เที่ยวแบบ VVIP : ปมจ้างตำรวจไทยนำขบวน นทท. จีน สะท้อนภาพปราบโกงล้มเหลวหรือไม่

จากมหากาพย์ทุนจีนสีเทา คดีจับกุมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คาโต๊ะทำงานจากข้อหาเรียกรับเงินเพื่อซื้อขายตำแหน่งในกรม จนถึงล่าสุด กรณีปมจ้างตำรวจนำขบวน นทท. จีนเดินทางจากสนามบินถึงที่พัก

เหตุการณ์เหล่านี้กำลังพิสูจน์คำมั่นที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่เคยให้มาตั้งแต่ครั้งที่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ว่าจะเข้ามาปราบโกง ในขณะที่รัฐบาลภายใต้การกุมบังเหียนของเขากำลังจะสิ้นสุดวาระลงไม่อีกกี่เดือนข้างหน้า

สังคมกำลังวิพากษ์วิจารณ์และจับตาการทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐ โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าจะดำเนินการต่อกรณีล่าสุด ที่มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนเผยแพร่คลิปรีวิวเที่ยวไทยแบบวีไอพี (บุคคลสำคัญ) จนเป็นกระแสในโลกออนไลน์ของจีนอย่างไร

สำหรับคลิปดังกล่าวมีความยาวราว 2 นาที ถูกโพสต์ในแอปพลิเคชันลักษณะเดียวกันกับ TikTok ที่ให้บริการในจีน มีนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนรายหนึ่งอธิบายการทดสอบใช้บริการตำรวจไทยว่าใช้เงินซื้อได้ทุกอย่างตามคำร่ำลือจริงหรือไม่ ในคลิปดังกล่าวยังมีภาคตำรวจไปรับถึงประตูเครื่องบิน เดินนำทาง ยกกระเป๋า เปิดประตูรถให้ ขับรถนำเปิดไฟฉุกเฉินไซเรน ในรูปแบบการบริการแตกต่างตามลักษณะพาหนะนำขบวน เช่น หากเป็นรถจักรยานยนต์สนนราคา 6,000 บาท และหากเป็นรถยนต์ราคาอยู่ที่ 7,000 บาท

ยอมรับว่าตำรวจในคลิปเป็นเจ้าหน้าที่จริง

ต่อมาหลังจากการตรวจสอบเบื้องต้น พล.ต.ต. อภิชาติ สุริบุญญา โฆษกกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวออกมายอมรับว่า มีข้าราชการตำรวจสังกัดตำรวจท่องเที่ยวจำนวน 1 ราย ปรากฏอยู่ในคลิปดังกล่าว คือ ร.ต.อ. สมพล ภิญโญสโมสร ตำแหน่ง รองสารวัตร กองกำกับการ 3 (รับผิดชอบสนามบินสุวรรณภูมิ) สังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1

ส่วนเหตุการณ์ในคลิป เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 22:00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สายการบินฮ่องกงแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ HX671 เดินทางเข้าไทยพอดี ซึ่งตรวจสอบในวันดังกล่าวแล้ว ทางกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวไม่มีได้มีการสั่งการใดๆ ให้ตำรวจท่องเที่ยวสุวรรณภูมิอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวรายใดเป็นกรณีพิเศษ

ส่วนนักท่องเที่ยวที่ปรากฏในคลิปนั้น ทางกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวทราบชื่อแล้ว (แต่ขออนุญาตไม่เอ่ยนาม) ซี่งนักท่องเที่ยวรายนี้เดินทางมาเที่ยวไทยพร้อมกับมารดา

ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยวได้สั่งการแล้วให้กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 1 ต้นสังกัดของ ร.ต.อ.สมพลฯ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยด่วนแล้วรีบรายงานให้ทราบ

นอกจากนี้ ในคลิปยังปรากฏตำรวจอีก 2 นายในสังกัดกองบังคับการตำรวจจราจร ประกอบด้วย ส.ต.อ.ธนกร นุกูลธนกิจ และส.ต.อ.ธนวัฒน์ สิมะขจรบุญ

เชื่อเป็นการรับงานพิเศษ มีความผิดทางวินัย

วันที่ 22 ม.ค. โฆษกตำรวจท่องเที่ยว เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ารถที่ใช้เป็นรถส่วนตัว ไม่ใช่รถของทางราชการ ไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาแต่มีความผิดทางวินัย เพราะเป็นความประพฤติไม่เหมาะสม เนื่องจากตำรวจท่องเที่ยวต้องดูแลและอำนวยความสะดวกกับนักท่องเที่ยวทุกคนในภาพรวม ไม่ใช่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ

จากการตรวจสอบเบื้องต้น พล.ต.ต. อภิชาติ ระบุว่า วันดังกล่าวไม่มีคำสั่งจากหน่วยงานให้ไปอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวแต่อย่างใด แต่จากพฤติกรรมทำให้เชื่อว่าเป็นการรับงานพิเศษในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวอย่างไรก็ตาม หากการสอบสวนพบว่ามีคนขับรถของรัฐมนตรีเกี่ยวข้องด้วยตามที่เป็นข่าวก็จะต้องเชิญตัวมาให้ข้อมูลด้วยเช่นกันเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว

นักกฎหมายมองว่า ผิดวินัยร้ายแรง

นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความเจ้าของเพจ ทนายคลายทุกข์ ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านคลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊ก กรณีที่หญิงสาวชาวจีนรีวิวประเทศไทยที่ได้รับการอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยวเพื่อให้ผ่านขั้นตอนการเข้าประเทศที่สนามบินพร้อมกับและมีขบวนรถตำรวจนำทางไปสถานที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว

“ฝากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฝากนายกฯ ลงไปตรวจสอบนะครับ เขาบอกว่ามีการอำนวยความสะดวก ภาษาตำรวจเรียกว่า อน. ย่อมาจาก อำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มีมานาแล้วนะครับ ก็ฝากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

นายเดชายังกล่าวอีกว่า การนำรถหลวงมาใช้ถือว่าผิดวินัยร้ายแรง ถ้าผมจำไม่ผิดมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เดือน ม.ค. 2562 ก็เขียนไว้ชัดว่าต้องปลดออกไล่ออกอย่างเดียว และในทางอาญามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 มีอำนาจจัดการรักษาทรัพย์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ นำรถของหลวงไปใช้โดยทุจริต เสียหายแก่รัฐ จำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือ ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 1-4 แสนบาท

บทพิสูจน์นโยบายปราบโกงของรัฐบาลประยุทธ์

กรณีคลิปปมจ้างตำรวจไทยนำขบวน นทท. จีน ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์จนทำให้ #เที่ยวแบบvvip ติดเทรนด์อันดับต้น ๆ ในทวิตเตอร์ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่จะเป็นบททดสอบความโปร่งใสของการบริหารราชการของ พล.อ. ประยุทธ์

ที่ผ่านมามีหลายคดีที่ยังไม่ได้ข้อสรุปและกลายเป็นมหากาพย์ เช่น คดีทลายเครือข่ายกลุ่มทุนจีนสีเทา หลังจากการบุกค้น “ผับจินหลิง” ในเขตสาทร ของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2565 จากนั้นไม่นานตำรวจ ป.ป.ป. และ ป.ป.ช. วางแผนบุกจับกุม นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ภายในห้องทำงาน พร้อมของกลางเงินสดล่อซื้อ ในข้อหาฐานเรียกรับเงิน จากการโยกย้ายตำแหน่งนายรัชฎา ยังคงให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและศาลอนุญาตให้ประกันตัวออกมาสู้คดี

หากพิจารณาจากดัชนีชี้วัดคะแนนปลอดคอร์รัปชันในประเทศไทยประจำปีในรอบ 8 ปีที่ผ่านมาวัดโดยองค์กร Transparency International โดยภาพรวมสถานการณ์ยังถือว่าไม่ดีขึ้น และยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หากพิจารณาจากลำดับนับตั้งแต่ปี 2557 อยู่ที่อันดับ 85 ตามมาด้วยปี 2558 อันดับ 76, ปี 2559 อันดับ 101, ปี 2560 อันดับ 96, ปี 2561 อันดับ 99, ปี 2562 อันดับ 101, ปี 2563 อันดับ 104 และ ปี 2564 อันดับ 110

ขณะที่ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index–CPI) ก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปีล่าสุด 2564 มีคะแนนอยู่ที่ 35 คะแนน ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี หลังจากที่คะแนนคงที่ 36 คะแนนต่อเนื่องมา 3 ปี (2561-2563)

จากข้อมูลดังกล่าวเปรียบเทียบกับการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาในระยะ 20 ปี โดยใช้ดัชนีการรับรู้การทุจริตเป็นเป้าหมายในการดำเนินการของแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งได้กำหนดให้ประเทศไทยมีอันดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตในปี 2580 อยู่ในอันดับ 1 ใน 20 ของโลก

 

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว