ปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน สิ้นสุดแล้ว เตรียมต่อด้วยเอลนีโญรุนแรง

NASA ภาพถ่ายมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อมองลงมาจากสถานีอวกาศนานาชาติ

ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2020 จนทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกติดต่อกันนานผิดปกติถึง 3 ปี ได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศออสเตรเลีย ประกาศเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในแบบจำลองภูมิอากาศโลกปัจจุบัน ชี้ถึงสภาวะหยุดนิ่งเป็นกลางทางภูมิอากาศ ซึ่งปกติจะเกิดขึ้นระหว่างการสลับสับเปลี่ยนไปมาของปรากฏการณ์เอลนีโญ – ลานีญา

นั่นหมายความว่าปรากฏการณ์ลานีญาที่ยาวนานถึง 3 ปีซ้อน ได้สิ้นสุดลงแล้วอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม บรรดานักอุตุนิยมวิทยาคาดว่าจะเกิดสภาพภูมิอากาศแบบขั้วตรงข้ามติดตามมาในไม่ช้า ซึ่งก็คือปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต โดยมีโอกาสจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ถึงกว่า 50%

ดร. นันทินี ราเมศ นักวิจัยอาวุโสด้านภัยธรรมชาติ ประจำองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) บอกว่า “แม้ยังไม่อาจทำนายได้อย่างแน่นอนว่า สภาพอากาศทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดหลังจากนี้ แต่แบบจำลองภูมิอากาศส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า อาจเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น”

โดยทั่วไปแล้ว เอลนีโญสามารถผลักดันให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นได้อีกราว 0.2 องศาเซลเซียส จึงนับว่าเสี่ยงและหมิ่นเหม่ต่อการทำให้โลกร้อนขึ้นจนเกินขีดจำกัด ซึ่งนานาประเทศได้กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นกว่าระดับมาตรฐานในอดีตอยู่แล้วถึง 1.2 องศาเซลเซียส

GETTY IMAGES

Getty Images
ปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นและอาจเกิดภัยแล้งเป็นวงกว้าง

ปรากฏการณ์เอลนีโญยังทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งเป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากน้ำทะเลในตอนกลางและทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเส้นศูนย์สูตรจะอุ่นขึ้น ส่งผลให้กระแสลมกรดในแถบนั้นเคลื่อนตัวพัดลงใต้ นำพาอากาศร้อนและแห้งไปยังแถบตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกมากขึ้น โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นเป็นเวลานาน 12-18 เดือน ในแต่ละครั้ง

สำหรับการเกิดลานีญาถึง 3 ปีซ้อน จัดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่หาพบได้ยากมาก โดยเคยมีการบันทึกไว้เพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์โลก ระหว่างช่วงปี 1973-1976 และ 1998-2001

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำการศึกษาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐฯ ชี้ว่าความผิดปกติของปรากฏการณ์ลานีญาเกิดจากการกระทำของมนุษย์ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่าจะเป็นวงจรความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยมองว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในระยะยาว จะส่งผลเอื้อให้ปรากฏการณ์เอลนีโญซึ่งตรงข้ามกับลานีญาเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่า โดยคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างยาวนานในภูมิภาคแปซิฟิกหลังจากนี้

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว