมส์ แครบทรี นักวิเคราะห์นโยบาย ได้เขียนในหนังสือ “เดอะ บิลเลียนแนร์ ราจ : การเดินทางผ่านยุคใหม่ของอินเดีย” ว่า การขยายธุรกิจของอดานี เปรียบได้กับยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมในยุคก่อน ๆ

“เขาสร้างเส้นทางรถไฟและระบบไฟฟ้าของตนเอง เพราะไม่อยากพึ่งโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรมของอินเดีย เมื่อเข้าถึงถ่านหินในประเทศได้ยาก เขาก็ไปซื้อเหมืองในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย แล้วขนเข้าประเทศผ่านท่าเรือของตนเอง”

อดานี เผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากเช่นกัน จากความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ นาเรนทรา โมดี ตั้งแต่สมัย โมดีเป็นมนตรีแห่งรัฐคุชราต จนถึงนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน จนคนบางส่วนมองว่า อาณาจักรธุรกิจของอดานี คือ ตัวอย่างของระบบทุนนิยมพวกพ้อง

คนจำนวนไม่น้อยมองว่า อดานี หากินกับการทำลายโลกด้วยก๊าซเรือนกระจก

Getty Images
คนจำนวนไม่น้อยมองว่า อดานี หากินกับการทำลายโลกด้วยก๊าซเรือนกระจก

 

“ชายสองคนนี้ (โมดี และ อดานี) มีอาชีพที่รุ่งเรือง นโยบายสนับสนุนธุรกิจของโมดี ช่วยให้อดานีขยายกิจการได้ง่ายขึ้น ส่วนบริษัทของอดานี ก็ช่วยสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ของ ‘คุชราตโมเดล’ ของนายโมดี จากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติ และอุตสาหกรรมส่งออก” แครบทรี กล่าว

สื่ออินเดียรายงานว่า โกตัม อดานิ แต่งงานกับ ปริติ อดานิ ซึ่งเป็นทันตแพทย์ และมีลูกด้วยกัน 2 คน เขามีชีวิตส่วนตัวที่เงียบสงบ ไม่ค่อยมีคนภายนอกรู้เรื่องราวส่วนตัวของเขาและครอบครัวมากเท่าไรนัก

หลังจากสามารถสร้างฐานะทางการเงินได้อย่างมั่งคั่งแล้ว โกตัม อดานิ ช่วยเหลือผู้อื่นที่ยังลำบากอยู่ เขาตั้งมูลนิธิ อดานิ และปริติ ภรรยาของเขาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารดูแล เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้ในด้านต่าง ๆ ในหลายรัฐทั่วอินเดีย

…..

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว