รัฐดิ้นอุตลุดตรึงค่าไฟต้นปีหน้า 4.72 บาท-ปตท.ช่วย กฟผ.ลดค่าก๊าซ

กฟผ. เชื่อมระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์เพิ่มศักยภาพจ่ายไฟสองเท่า

ค่าพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าไฟฟ้า แพงขึ้นจากปัญหาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของโรงไฟฟ้าในปัจจุบันยังไม่มีทีท่าจะผ่อนคลายลง จากการประมาณการของ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 หรือในงวดค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (ค่า Ft) รอบที่ 1/2566 ปรากฏ การผลิตไฟฟ้าในประเทศยังคงใช้ “ก๊าซธรรมชาติ” เป็นเชื้อเพลิงหลักร้อยละ 54.20 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาวและมาเลเซีย) รวมร้อยละ 13.81 และลิกไนต์ของ กฟผ. ร้อยละ 8.46 เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน ร้อยละ 6.25 พลังน้ำของ กฟผ. ร้อยละ 3.48 น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 0.73 น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) ร้อยละ 6.31 และอื่น ๆ อีกร้อยละ 6.75

โดยราคาก๊าซหรือ LNG (Japan-Korea Market หรือ JKM) จากงวดต้นปี 2564 อยู่ที่ 10 เหรียญ/ล้าน BTU ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 30 เหรียญ/ล้าน BTU ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาและคาดการณ์แนวโน้มราคา LNG ในปี 2566-2567 จะอยู่ระหว่าง 25-33 เหรียญ/ล้าน BTU

ขณะที่การนำเข้าก๊าซ LNG ในราคา Spot ซึ่งมีราคาแพงกว่าการนำเข้าตามปกติยังเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลง ทั้งจากปริมาณก๊าซโดยรวมทั้งแหล่งที่ลดลง รวมไปถึง ช่วงรอยต่อในการเปลี่ยนผ่านผู้พัฒนา แหล่งก๊าซเอราวัณ ทำให้การผลิตลดลงจากที่ตกลงกันไว้ โดยในกรณีหลังยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้ระหว่าง หน่วยงานที่กำกับดูแล-ผู้พัฒนารายเดิม และ ผู้พัฒนารายใหม่

นอกจากการปรับขึ้นราคาของก๊าซ LPG แล้ว ค่าไฟฟ้าที่ถีบตัวสูงขึ้นยังมีปัญหาซับซ้อนมาจากกรณีที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยอมแบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าแทนประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันต่อเนื่องกันมา เพื่อให้ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้า “ต่ำกว่า” ความเป็นจริง คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 83,010 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นจาก ค่า Ft ขายปลีกในงวดที่ 4/2565 (กันยายน-ธันวาคม) เท่ากับ 93.43 สตางค์/หน่วย ส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้าปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.72 บาท/หน่วย

การแบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้าแทนประชาชนดังกล่าว หาก กฟผ.ยังจำเป็นต้องทำตามนโยบายรัฐบาลเพื่อให้ “ค่าไฟฟ้า” ที่ประชาชนจะต้องจ่ายนั้น “จ่ายต่ำกว่าความเป็นจริง” กำลังส่งผลกระทบต่อบัญชี กฟผ.ที่เป็น “ตัวแดง” ตลอดจน “สภาพคล่อง” ของ กฟผ.จนอยู่ในระดับอันตราย ถ้า กฟผ.ยังต้องรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าทะลุเกิน 100,000 ล้านบาท เฉกเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่พยายามตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้อย่างไม่ลืมหูลืมตาตามนโยบายรัฐ เกินกว่าความสามารถของกองทุนไปแล้ว

กฟผ.เองได้ส่งสัญญาณอันตรายข้างต้น ไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอให้ปรับ ค่า Ft ใน 2 นัยด้วยกันคือ 1) การสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่แท้จริง กับ 2) การเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาชำระหนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับภาระไว้ ส่งผลให้ กกพ.ต้องออกเอกสารรับฟังความคิดเห็นในการปรับขึ้นค่า Ft ในงวดที่ 1/2566 (มกราคม-เมษายน) ไว้เป็น 3 กรณีด้วยกันคือ

กรณีที่ 1 ค่า Ft เรียกเก็บจำนวน 224.98 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนจำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์/หน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาท/หน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เรียกเก็บจำนวน 191.64 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนจำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์/หน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาท/หน่วย

กรณีที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บจำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย โดย กฟผ.จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาท/หน่วย

กราฟิก ค่าไฟ

ทั้งนี้ จะเห็นว่าทางเลือกทั้ง 3 กรณีของ กฟผ.นั้น ค่าไฟฟ้าจะต้องปรับขึ้นมาจาก 4.72 บาท/หน่วย ในปัจจุบันมาอยู่ระหว่าง 5.37-6.03 บาท/หน่วย ขึ้นอยู่กับจะเลือกแนวทางไหน โดยกรณีที่เสี่ยงน้อยที่สุดของ กฟผ.ก็คือ กรณีที่ 1 ที่ กฟผ.จะได้รับเงินที่แบกรับภาระไว้คืนจนครบภายใน 1 ปี แต่จะต้องแลกมาด้วยการปรับค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 6.03 บาท/หน่วย ซึ่งยากจะเป็นที่ยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม ทาง คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาก็ได้ออกแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.) ด้วยการ “ขอความร่วมมือ” หรือพูดง่าย ๆ ให้ บริษัท ปตท.พิจารณาจัดสรร “เงินรายได้” จากธุรกิจโรงแยกก๊าซประมาณเดือนละ 1,500 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน รวม 6,000 ล้านบาท มาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

เงินจำนวน 1,500 ล้านบาท จาก ปตท.จะถูกใช้ 1) ให้เป็น “ส่วนลด” ราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.ขายให้กับ กฟผ. กับ 2) ให้เป็น “ส่วนลด” ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซ LPG เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ กพช.ยังให้ ปตท.-กฟผ. ร่วมกันคิดราคาก๊าซธรรมชาติที่ ปตท.ขายให้กับ โรงไฟฟ้า กฟผ.-โรงไฟฟ้า IPP และ โรงไฟฟ้า SPP ใน “ระดับราคาเดียวกัน” กับราคาที่ใช้ประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับค่า Ft ตั้งแต่เดือนที่ กพช.มีมติ

โดยแนวนโยบายของ กพช.ดังกล่าวเป็นความพยายามที่จะ “กด” ค่า Ft ที่จะมีผลต่อราคาค่าไฟฟ้าในงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ให้ลดลงจากแนวทางที่ กกพ.เสนอไว้ หรือ อย่างน้อยให้ใกล้เคียงกับ ค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่เก็บอยู่ 4.72 บาท ตามข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุด

ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่า ปตท.จะยอม “ตัดรายได้” จากโรงแยกก๊าซของตัวเองมาโปะช่วย กฟผ.ตามข้อเสนอของ กพช.หรือไม่ และอย่างไร