ธุรกิจเด่นปี 2566 คลินิกโรคทั่วไป-เฉพาะทาง 2 เดือนปีนี้จัดตั้งเพิ่ม 32.41%

ธุรกิจการแพทย์
Doctor with a stethoscope in the hands and hospital background.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางเติบโตต่อเนื่อง โดย 2 เดือนแรกของปี 2566 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น 32.41% ทุนเพิ่มขึ้น 1.96 เท่า เกินครึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

วันที่ 5 เมษายน 2566 นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในปี 2566 ธุรกิจที่มีความโดดเด่น คือ ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทาง พิจารณาจากปริมาณการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ ทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ และผลประกอบการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งนำข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ พบว่า ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไป เป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตในหลายมิติ ซึ่งไม่ใช่แค่บุคลากรทางการแพทย์เท่านั้นที่สนใจเข้ามาลงทุน แต่นักลงทุนทั่วไปก็สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจเช่นเดียวกัน

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

โดยเฉพาะ 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) ซึ่งเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง และมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 400 ราย ทุนจดทะเบียน 648.25 ล้านบาท ปี 2564 จดทะเบียน 554 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 154 ราย หรือร้อยละ 38.50) ทุน 970.53 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 322.23 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.72)

ปี 2565 จดทะเบียน 893 ราย (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 339 ราย หรือร้อยละ 61.20) ทุน 2,227.70 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 1,257.17 ล้านบาท หรือร้อยละ 129.53) และ 2 เดือนแรกของปี 2566 จดทะเบียน 192 ราย เพิ่มขึ้น 47 ราย หรือร้อยละ 32.41 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 จดทะเบียน 145 ราย) ทุน 664.50 เพิ่มขึ้น 440.25 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.96 เท่า (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 ทุน 224.25 ล้านบาท)

ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางดำเนินกิจการอยู่ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จำนวน 3,780 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.44 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 18,033.86 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.09 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 3,419 ราย คิดเป็นร้อยละ 90.45 มูลค่าทุน 16,852.09 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 1,905 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.40 ทุนจดทะเบียน 10,651.14. ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.06

ภาคกลาง 578 ราย ร้อยละ 15.29 ภาคเหนือ 386 ราย ร้อยละ 10.21 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 372 ราย ร้อยละ 9.84 ภาคตะวันออก 298 ราย ร้อยละ 7.88 ภาคใต้ 186 ราย ร้อยละ 4.92 และภาคตะวันตก 55 ราย ร้อยละ 1.46

ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของคนไทย มีมูลค่าการลงทุน 17,114.53 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 94.90 ของการลงทุนในธุรกิจนี้ทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ สิงคโปร์ มูลค่า 327.92 ล้านบาท ร้อยละ 1.82 จีน 165.99 ล้านบาท ร้อยละ 0.92 ฮ่องกง 116.37 ล้านบาท ร้อยละ 0.65 และสัญชาติอื่น ๆ 309.05 ล้านบาท ร้อยละ 1.71

การลงทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ที่เพิ่มมากขึ้นของผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นวัยที่เจ็บป่วยได้ง่าย ประกอบกับปัญหาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ รูปแบบการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบ ปัญหาความเครียด ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของคน ทำให้อัตราการเจ็บป่วยของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ธุรกิจด้านสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์จึงเป็นที่ต้องการและมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีจำนวนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในปี 2565 จำนวน 12,698,329 คน หรือร้อยละ 19.2 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (66.09 ล้านคน) ที่มา : กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2559-2563 โดยในปี 2563 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 26,751 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6 จากปี 2562 ซึ่งค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายด้านการเข้ารับการรักษา มากที่สุดจำนวน 255,883 ล้านบาท รองลงมา คือ ยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 198,764 ล้านบาท และอุปกรณ์เครื่องใช้อายุรเวท จำนวน 7,598 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55, 43 และ 2 ตามลำดับ

จากค่าใช้จ่ายด้านการเข้ารับการรักษามากที่สุด จึงเป็นปัจจัยเสริมให้ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางมีการจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางเป็นธุรกิจประเภทสถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ผู้ป่วยเลือกใช้บริการคลินิกทั่วไปและเฉพาะทาง ซึ่งเกี่ยวข้องกับความสะดวกในการใช้บริการ เนื่องจากสามารถใช้บริการได้ในช่วงเวลาเลิกงาน หรือนอกเวลาราชการ การเดินทางที่สะดวก ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน ประกอบกับเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพของคนในปัจจุบันที่ต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรคเฉพาะทาง

นอกจากนี้ สถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ มากขึ้น เช่น มลพิษทางอากาศ โรคติดต่ออุบัติใหม่ เป็นต้น อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง ลดจำนวนการใช้บริการที่โรงพยาบาล จึงเกิดโครงการที่คลินิกเอกชนเข้าร่วมกับประกันสังคม คลินิกเครือข่ายของโรงพยาบาล คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น


ทำให้ประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิบัตรทอง สามารถใช้บริการคลินิกได้ จากปัจจัยที่กล่าวมานั้น จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบธุรกิจคลินิกโรคทั่วไปและเฉพาะทางที่จะมีโอกาสเติบโต เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการและอัตราการเจ็บป่วยในอนาคต