ประธาน ส.อ.ท.กระทุ้งรัฐชะลอขึ้นค่าไฟ ช่วยอุตสาหกรรม ประชาชน

ค่าไฟ

คณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ชงรัฐชะลอขึ้นค่าไฟ ต้นทุนพุ่ง ประชาชนซื้อของแพง

วันที่ 12 ธันวาคม 2565 มติชน รายงาน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ส.อ.ท.ได้เสนอที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนอของ ส.อ.ท. เพื่อเสนอภาครัฐชะลอขึ้นค่าไฟงวดใหม่ (ม.ค.-เม.ย. 2566) ออกไปก่อน เพื่อไม่เป็นการซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรม

เนื่องจากหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประกอบกับที่ผ่านมาต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปรับขึ้นจากราคาพลังงาน วัตถุดิบ ค่าแรง หากค่าไฟงวดใหม่ขึ้นอีกอาจส่งผลให้สินค้าบางประเภทต้องปรับราคาขึ้นตาม

“การที่รัฐได้มีมาตรการดูแลค่าไฟในส่วนของภาคครัวเรือน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากจะดีที่สุดควรจะต้องดูแลทั้งระบบ เพราะหากผู้ประกอบการต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ต้องขึ้นราคาสินค้า ผลักภาระไปยังประชาชนอยู่ดี” นายเกรียงไกรกล่าว

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เหตุผลที่เสนอให้ชะลอปรับขึ้นค่าไฟฟ้ามี 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1.ค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 2565) ได้ถูกปรับขึ้นมากถึง 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการผลิตอยู่แล้ว

2.มีการประมาณการต้นทุนค่าไฟฟ้าว่า จะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จากการผลิตก๊าซในอ่าวไทยมากขึ้นและราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จะลดลงสู่ระดับปกติ ดังนั้น ควรเป็นโอกาสให้ชะลอการขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ไว้ก่อน เพื่อรอต้นทุนที่ถูกลงครึ่งปีหลัง

3.ภาระต้นทุนเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนราว 1.2 แสนล้านบาท อยู่ในวิสัยที่ภาครัฐจะบริหารจัดการให้ กฟผ.สามารถเพิ่มการรับภาระได้มากขึ้นและยาวนานขึ้น

และ 4.ในสถานการณ์ค่าไฟสูงมาก เศรษฐกิจชะลอตัว กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองสูงมากกว่าปกติ จึงควรให้ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง เร่งตัดทอนการลงทุนอย่างเข้มข้น เพื่อนำเงินส่วนนี้มาช่วยลดค่าไฟฟ้า