“มาเช้า กลับดึก โต้รุ่งบ้าง” การทำงานในบางสื่อไทยที่นำไปสู่ “คาโรชิ” ?

 

Lynn Juboonsong
“ยืนยันว่าทางบริษัทต้นสังกัดไม่ได้ทอดทิ้ง และเข้ามาดูแลในเบื้องต้นแล้ว” หลานของเบิร์ด กล่าว

สำนักข่าว TNN สถานีโทรทัศน์ True4U และ บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ออกหนังสือเวียนภายใน “แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง” ต่อการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่อาวุโสของสถานีข่าว ขณะปฏิบัติงาน

หนึ่งวันหลัง เฟซบุ๊กเพจ “จอดับ” ออกมาโพสต์เมื่อ 5 ก.พ. ว่า พนักงานสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งของไทย เสียชีวิตในที่ทำงานจากการทำงานต่อเนื่อง ไม่มีเวลาพักผ่อน ทรู และ สถานีโทรทัศน์ในเครือได้อกจดหมายความยาว 1 หน้ากระดาษ “ถึงเพื่อนพนักงาน TNN” ยอมรับว่า นายศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ หรือ เบิร์ด เสียชีวิตด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจตาย เมื่อ 4 ก.พ. ขณะปฏิบัติงาน ณ สถานีข่าว TNN

“บ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บ.ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) และ บ.ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด ของแสดงความเสียใจกับครอบครัวของคุณเบิร์ดเป็นอย่างยิ่ง และตระหนักถึงความรู้สึกของญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และเพื่อนร่วมงาน ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก”

เฟซบุ๊กเพจ “จอดับ” โพสต์เมื่อบ่ายของ 5 ก.พ. ตั้งคำถามว่า “ใครว่าทำงานจนตายไม่มีจริง” มีการแชร์มากกว่า 16,000 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

“ในแต่ละวัน เขาต้องทำงานเกินเวลา และแต่ละสัปดาห์ก็ทำงานเกิน 5 วัน บางสัปดาห์ 7 วันรวด พอนานไปร่างกายก็เริ่มแย่ มีอาการป่วย” เพจจอดับ ลงรายละเอียด

ศักดิ์ชัย พฤฒิภัค อดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ที่เพจดังกล่าวอ้างถึง เปิดเผยบีบีซีไทยว่า เขาเคยทำงานที่นี่จนถึงปี 2554 และรู้จักผู้เสียชีวิตคือ ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ หรือ เบิร์ด อายุ 44 ปี

ศราวุฒิ ทำงานด้านการบันทึกข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ของสถานีแห่งนี้ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่อาคารทิปโก้

Lynn Juboonsong

Lynn Juboonsong
“ศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์” หรือ “เบิร์ด” อายุ 44 ปี ทำงานด้านการบันทึกข้อมูลผังรายการโทรทัศน์ของสถานี ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ก หรือ ทีเอ็นเอ็น ช่อง 16

บีบีซีไทยติดต่อกองบรรณาธิการฝ่ายข่าวของสถาานีนี้ เพื่อขอความเห็นต่อข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ และการเสียชีวิตของนายศราวุฒิ แต่ยังติดต่อไม่ได้ในขณะนี้ ขณะที่บีบีซีไทยได้ติดต่อฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัทแม่ของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ถึงมาตรการเยียวยา และสอบถามว่าจะมีแถลงการณ์ชี้แจงหรือไม่ แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

จนถึงช่วงเย็นของ 6 ก.พ. สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ออกมาชี้แจงถึงการเสียชีวิตของนายศราวุฒิ ศรีสวัสดิ์ กับพนักงานด้วยจดหมายเปิดผนึก

“ก่อนที่เบิร์ดต้องมาตายคาโต๊ะทำงาน ในที่ทำงาน แล้วแม่บ้านมาเจอตอนเช้ามืดวันเสาร์ที่ 4 ก.พ. 2566 เคยโพล่งออกมาว่า ‘ต้องให้ตายก่อนใช่ไหม’” ศักดิ์ชัย กล่าวทางบัญชีเฟซบุ๊กของเขา

ศักดิ์ชัยเขียนรายละเอียดว่า เบิร์ดทำงาน “หามรุ่งหามค่ำ” ต่อเนื่องมานานแล้ว และในฐานะ “พนักงานระดับล่าง” เบิร์ด ได้รับภาระมากมาย “ซ้อนกันหลายชั้น”

“ทนได้ ก็ทนไป ทนไม่ไหว ก็ออกไป หรือตายอย่างเบิร์ด”

เรื่องเล่าจากคนใกล้ชิด

พนักงานรายหนึ่งของสถานีข่าวแห่งนี้ ซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม เพื่อความปลอดภัยทางวิชาชีพ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า วันที่เสียชีวิตนั้น เบิร์ด ลากงานมาตั้งแต่เช้าวันที่ 3 ก.พ. ก่อนพบเสียชีวิตในวันที่ 4 ก.พ.

ขณะที่ หลานสาวของเบิร์ด ที่อนุญาตให้บีบีซีไทยนำเรื่องราวของผู้เสียชีวิตมาเปิดเผยได้ ระบุว่า “ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นทำงานหนักมาตลอด เห็นมานานแล้วว่าทั้งสัปดาห์มีวันหยุดวันเดียว นั่นคือวันอาทิตย์”

“วันทำงาน ปกติจะออกไปทำงานตั้งแต่เช้า และกลับบ้านหลังเที่ยงคืนตลอด” หลานที่อยู่ในวัยทำงานแล้ว อธิบาย

ปัจจุบัน ร่างนายศราวุฒิ ตั้งสวดอภิธรรมศพอยู่ที่วัดมหาวงษ์ ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ มีเพื่อนร่วมงานและอดีตเพื่อนร่วมงานของเบิร์ดมาร่วมพิธีสวดอภิธรรมศพเป็นจำนวนมาก และจะมีพิธีฌาปนกิจในวันที่ 8 ก.พ.

การทำงานหนักจนเสียชีวิตนั้น เกิดขึ้นมานานแล้วทั่วโลก โดยที่ญี่ปุ่น เรียกการทำงานหนักจนตายว่า “คาโรชิ” (Karoshi) และเคยเกิดข่าวคล้ายกับกรณีเบิร์ดที่ญี่ปุ่นมาแล้ว คือ การตายของผู้สื่อข่าวหญิง จากอาการหัวใจวายเมื่อปี 2556

โต๊ะทำงานของพนักงานสถานีโทรทัศน์เสียชีวิต

Facebook: จอดับ
โต๊ะทำงานของพนักงานสถานีโทรทัศน์ที่เสียชีวิต

เกิดอะไรกับ “เบิร์ด”

เพจ “จอดับ” เผยแพร่ภาพโต๊ะทำงานของนายศราวุฒิ ที่มีถุงใส่ยาวางอยู่บนโต๊ะ พร้อมให้รายละเอียดว่า เขามีสุขภาพทั่วไป มีปัญหาเรื่องความดันและน้ำตาลอยู่บ้าง

พนักงานของช่องโทรทัศน์ดังกล่าว ที่ไม่ประสงค์ออกนาม เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เบิร์ด ทำงานกับสถานีมาไม่น้อยกว่า 17 ปีแล้ว ตั้งแต่สมัยเป็นเคเบิลทีวี ถือเป็นหนึ่งในพนักงานอาวุโสขององค์กร

สอดคล้องกับข้อมูลจาก ศักดิ์ชัย อดีตเพื่อนร่วมงานของเบิร์ด ที่ยังติดต่อพูดคุยกันอยู่บ่อยครั้ง โดยเขาอธิบายนิสัยของเบิร์ดว่า “เป็นคนรับผิดชอบงาน ไม่มีปากมีเสียงกับใคร เป็นคนที่เก็บความรู้สึก”

“แต่กลายเป็นว่านิสัยแบบนี้ของเขา กลับทำร้ายตัวเขาเอง” ศักดิ์ชัย บอกกับบีบีซีไทย พร้อมระบุว่า เบิร์ด ไม่ค่อยตัดพ้อ หรือวิจารณ์องค์กรเลย

ก่อนเสียชีวิต ศราวุฒิทำหน้าที่ จัดทำผังรายการ นำสปอตโฆษณามาลงในผัง และ “ปรินต์ผังส่งห้องออกอากาศ”

“เท่าที่รู้ เขาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ หยุดวันอาทิตย์… ถ้าฝ่ายการตลาดส่งสปอตโฆษณาให้ช้า พี่เบิร์ดก็ต้องลาก” พนักงานทีเอ็นเอ็น ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุ พร้อมเสริมว่า เบิร์ดต้องทำผังรายการให้หลายช่อง ก่อนที่ภายหลัง จะมีการส่งพนักงานมาช่วยรับการจัดผังของช่องเคเบิลทีวีไป แต่เบิร์ด ยังดูแลผังสปอตโฆษณาของ 2 ช่องหลัก แต่เพียงผู้เดียวอยู่

พนักงานคนเดียวกัน เล่าว่า แม่บ้านเห็น เบิร์ด ยังอยู่ในสำนักงานเวลาตี 4 ของวันที่ 4 ก.พ. ในลักษณะที่นอนก้มหน้าอยู่บนโต๊ะ แต่เข้าใจว่าเป็นการหลับพักผ่อนจึงไม่ได้เข้าไปปลุก จนช่วงสายของวัน จึงรู้สึกผิดสังเกตว่า

“แม่บ้านผิดสังเกต เพราะท่านั่งหลับฟุบกับโต๊ะ แล้วเอียงไปทั้งตัว มันผิดปกติมาก เลยโทรตามตำรวจ โทรตามกู้ภัยมาปั๊มหัวใจ” แหล่งข่าว เล่าถึงภาพเหตุการณ์ชุลมุนในช่วงสายของวันที่ 4 ก.พ. ที่ตึกทิปโก้

พนักงานผู้นี้ยังเล่าอีกว่า “ผมก็เห็นเขาทำงานแบบนี้แหละ มีช่วง 2-3 ปีหลัง ที่บริษัทปรับขนาดองค์กร ก็เหลือเขาคนเดียว มาเช้า กลับดึก โต้รุ่งบ้าง”

หลังการเสียชีวิต ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของ ทั้ง 3 องค์กร แถลงว่า “บริษัทฯ รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นนี้” จะเร่งเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย ตั้งแต่เงินช่วยเป็นกรณีพิเศษ 24 เดือนของเงินเดือนปัจจุบัน เงินประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ เงินกองทุนประกันสังคม และเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดและงานฌาปนกิจ

กฎหมายแรงงานว่าอย่างไร

กฎหมายแรงงานไทย ระบุว่า เวลาทำงานปกติทั่วไปไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามที่นายจ้าง-ลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยต้องมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน หลังลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชั่วโมงติดต่อกัน

ส่วนวันหยุดนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่ง งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำสัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

ในกรณีที่งานมีลักษณะต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะ เสียหายแก่งานหรือเป็นงานฉุกเฉิน นายจ้างอาจให้ลูกจ้าง ทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุดเท่าที่จำเป็นก็ได้ โดยกรณีที่มีการทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า สองชั่วโมง นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่ายี่สิบนาที ก่อนที่ลูกจ้างเริ่ม ทำงานล่วงเวลา (ยกเว้นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน)

ปฏิกริยาสมาคมวิชาชีพ และ กระทรวงแรงงาน

6 ก.พ. นายธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงว่า ขอให้สำนักข่าวต้นสังกัดของสื่อมวลชนที่เสียชีวิต เยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตตามสิทธิ์ที่พึงได้รับ พร้อมกับสอบสวนที่มาของเหตุดังกล่าว และออกมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก

ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อหาข้อสรุปว่า กระบวนการทำงานของสำนักข่าวดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายแรงงานและหลักปฏิบัติที่เหมาะสมหรือไม่

“ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมสื่อยังมีวัฒนธรรมการทำงานที่สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายแรงงานหลายเรื่อง ๆ โดยเฉพาะในวงการดิจิตัลทีวีที่มีการแข่งขันกันสูง ไม่ว่าจะเป็น การทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน การอยู่โยงเข้าเวรติดต่อกันโดยที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ การไม่ให้สิทธิ์พนักงานได้ใช้วันหยุดและวันลาตามสมควร เป็นต้น”

วันเดียวกัน เว็บ ข่าวสด อ้างคำสัมภาษณ์ของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ว่า เป็นเรื่องที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถรู้ได้ว่าบริษัท สถานประกอบการใดใช้แรงงานหนักหรือไม่อย่างไร หากไม่มีการร้องเรียนเข้ามา ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ก็พร้อมที่จะเข้าไปตรวจสอบ

อนาคตที่ไม่แน่นอนของครอบครัว

“ทางครอบครัวคอยถามอยู่ตลอดว่าเหนื่อยหรือเปล่า เขาก็ตอบมาว่าเขาหยุดไม่ได้บางครั้ง” หลานสาวของเบิร์ด บอกบีบีซีไทย แต่ไม่ประสงค์ออกนาม และเสริมว่า ตอนนี้ มารดาและบิดาของเบิร์ด ไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ในเวลานี้ เนื่องจากสภาพจิตใจบอบช้ำอย่างมาก

“ส่วนมากเขาจะเลือกที่จะไม่พูดอะไรเลย เขาเลือกที่จะฟังเฉย ๆ ตอนอยู่ที่ทำงานเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่กับที่บ้านเขามักจะไม่ค่อยพูด และมักไม่ปฏิเสธใครเมื่อครอบครัวร้องขอให้ทำอะไร”

บีบีซีไทยสอบถามถึงความช่วยเหลือจากทางสถานีโทรทัศน์ต้นสังกัด หลานสาวของเบิร์ด ระบุว่า มีการติดต่อเข้ามาทางครอบครัว เพื่อเสนอให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ และเงินช่วยเหลือเยียวยาต่าง ๆ แต่ไม่ขอระบุถึงตัวเลข

“ยังไม่สามารถพูดได้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะตอนนี้ทั้งครอบครัวก็วุ่นวายเรื่องการจัดงานศพอยู่ แต่ก็ยืนยันว่าทางบริษัทต้นสังกัดไม่ได้ทอดทิ้ง และเข้ามาดูแลในเบื้องต้นแล้ว”

แต่หากถามว่า ครอบครัวต่อจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป ในเมื่อสูญเสียช้างเท้าหน้าของครอบครัวแล้ว เธอตอบเพียงว่า

“ต่อจากนี้ไปก็เป็นหนูเนี่ยแหล่ะค่ะที่ต้องดูแลครอบครัวต่อไป” เธอพูด พร้อมสะอื้นด้วยความเสียใจ

Lynn Juboonsong

Lynn Juboonsong
ฌาปนกิจเบิร์ด วันที่ 8 ก.พ. 2566

การตายของคนข่าวญี่ปุ่น

บรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งญี่ปุ่นหรือเอ็นเอชเค (NHK) ออกมายอมรับว่า การตายของผู้สื่อข่าวหญิงคือ น.ส.มิวะ ซะโดะ วัย 31 ปี เนื่องจากอาการหัวใจวายเมื่อปี 2556 นั้น แท้ที่จริงเกิดจากการทำงานหนักล่วงเวลานับร้อยชั่วโมงจนเสียชีวิต หรือที่เรียกว่า “คาโรชิ”

เธอทำงานล่วงเวลาถึง 159 ชั่วโมงในเดือนเดียว และมีวันหยุดเพียง 2 วันในเดือนก่อนที่เธอจะเสียชีวิต พ่อแม่ของเธอกล่าวว่า “แม้ในทุกวันนี้ เรายังยอมรับแทบไม่ได้ว่าการตายของลูกเป็นเรื่องจริง หวังว่าความเศร้าโศกของครอบครัวเราจะไม่สูญเปล่า”

ก่อนหน้านั้น มีกรณีการทำงานหนักจนตายของ น.ส.มัตสึริ ทะคะฮะชิ พนักงานของบริษัทโฆษณาเดนท์สุ ซึ่งต้องทำงานล่วงเวลาถึง 100 ชั่วโมงในเดือนเดียว จนเป็นเหตุให้เกิดความเหนื่อยล้าและความเครียดสะสมรุนแรง จนก่อเหตุฆ่าตัวตายไปในปี 2015 แต่ศาลของกรุงโตเกียวเพิ่งมีคำตัดสินเมื่อ 6 ต.ค. 2560 ให้บริษัทเดนท์สุจ่ายค่าปรับเพื่อเป็นการรับโทษในกรณีดังกล่าวเพียง 500,000 เยน (ราว 150,000 บาท) ฐานละเมิดกฎหมายแรงงานเท่านั้น

AFP

AFP
รายงานข่าวเรื่องพนักงานที่ทำงานหนักจนตายหลายคน ทำให้สังคมญี่ปุ่นตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมองค์กรกันมากขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ รศ.สกอตต์ นอร์ธ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยโอซากาออกมาชี้ว่า ปรากฏการณ์ “คาโรชิ” นั้นเป็นปัญหาเรื้อรังของสังคมญี่ปุ่น ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองที่ไม่จริงจังจากทางการและคำสั่งลงโทษแบบประนีประนอมจากศาลที่เพิ่งมีขึ้น คงไม่ช่วยให้บริษัทและองค์กรต่าง ๆ ปรับตัวเรื่องการปฏิบัติต่อพนักงานดีขึ้นสักเท่าไหร่

รศ. นอร์ธระบุว่า มีผู้ที่ยื่นเรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลกรณีมีญาติที่ทำงานหนักจนเสียชีวิตกว่า 2,000 รายในแต่ละปี โดยในจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ได้รับผลกระทบจากการทำงานหนัก เช่น ทุพพลภาพ เป็นอัมพาตเพราะสมองขาดเลือด หรือซึมเศร้ารุนแรงจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม มีคนเพียง 37% ในกลุ่มนี้ที่เรียกร้องค่าชดเชยจากรัฐบาลได้สำเร็จ

“งานคร่าชีวิต”

เจฟฟรีย์ เฟฟเฟอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เป็นผู้แต่ง และร่วมแต่งหนังสือ 15 เล่ม ในหัวข้อเกี่ยวกับทฤษฎีการจัดการ และบริหารทรัพยากรมนุษย์ ว่ากันว่าเขาเป็นนักคิดเรื่องทฤษฎีการจัดการที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกคนหนึ่ง

ผลงานของเขา “Dying for a Paycheck” หรือ “สิ้นชีวิตเพื่อเงินเดือน” ชี้ว่า การใช้ชีวิตในยุคสมัยใหม่ในหลายแง่ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน ความขัดแย้งที่บ้านและที่ทำงาน และความไม่มั่นคงทางการเงิน กำลังทำลายทั้งสุขภาพจิตและร่างกายของคนทำงาน

ในหนังสือ เฟฟเฟอร์ยกกรณีของ เคนจิ ฮามาดะ ชายชาวญี่ปุ่นวัย 42 ปีที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายที่ออฟฟิศของเขาในกรุงโตเกียว เขาทำงาน 75 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงในการเดินทางไปที่ทำงาน

ก่อนจะเสียชีวิต เขาทำงานติดต่อกันถึง 40 วัน

การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน การถูกปลดออกจากงาน ไม่มีการช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาล และความเครียดล้วนส่งผลต่อความไม่มั่นคงทางการเงินเป็นอย่างมาก

ระบบการทำงานกลายเป็นสิ่งที่ไร้มนุษธรรมไปแล้ว ด้านหนึ่ง เจ้าของธุรกิจละทิ้งภาระความรับผิดชอบที่มีต่อพนักงาน และอีกด้านหนึ่ง ระบบเศรษฐกิจที่มีการทำงานแบบไม่เต็มเวลามากขึ้นทำให้ความไม่มั่นคงด้านงานเพิ่มสูงขึ้น

“งานคร่าชีวิต”

Getty Images
“งานคร่าชีวิต”

ส่วนคำถามว่า แล้วพนักงานจะเปลี่ยนสภาพการทำงานอย่างไร เขามองว่า พนักงานทุกคนต้องรับผิดชอบสุขภาพร่างกายของตัวเอง หากคุณทำงานในที่ที่ไม่ให้คุณมีความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน คุณต้องลาออก

บางคนบอกว่า ไม่อาจจะลาออกจากงานได้

“ผมอยากจะบอกว่า หากคุณอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยควัน คุณก็จะพยายามหาทางหนีออกจากห้อง เพราะว่ามันจะส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพของคุณ”

ทุกคนต้องเรียกร้องให้มีกฎหมาย ต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องร่วมกัน

ข่าว บีบีซี ไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว