พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในกรุงลอนดอนได้จัดแสดงนิทรรศการเรื่องการพัฒนาและกระจายวัคซีนด้านโควิด-19 เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ที่คุกคามชีวิตผู้คนทั่วโลก
หนึ่งในสิ่งของที่จัดแสดงครั้งนี้คือเข็มฉีดยา ขวดบรรจุวัคซีน และถาดที่ทำจากกล่องกระดาษ ซึ่งถูกใช้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2020 ตอนที่นางมาร์กาเร็ต คีนัน หญิงชาวอังกฤษวัย 90 ปี กลายเป็นบุคคลแรกในโลกที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดตามโครงการที่รัฐจัดฉีดให้แก่ประชาชนทั่วไป
นับตั้งแต่นั้น ก็มีการฉีดวัคซีนต้านโควิดจำนวน 13,000 ล้านโดสให้แก่คนทั่วโลก ซึ่งรวมถึงวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และวัคซีนที่ได้รับการปรับปรุงสูตรเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ล่าสุด
- การระบาดโควิดระลอกใหม่น่ากังวลแค่ไหน
- “สมองล้า” พบได้บ่อยหลังหลังติดโควิดสองปี
- หนึ่งปีโอมิครอน แพทย์เตือนระวังระบาดซ้ำรอยเดิม
เราได้เรียนรู้อะไรบ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด ข้อมูลที่บันทึกได้บอกอะไรบ้างเกี่ยวกับประสิทธิผลและผลข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนชนิดนี้
โดยสรุปแล้ว งานวิจัยบ่งชี้ว่า วัคซีนต้านโควิดที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในวงกว้างนั้น ช่วยจำกัดจำนวนผู้เข้าโรงพยาบาลและเสียชีวิตจากโควิดทั่วโลก หากไม่มีวัคซีนประเภทนี้คาดว่าตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้จะสูงขึ้นมาก
นอกจากนี้ยังพบว่า ผลข้างเคียงร้ายแรงที่สุดจากวัคซีนต้านโควิด ยังเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก
ประสิทธิผลจากการใช้จริง
นับตั้งแต่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ เริ่มโครงการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้แก่ประชาชนก็พบว่า อัตราการป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโควิด-19 ลดลงอย่างมากทั่วโลก
แม้จะมีการอุบัติของเชื้อสายพันธุ์ที่แพร่สู่กันได้ง่าย เช่น โอมิครอน แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรงหรือเสียชีวิตเมื่อได้รับเชื้อเหล่านี้
Commonwealth Fund มูลนิธิสนับสนุนงานวิจัยด้านสาธารณสุขได้เชิญทีมนักวิทยาศาสตร์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ ให้ตอบคำถามสำคัญว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19”
ผลสำรวจซึ่งเผยแพร่เมื่อ 13 ธ.ค. บ่งชี้ว่า หากสหรัฐฯ ไม่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนจะมีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล 18.5 ล้านคน และเสียชีวิตอีก 3.2 ล้านคนจากโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังบ่งชี้ว่า โครงการฉีดวัคซีนต้านโควิดช่วยให้สหรัฐฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ที่ต้องใช้รักษาผู้ป่วยโควิดได้ถึง 1.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
คณะจัดทำการสำรวจระบุว่า “นับแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2020 สหรัฐฯ มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด 82 ล้านคน เข้าโรงพยาบาล 4.8 ล้านคน และเสียชีวิต 798,000 คน อาจพูดได้ว่าหากไม่มีโครงการฉีดวัคซีน สหรัฐฯ จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้น 1.5 เท่า ผู้เข้าโรงพยาบาลสูงขึ้น 3.8 เท่า และผู้เสียชีวิตสูงขึ้น 4.1 เท่า”
พญ.อิซาเบลลา บัลลาไล รองประธานสมาคมภูมิคุ้มกันแห่งบราซิล (Brazilian Society of Immunisation หรือ SBIM) ระบุว่า “วัคซีนต้านโควิดมีความสำคัญต่อความเป็นความตายของผู้คนจำนวนมาก”
บราซิลถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดมากที่สุด และเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนได้เป็นอย่างดี
ตอนที่บราซิลอนุมัติการฉีดวัคซีนต้านโควิดให้ประชาชนครั้งแรกในเดือน ม.ค. 2021 ประเทศกำลังอยู่ในช่วงการระบาดสูงสุด
โดยช่วงปลายเดือน มี.ค.ถึงต้นเดือน เม.ย. 2021 บราซิลมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิดทะลุหลัก 3,000 คน/วัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 72,000 คน/วัน
หลายสัปดาห์หลังจากเริ่มให้วัคซีน และมีชาวบราซิลได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น พบว่ายอดผู้เสียชีวิตลดลงอย่างมาก
ตัวเลขนี้เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือน ม.ค. 2022 หลังเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดเข้าไปในบราซิล ช่วงสูงสุดของการระบาดระลอกใหม่นี้กลับมีรายงานยอดผู้เสียชีวิตรายวันอยู่ที่ 950 คน หรือไม่ถึง 1 ใน 3 ของช่วงก่อนมีวัคซีน
มีผลข้างเคียงอย่างไร
พญ.บัลลาไล กล่าวว่า “ยิ่งเวลาผ่านไป มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนมากขึ้น เราก็ยิ่งแน่ใจถึงความปลอดภัยของวัคซีนเหล่านี้”
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลเรื่องยา และหน่วยงานสาธารณสุขได้เฝ้าติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากวัคซีนต้านโควิด
สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service หรือ NHS) ของสหราชอาณาจักร บ่งชี้ว่า “อาการข้างเคียงรุนแรงพบได้น้อยมาก” โดยอาการไม่สบายที่มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนมีอาทิ:
- ปวดบริเวณที่ได้รับการฉีดยา
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยเนื้อตัว
- มีไข้
- รู้สึกป่วย
รัฐบาลอังกฤษระบุว่า “อาการข้างเคียงเหล่านี้มักไม่รุนแรง และจะหายไปเองในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์
แล้วกรณีของผลข้างเคียงรุนแรงมีอะไรบ้าง
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ระบุข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับผลข้างเคียงรุนแรงที่พบไว้ดังนี้:
- อาการแพ้รุนแรงหลังรับวัคซีน (anaphylaxis) พบ 5 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thrombosis) จากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน พบ 4 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส
- กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barré syndrome) จากวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่พบ “เพิ่มขึ้นเล็กน้อย” ในกลุ่มชายอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ เมื่อเทียบกับผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) และเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่รับวัคซีนไฟเซอร์ โดยคนอายุ 12-15 ปี พบ 70.7 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส, คนอายุ 16-17 ปี พบ 105.9 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส และคนอายุ 18-24 ปี พบ 52.4 รายต่อการฉีด 1 ล้านโดส
CDC รายงานว่า “คนไข้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษาตอบสนองต่อยาเป็นอย่างดี และเมื่อได้รับการพักผ่อนก็มีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว”
CDC ระบุว่า ผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบเฝ้าติดตามความปลอดภัยจากวัคซีนต้านโควิดหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนชนิดนี้มีความปลอดภัย
ส่วนข้อมูลการเสียชีวิตนั้น พบว่านับแต่สหรัฐฯ เริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้ประชาชน 657 ล้านโดสจนถึงวันที่ 7 ธ.ค. 2022 มียอดผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีน 17,800 คน หรือมีสัดส่วน 0.0027% ของผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมด ตัวเลขนี้รวมถึงกรณีที่วัคซีนไม่ได้ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุโดยตรงของการเสียชีวิตด้วย
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการแพทย์และผลการชันสูตรกรณีเสียชีวิตเหล่านี้ พบว่า ผู้เสียชีวิต 9 รายได้รับวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
พญ.บัลลาไล เน้นย้ำว่า ไม่มียาหรือวัคซีนชนิดใดที่ปลอดภัย 100%
“ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าประสิทธิผลของวัคซีนมีมากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นได้น้อย” เธอกล่าว
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
2 ปีหลังจากวัคซีนต้านโควิดได้รับการพัฒนาจนใช้อย่างแพร่หลายเป็นวงกว้าง ยังคงมีความท้าทายอีกหลายอย่างกว่าที่เชื้อไวรัสโคโรนาจะได้รับการควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อันเดร ริบาส เฟรตาส นักระบาดวิทยากล่าวว่า “เมื่อมองในภาพกว้างระดับโลก เรายังมีอีกหลายประเทศที่ประชาชนได้รับวัคซีนไม่เพียงพอ”
ยกตัวอย่างเช่น เฮติ ที่มีประชากรเพียง 2% ที่ได้รับวัคซีน 2 โดสแรก ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่มีอัตราการเข้าถึงวัคซีนต่ำ เช่น แอลจีเรีย (15%), มาลี (12%), คองโก (4%) และเยเมน (2%)
นักระบาดวิทยาผู้นี้ชี้ว่า เรื่องนี้สร้างความกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะการที่เชื้อแพร่ระบาดอย่างรุนแรงต่อเนื่องจะทำให้มีความเสี่ยงการเกิดเชื้อโรคกลายพันธุ์ หรือเชื้อที่แพร่สู่กันได้ง่ายขึ้น
……
ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว