สถานการณ์การสู้รบในซูดานยังตึงเครียดหนัก ทำให้หลายประเทศทยอยอพยพนักการทูตและพลเมืองออกจากกรุงคาร์ทูม ขณะที่ทางการไทยติดตามใกล้ชิดเพื่อเตรียมความพร้อมย้ายคนไทยออกมาเพื่อความปลอดภัย
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) ว่า รัฐบาลติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซูดานอย่างใกล้ชิด พร้อมดูแลคนไทยและนักศึกษาไทยมุสลิมที่ศึกษาในประเทศซูดาน โดยวันที่ 22 เม.ย. พล.อ. สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือคนไทยในประเทศซูดานอย่างเต็มที่
ด้านทางกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอเส้นทางการอพยพสู่พื้นที่ปลอดภัย ณ สนามบินประเทศเพื่อนบ้านซูดานเช่น ไคโร ซาอุ และ ฐานทัพสหรัฐที่ Djibouti โดยทาง กระทรวงการต่างประเทศจะหารือเรื่องการอำนวยความสะดวกต่างๆ กับประเทศที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งพันธมิตรประเทศที่มีความพร้อมในการอพยพด้วย
ขณะเดียวกันหลายประเทศเริ่มทยอยอพยพพลเมืองออกจากเมืองหลวงของซูดานแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้อพยพบรรดานักการทูตออกจากซูดานด้วยเครื่องบินแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ด้านฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, และสเปน ก็อพยพพลเมืองของตัวเองออกไปแล้วเช่นกัน
มีหลายประเทศประสบความสำเร็จในการอพยพประชาชนออกจากซูดานตั้งแต่วันเสาร์ที่ผ่านมา ประมาณ 150 คน โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในกลุ่มอ่าวเปอร์เชีย เช่นเดียวกันกับ อียิปต์, ปากีสถาน และแคนาดา ผ่านเส้นทางในทะเลไปยังเมืองท่าเจดดาห์ของซาอุดีอาระเบีย
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มนักเรียนชาวต่างชาติบางส่วนจากแอฟริกา เอเชีย และตะวันออกกลางที่ยังติดอยู่ในกรุงคาร์ทูม และยังรอความช่วยเหลือ มีรายงานว่าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระบบไฟฟ้า และระบบขนส่งอาหารและน้ำดื่มถูกดัดขาด ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลง
ด้านความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมก็เริ่มทยอยเข้าพื้นที่ เช่น เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ประกาศส่งทีมตอบโต้ภัยพิบัติเข้าในพื้นที่ทั้งในและนอกพรมแดนซูดาน เพื่อประสานงานด้านมนุษยธรรม
ซาแมนธา พาวเวอร์ จากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ทีมงานของ ยูเอสเอด จะปักหลักให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่เคนยาเป็นลำดับแรก
ขณะที่องค์การอนามัยโลกประเมินว่า เหตุความรุนแรงและการสู้รบในซูดานได้คร่าชีวิตไปแล้วกว่า 400 ราย และมีผู้บาดเจ็บหลายพันราย เชื่อว่ายอดผู้เสียชีวิตจะสูงขึ้นไปอีกเนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ หลังจากโรงพยาบาลในหลายเมืองต้องปิดตัวลงจากเหตุปะทะกัน
ที่มาของความขัดแย้ง
นับตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารในเดือน ต.ค. 2021 ซูดานก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสภาที่นำโดยเหล่าแม่ทัพนายพล และมีนายพล 2 คนเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งล่าสุดนี้
คนแรกคือ พลเอก อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการกองทัพซูดาน ซึ่งกุมตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน
ส่วนอีกคนคือ พลเอก โมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือที่รู้จักกันในนาม “เฮเมดตี” ซึ่งเป็นรองประธานาธิบดี และผู้บัญชาการกองกำลัง RSF
ทั้งสองมีความคิดเห็นต่างกันในทิศทางการบริหารประเทศ รวมทั้งการนำซูดานกลับคืนสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือน
หนึ่งในประเด็นสำคัญของความขัดแย้งครั้งล่าสุดคือแผนการผนวกกองกำลัง RSF ซึ่งมีกำลังพลราว 100,000 นายให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพซูดาน รวมทั้งใครจะเป็นผู้นำเหล่าทัพใหม่นี้
หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว