เลือกตั้ง 2566 : โจทย์ก้าวไกล “บริหารชัยชนะ” 14 ล้านเสียง

กองโฆษก พรรคก้าวไกล
เรื่องโดย : บีบีซีไทย
ผู้เขียน : หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ 

ชัยชนะของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในศึกเลือกตั้ง 2566 เปิดประวัติศาสตร์ใหม่ให้การเมืองไทยในหลายมิติ และทำให้ “ระบอบเก่า” กำลังจะถูก “ปิดฉากลง” ทว่าพรรคสีส้มจำเป็นต้อง “บริหารชัยชนะ” ที่ได้มา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายขั้นแรกในการจัดตั้งรัฐบาล ส่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ คนใหม่

บีบีซีไทยชวน รศ.ดร.ธํารงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของไทย และรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล และอดีตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยภายหลังรัฐประหาร 2557 มองย้อนอดีต เทียบปัจจุบัน และพูดคุยเรื่องชัยชนะ มวลชน และระบอบเก่า

ชัยชนะประชาชน

จุดจบของประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง อาจเป็น จุดเริ่มต้น จุดต่อ หรือจุดของประวัติศาสตร์หน้าต่อมา

บางแง่มุมของเหตุการณ์ “ปฏิวัติประชาชน” เมื่อ 50 ปีก่อน พอเปรียบเทียบกันได้กับ “ปรากฏการณ์ก้าวไกล” ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ตามความเห็นของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ โดยเขาให้คำจำกัดความต่อประวัติศาสตร์ 2 หน้าที่ห่างกันถึงครึ่งศตวรรษเอาไว้ ดังนี้

14 ตุลาคม 2516 คือ “ชัยชนะของประชาชนบนท้องถนน” ที่มีเหนือฝ่ายเผด็จการทหาร

14 พฤษภาคม 2566 คือ “ชัยชนะของประชาชนโดยบัตรเลือกตั้ง” และเป็น “ชัยชนะที่เปลี่ยนเกมของชัยชนะ”

อาจารย์ธำรงศักดิ์ชี้ว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 และเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 เป็นชัยชนะบนพื้นฐานการชุมนุมบนท้องถนน ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือการลงสู่ถนนของประชาชนจำนวนมาก และการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดจากแรงกดดันบนท้องถนน

  • หลัง 14 ตุลาฯ 2516 : มีการชุมนุมประท้วงจำนวนมาก ทั้งนักศึกษา ข้าราชการ ตำรวจ ครู ชาวไร่ชาวนา แรงงาน เพราะทุกอาชีพถูกกดทับมายาวนาน 20 ปี ซึ่งชนชั้นนำทางเศรษฐกิจมองว่าเยอะเกินไป
  • หลังพฤษภาฯ 2535 : เกิดการชุมนุมและเผชิญหน้า โดยฝ่ายอำนาจเดิมได้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน แม้ดูเหมือนประชาชนแพ้ แต่เคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540

 

ทิม

Thai News Pix/ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขอบคุณชาวนนทบุรี ที่เลือก ส.ส.ก้าวไกลยกจังหวัด 8 เขต ท่ามกลางการต้อนรับจากประชาชน เมื่อ 18 พ.ค.

 

แต่ชัยชนะจากศึกเลือกตั้ง 2566 รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ระบุว่า “เป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ที่ฝ่ายทหารที่ทำรัฐประหารมาพ่ายแพ้อย่างยับเยินในการเลือกตั้ง ทั้งที่ทหารออกมาเพื่อรักษาชัยชนะ แต่กลับกลายเป็นว่าประชาชนใช้อำนาจบัตรเลือกตั้งล้มทหารและระบอบเก่าลงไป”

อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ยกคะแนนเสียงของ 5 พรรคหลักมาสนับสนุนคำอธิบายที่ว่า “ประชาชนรู้จักพลังอำนาจของบัตรเลือกตั้ง” แม้คนในชนบทเลือก ส.ส.เขต ตามวิถีที่ตัวเองผูกพันมา แต่บัตรปาร์ตี้ลิสต์กลับเทให้พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยรวมกัน 25 ล้านเสียง

  • พรรคก้าวไกล (ก.ก.) คะแนนรวม ส.ส.เขต 9.5 ล้านเสียง คะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14.2 ล้านเสียง
  • พรรคเพื่อไทย (พท.) คะแนนรวม ส.ส.เขต 9.2 ล้านเสียง คะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10.8 ล้านเสียง
  • พรรคภูมิใจไทย (ภท.) คะแนนรวม ส.ส.เขต 5 ล้านเสียง คะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1.1 ล้านเสียง
  • พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คะแนนรวม ส.ส.เขต 4.1 ล้านเสียง คะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.3 แสนเสียง
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) คะแนนรวม 3.5 ล้านเสียง ส.ส.เขต คะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.6 ล้านเสียง

จุดจบ “ระบอบเก่า” ?

หาก 14 ตุลาฯ 2516 ถือเป็นจุดสิ้นสุดการครองอำนาจอันยาวนานกว่าทศวรรษของ “ระบอบสฤษดิ์-ถนอม” นำไปสู่การขับไล่ “3 ทรราช”-จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร-พ้นจากวงอำนาจ

14 พฤษภาฯ 2566 ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดจบของ “ระบอบประยุทธ์” ตามความเห็นของ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพราะในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา มีรากแก้วและรากฝอยที่ทหารและระบอบเก่าฝังเอาไว้อยู่ แต่ถือได้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูประชาธิปไตยในไทย” และเชื่อว่าจะเกิดผลในเชิงบวกตามมาหลายกรณี

กรณีแรก “น้ำหนักที่เปลี่ยนไป” : ในขณะที่ ส.ว. ส่วนหนึ่งอ้างว่าตัวเองมีเสียงสนับสนุนให้ทำหน้าที่ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ตาม “คำถามพ่วง” ในระหว่างการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่ประชาชนเห็นชอบด้วย 15.1 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 58.07% ของผู้ออกไปลงประชามติ 29.7 ล้านคน พรรค ก.ก. ได้จัดตั้งรัฐบาลผสม 313 เสียง โดย 8 พรรคมีคะแนนมหาชนรวมกัน 26.6 ล้านเสียง หรือคิดเป็น 67% ของผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 39.2 ล้านคน

“สังคมเริ่มเห็นความระแวดระวังของ ส.ว. เป็นรายบุคคลเกี่ยวกับการตัดสินใจโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ว่ายังจะเป็นหน้าม้าให้คณะรัฐประหารต่อไป หรือเปลี่ยนมาอยู่ข้างประชาชน… เพียงสัปดาห์เดียว ส.ว. หลายคนทยอยทิ้งไพ่สนับสนุนระบอบเก่าด้วยแรงกดดันจากประชาชน” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์การเมืองไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายหลังรัฐบาลทหารของถนอมยึดอำนาจปลายปี 2514 ได้แต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการประจำ แต่พอเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ฝ่ายพลังใหม่ได้แต่งตั้งสมาชิก สนช. เข้าไปเบียดแทรก ทำให้ สนช. ชุดเดิมต้องค่อย ๆ ลาออก เพราะถูกแรงกดดันจากประชาชน และอาจด้วยปัจจัยความช่วยเหลือจากชนชั้นนำของสังคมไทย ทำให้ สนช. ชุดใหม่เข้าไปสวมแทน สนช. ชุดเดิมได้ในที่สุด

ลุงตู่

Thai News Pix/พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมขึ้นเวทีปราศรัยส่งท้าย เมื่อ 12 พ.ค.

 

กรณีที่สอง “รัฐธรรมนูญใหม่” : ชนวนเหตุที่ทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชนเรือนแสนภายใต้การนำของขบวนการนักศึกษาเมื่อ 50 ปีก่อน คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยและขับไล่รัฐบาลเผด็จการทหาร สิ่งที่ได้มาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ คือรัฐธรรมนูญปี 2517 ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของไทย” เช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภา 2535 ที่ได้มาซึ่ง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ปี 2540 โดยทั้ง 2 ฉบับกำหนดให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.

ส่วนสิ่งที่พรรค ก.ก. และพันธมิตรการเมืองจะร่วมกันผลักดัน โดยบรรจุไว้ในข้อแรกของบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคคือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลารณรงค์และผลักดันเกือบ 4 ปี หลังสังคมการเมืองไทยตกอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยการกำกับของของ คสช.

14 ล้านเสียง มาจากไหน

ชาวอนาคตใหม่/ก้าวไกลใช้เวลาเพียง 5 ปีในการพาตัวเองมาอยู่ในฐานะพรรคอันดับ 1 ของสภา แต่เส้นทางเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลยังเต็มไปด้วยอุปสรรค นอกจากต้องหาเสียงสนับสนุนจากคนในรัฐสภาเพื่อโหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ คนที่ 30 พลพรรคก้าวไกลยังต้องบริหารจัดการความรู้สึกของคนนอกสภาที่โหวตให้พรรคสีส้ม 14.2 ล้านเสียง ด้วย “ความหวัง” และต้องการเห็น “ความเปลี่ยนแปลง”

ถึงวันนี้ รังสิมันต์ โรม บอกว่ายังเร็วไปที่จะวิเคราะห์ได้ครบถ้วนว่า 14.2 ล้านเสียงที่พรรค ก.ก. ได้รับมาจากไหน แต่ว่าที่ผู้แทนฯ 2 สมัย ผู้ร่วมอุดมการณ์ตั้งแต่ต้นกับอนาคตใหม่ แล้วสืบทอดมาถึงก้าวไกล คิดว่ามี 5 ปัจจัย

  1. พรรค ก.ก. ไม่ใช่พรรคใหม่เอี่ยมอ่อง แต่ดำเนินการมาระยะหนึ่ง มีผลงานในสภาที่ประชาชนรับรู้-ชื่นชม และพูดแล้วตรงกับสิ่งที่ทำ
  2. แฟนคลับ หรือ “ด้อมก้าวไกล” มีมานานแล้ว แม้ในช่วงที่กระแสการเมืองไม่ค่อยมีคนสนใจมาก แต่ทุกครั้งที่สำนักวิจัยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพรรค พบว่ามีคนเลือกพรรค ก.ก. ราว 13-15% ซึ่งเปรียบเหมือน “บิ๊กแฟน” โดยคนกลุ่มนี้พยายามเอาสารของก้าวไกลไปกระจายต่อ และไปถึงกลุ่มที่พรรคไปไม่ถึง ทำให้ พรรค ก.ก. ประสบความสำเร็จมากขึ้น
  3. ผู้ร่วมเวทีประชันวิสัยทัศน์ (ดีเบต) โดยเฉพาะพิธา ที่ทำให้พรรค ก.ก. ได้สื่อสารและเชื่อมตัวเองเข้ากับผู้รับชมรายการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่พรรคเข้าไม่ค่อยถึงหากเทียบกับผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์
  4. นโยบายของก้าวไกลที่ตอบได้ทุกคำถาม และ “มีความฝันเดียวกับประชาชน”
  5. โซเชียลมีเดีย ซึ่งมีอัตราผู้งานเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด จากการที่ประชาชนทุกวัยต้องใช้สมาร์ทโฟนรับสวัสดิการของรัฐ และสื่อสาร
โรม

Thai News Pix/รังสิมันต์ โรม ร่วมขึ้นรถขบวนแห่ขอบคุณชาว กทม. ที่เลือก ส.ส. ก้าวไกล 32 จากทั้งหมด 33 เขต เมื่อ 15 พ.ค.

การบริหารความรู้สึกมวลชน

โฆษกพรรค ก.ก. ถอดโจทย์ในการ “บริหารชัยชนะ” ออกมาเป็นหลักปฏิบัติ 2 เรื่องคือ 1. เป็นรัฐบาลที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา และยืนยันในหลักการที่ถูกต้อง และ 2. ให้ข้อมูลกับประชาชนว่าในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ มีสาเหตุจากอะไร มีวัตถุประสงค์อย่างไร ซึ่งจะทำให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างประชาชนกับรัฐบาล และนำไปสู่ความไว้วางใจ

“ถึงที่สุดเราคงไม่ได้แค่บริหารชัยชนะทางการเมืองสำหรับกลุ่มก้อนใดเป็นพิเศษ แต่ต้องเป็นรัฐบาลของทุกคนให้ได้ แม้กับคนที่ไม่ชอบ หรือไม่ได้เลือกเรา” รังสิมันต์กล่าว

ในทัศนะของ ส.ส.โรม คุณสมบัติที่จำเป็นของพรรคการเมืองคือ ความยืดหยุ่นที่ “เปิดรับ” และ “ปรับได้” ไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์อย่างไรก็ต้องรับฟัง และคิดกับมัน

“เราพยายามทำให้พรรคมีอีโก้น้อยที่สุด เราอาจตัดสินใจพลาดได้ ไม่ถูกได้ แต่ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนเมื่อมีคนท้วงติง ไม่ว่าจากประชาชนจำนวนมาก หรือภายในพรรคเอง เช่น กรณีพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) เราก็ประชุมกันภายในพรรค ทำให้สุดท้ายเสียง ส.ส. ไปในทิศทางนั้นว่าเราไม่น่าจะต้องการพรรคอื่นเพิ่ม เสียงที่มีเพียงพอในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว” นักการเมืองผู้มีดีเอ็นเอก้าวไกลกล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ธำรงศักดิ์มองว่า ในช่วง 10 วันที่ผ่านมา พรรค ก.ก. บริหารจัดการมวลชนได้ดี และสร้างมาตรฐานใหม่ทางการเมือง จากในอดีต เรามักคุ้นชินกับข่าวแกนนำพรรคปิดห้องลับเจรจาต่อรองกันภายหลังเลือกตั้ง แต่ปัจจุบัน พรรคแกนนำได้เดินสายขอบคุณ-เข้าหาประชาชน ซึ่งอาจารย์ธำรงศักดิ์คิดว่า “คือการปลุกเร้าความหวังว่ามันเป็นจริงได้ให้กับประชาชน” นอกจากนี้ยังผลักดันนโยบายที่อยู่ในใจประชาชน เช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลงเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาลได้

ส่วนการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคที่ปรับ-เปลี่ยนไปตามอารมณ์และข้อคิดเห็นของมวลชนออนไลน์ นักวิชาการรายนี้เห็นว่า เป็นการ “คิดใหม่” และสร้าง “พลังการเมืองใหม่” จากที่ผู้จัดการพรรคเป็นคนตัดสินใจ แต่ตอนนี้สมาชิกพรรคทุกคนมีส่วนร่วม-มีบทบาท

ส้ม

Thai News Pix/ ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลมักแทนตัวเองว่า “ส้ม” และเรียกพิธา ซึ่งเป็น “คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว” ว่า “พ่อ”

 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวทวิตเตอร์พร้อมกันติดแฮชแท็ก “มีกรณ์ไม่มีกู” หลังทราบข่าวว่าแกนนำพรรค ก.ก. ติดต่อไปเจรจาให้พรรค ชพก. ที่มี กรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค เข้าร่วมรัฐบาล จนกลายเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์ยอดนิยมของเมืองไทย

ในเวลานั้น รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ไปร่วมสังเกตการณ์ในกิจกรรมสัมมนาว่าที่ ส.ส./ผู้สมัคร ส.ส. ก้าวไกล ที่ จ.ชลบุรี เมื่อ 19-20 พ.ค. จึงได้เห็นกระบวนการการเมืองภายในของพรรค 5 ขวบ และบอกเล่าบางช่วงบางตนให้บีบีซีไทยฟัง ดังนี้

  • ว่าที่ ส.ส.ปาร์ติ้สต์ ซึ่งเป็นแกนนำพรรค ตั้งคำถามว่า “แล้วมันจะต่างกันตรงไหน ถ้าเราเอาพรรคนี้เข้ามา ขณะที่ภาพลักษณ์ของกรณ์มาจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยไปร่วมเป่านกหวีดมาก่อน”
  • ว่าที่ ส.ส.นครราชสีมา 3 คน “จะร่ำไห้” โดยบอกว่า “เราเพิ่งสู้ในสนามอย่างดุเดือด ชาวบ้านถล่มให้เราเพื่อไม่เอาพรรคนี้ แต่กลายเป็นกลับตาลปัตร จะไปดึงมาร่วม ความหวังที่มีก็ดับสูญ”

คำประกาศขอโทษ และยุติการเจรจากับ ชพก. ถูกแจ้งผ่านเฟซบุ๊ก/ทวิตเตอร์ก้าวไกลภายใน 6 ชม. หลังข่าวสารแพร่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ ทำให้อาจารย์ธำรงศักดิ์นำมาวิเคราะห์ต่อว่านี่เป็นข้อด้อยหรือข้อเด่นของพรรค ก.ก.

“มันมีคนที่บอกว่า เห็นไหม พอได้แล้ว อยากเป็นรัฐบาลจะไปรวมกับใครก็ได้ แต่ปรากฏการณ์นี้ถูกประชาชนชี้ว่า ‘ห้ามคิดแบบเก่า’ ซึ่งในห้องประชุมบอกหนักแน่นเลยว่า ‘เป็นฝ่ายค้านก็ได้’ ผมก็ร้องโอ้ว…”

เขาขยายความว่า การทลายข้อจำกัดตัวเองว่าเป็นฝ่ายค้านได้ ทำให้พรรค ก.ก. ไม่ไปตกอยู่ภายใต้เกมต่อรอง โดยเดินไปเพื่อจัดตั้งให้รัฐบาลให้ได้ แต่ถ้าไปไม่ถึง ก็ไม่ใช่ความผิดของก้าวไกล

มวลชนหลัง 14 ตุลาฯ กับ มวลชนหลัง 14 พฤษภาฯ

ชัยชนะจากเหตุการณ์ “ปฏิวัติประชาชน” 14 ตุลาฯ 2516 นำไปสู่ “ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน” ประชาชนมีเสรีภาพในการคิดและการแสดงออก ก่อนเข้าสู่ “ยุคประชาธิปไตยร่วงโรย” หลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่จบลงด้วยรัฐประหารในวันเดียวกัน 6 ตุลาฯ 2519

ข้อมูลจากนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์หลายสำนักบันทึกเหตุการณ์หลัง 14 ตุลาฯ ตรงกันว่า ขบวนการนักศึกษาเข้าไป “เกี่ยวข้องแทบทุกเรื่อง” และมีลักษณะ “ถอนรากถอนโคน” มากขึ้น และเมื่อมีการจัดตั้ง “แนวร่วม 3 ประสาน”-นักศึกษา กรรมการ ชาวนา-เพื่อต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ในเดือน พ.ค. 2518 ชนชั้นกลางที่เคยสนับสนุนขบวนการนักศึกษาได้เริ่มอึดอัดและหวาดระแวง แล้วกลายเป็นฐานทางสังคมของขบวนการฝ่ายขวา

คำถามที่เกิดขึ้นคือ มวลชนหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 กับมวลชนหลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566 เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ตอบว่า ปี 2516 ขบวนการนักศึกษาใช้การกดดันนบนท้องถนน ไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะเป็นรัฐบาล แต่มีความอยากช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ แต่ขณะนี้เป็นกลไกของการเลือกตั้ง ความคิดคือตั้งรัฐบาลและบริหารผ่านกลไกรัฐราชการ ซึ่งไม่มีพลังมวลชนข้างนอก และเป็นมวลชนที่อยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งใช้ระบบเหตุผลถกเถียงกัน อะไรทำได้-ทำไม่ได้ อะไรคือปัจจัยที่พรรคต้องตอบผู้สนับสนุน

“คนกลุ่มนี้ไม่ได้กดดันให้พรรคก้าวไกลว่าต้องทำอะไร แต่จะลงถนนหากรัฐทหารไม่ทำตาม เป็นพลังโหมที่อยากได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง” รศ.ดร. ธำรงศักดิ์กล่าว

ม็อบ

Thai News Pix/ กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” รวมตัวหน้ารัฐสภา ย่านเกียกกาย เมื่อ 23 พ.ค. เรียกร้องให้ “ส.ว. ต้องฟังเสียงประชาชน” ด้วยการโหวตสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ คนใหม่

 

ด้านรังสิมันต์ ผู้เป็น “ดาวสภา” ของก้าวไกลออกตัวแทน “ด้อมส้ม” ว่า ยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าผู้สนับสนุนพรรค ก.ก. “ชนะแล้วทำอะไรก็ได้”

สิ่งที่ประชาชนวิจารณ์-เรียกร้องคือ การทำให้กระบวนการเป็นไปตามระบบปกครองปกติแบบที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ตามรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 272 ที่ให้ ส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ ซึ่งทุกคนต่างรู้ว่าเป็นกระบวนการชั่วคราว จะหมดอายุในปีหน้า คำถามคือทำไมต้องรอมันหมดอายุ ทำไมไม่ทำให้มาตรา 272 ถูกปิดสวิตช์ตอนนี้เลย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มี ส.ว. บางส่วนโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ “ปิดสวิตช์ตัวเอง”

“มันคือการคืนความปกติให้สังคมไทย ไม่ใช่ชนะแล้วทำอะไรก็ได้ แต่ที่ผ่านมาประชาชนถูกกดทับ เลยไม่ได้รับการตอบสนองต่อปัญหา พอมีพื้นที่ มีเสรีภาพ ก็เลยเอาปัญหาขึ้นมาพูด” รังสิมันต์กล่าว

แต่ถึงกระนั้น เขายอมรับว่า “รู้สึกถูกกดดัน” จากการแบกรับความคาดหวังที่สูงมากของประชาชน

“ไม่ใช่แค่เขาคาดหวังเรา เราก็คาดหวังตัวเองด้วย คาดหวังต่อคุณพิธา ต่อรัฐบาลชุดใหม่ มันก็กดดันอยู่แล้ว แต่เราจะไม่ปล่อยให้แรงกดดันมาทำให้เราเสียสมาธิ จนกลายเป็นความกังวล วิตกจริต สิ่งที่เราต้องทำคือต้องเล่นให้เป็น ไปสู่เส้นทางที่ควรไป ตั้งรัฐบาลให้ได้ เราต้องเยือกเย็นในการทำหน้าที่ตอนนี้” โฆษกพรรค ก.ก. ระบุ

ในฐานะอดีตนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย-ต่อต้านเผด็จการทหาร-รณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่ผันตัวมาเป็นผู้แทนราษฎร โรมมองเห็นความเหมือน-ต่างของ 2 บทบาท และเข้าใจข้อจำกัดของการทำงานการเมืองในระบบภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ท่ามกลางความคาดหวังจากผู้คนทุกกลุ่มในสังคมที่จ่ายเงินภาษีเป็นเงินเดือนของนักการเมือง

กก.

Thai News Pix/ หัวหน้า 8 พรรคการเมืองร่วมเซ็นเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล โดยมี 23 แนวนโยบายที่เป็น “วาระร่วม” ของทุกพรรค เมื่อ 22 พ.ค.

 

กับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่ถูกบรรจุเป็น “วาระร่วม” ในเอ็มโอยูจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค โดยพรรค ก.ก. ประกาศผลักดันเองในฐานะ “วาระเฉพาะ” ซึ่งน่าจะสร้างความผิดหวังให้ผู้สนับสนุนพรรคส่วนหนึ่ง

รังสิมันต์ผู้แถลงนโยบายการเมืองของก้าวไกลก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งรวมถึงการแก้ไขมาตรา 112 ยืนยันว่า “พรรคไม่ได้ทิ้งอุดมการณ์” และ “ยืนยันเดินหน้าต่อ พร้อมผลักดันเต็มที่ผ่านกลไกสภา” โดยเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ต่างพรรค คิดว่ายังมีเวลาพูดคุยโน้มน้าวเป็นรายบุคคล

ส่วน รศ.ดร.ธำรงศักดิ์อ่านใจมวลชนว่า คนจำนวนมากน่าจะมองเห็น “สถานะที่จะเดตล็อกในการเมืองเชิงตัวเลข” การไม่ใส่บางเรื่องไปในเอ็มโอยูเป็น “ยุทธวิธีสงวนจุดต่าง” โดยเปิดกว้างให้ทุกพรรคเดินไปร่วมกัน

ส่วนการที่มีผู้สนับสนุนพรรค เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ก่อตั้งพรรค อนค. และผู้ช่วยหาเสียงพรรค ก.ก. ออกมาเป็น “ฝ่ายกระตุก” ในเรื่องนี้ อาจารย์ธำรงศักดิ์ให้ความเห็นว่า ไม่ได้หมายความว่าเขาสูญเสียศรัทธาต่อพรรค แต่เพียงออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่ก็ยังไปด้วยกัน

“สถานการณ์ในเกมเหมือนฟุตบอล ทีมเล่นต้องฝ่าปราการฝ่ายตรงข้ามให้ได้ ไม่ใช่โค้ชเป็นตัวชี้ได้อย่างเดียว” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เปรียบเปรย

พลังฝ่ายอนุรักษนิยม

ท้ายที่สุดเมื่อให้ประเมินพลังฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งยังเป็นผู้ถือกฎหมายและยึดครองอำนาจรัฐในปัจจุบันในระยะเปลี่ยนผ่านสู่การมีรัฐบาลชุดใหม่

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์มองว่า คนรุ่นใหม่อ่านประวัติศาสตร์ไทยแบบใหม่ว่าหลัง 14 ตุลาฯ 2516 โดนล้อมปราบ 6 ตุลาฯ 2519 หลังพฤษภาฯ 2535 ประชาชนถูกทิ้งให้อยู่ในเกมแห่งการเลือกตั้ง 14 ปี แล้วค่อย ๆ ถูกล้อมทำลาย เราถูกหลอก ถูกทำให้ภาพมัวว่าการรัฐประหาร ปัญหาอยู่ที่ฝ่ายการเมือง แต่ใน 9 ปีที่ผ่านมา ประวัติศาสตร์เป็นเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งชี้ไปที่ระบอบเก่า

“หากถามว่าโอกาสที่รัฐทหารจะทำการรัฐประหารอีกครั้งเป็นครั้งที่ 14 มีไหม ต้องตอบว่ามี เพราะรัฐประหารคือวิธีการเข้าสู่อำนาจรัฐบาลที่ง่ายที่สุดของพวกเขา และสามารถออกแบบให้พวกเขาอยู่ได้เป็น 10 ปี ดังนั้นการรัฐประหารจึงเป็นเจตจำนงตั้งแต่ในมุ้ง ส่วนข้ออ้างไปหาเอาข้างหน้า เพราะปัญหาของสังคมมีมากมาย… แต่ตอนนี้ประชาชนมีฉากทัศน์ใหม่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มันกำลังเผชิญหน้ากัน” รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ระบุ

ขณะที่รังสิมันต์นิยามชัยชนะในคูหาเลือกตั้ง 2566 ว่าเป็น “วันนับถอยหลังระบอบประยุทธ์”

“วันเวลาแห่งความหวาดกลัวได้จบสิ้นลงแล้ว เรามองถึงอนาคต วันใหม่ของประชาชน อาจไม่สบบูรณ์แบบ แต่เราจะเขียนประวัติศาสตร์ร่วมกัน” เขากล่าวทิ้งท้าย

ธำรง

Thamrongsak Petchlertanan / ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ระบุว่า เมื่อ 3 ป. “จบจากอำนาจอย่างสิ้นไร้ไม้ตอก พวกที่เออออจะค่อย ๆ หายไป เพราะอำนาจรัฐประหารไม่ได้อยู่ในมือพวกเขาแล้ว แต่ไปอยู่ที่กองทัพ”

 

หมายเหตุ : ข่าว บีบีซีไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว