จับกระแส Metaverse ในธุรกิจการแพทย์

การแพทย์
คอลัมน์ : มองข้ามชอต
ผู้เขียน : ปราณิดา ศยามานนท์
EIC : ธนาคารไทยพาณิชย์

หากพูดถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อโลกธุรกิจในระยะข้างหน้า หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น Metaverse ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทในเชิงธุรกิจมากขึ้นในหลากหลายวงการ

ธุรกิจบริการทางการแพทย์ (healthcare) ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถนำเอา Metaverse มาประยุกต์ใช้ในรูปแบบของการให้บริการทางการแพทย์บนโลกเสมือน ซึ่งนำมาสู่การให้บริการรักษาพยาบาลจริงได้มากขึ้น จากรายงาน Accenture Digital Health Technology Vision 2022 ที่สำรวจความคิดเห็นผู้บริหารธุรกิจเฮลท์แคร์จาก 10 ประเทศทั่วโลก

พบว่า 81% เห็นว่า Metaverse จะมีประโยชน์ต่อวงการเฮลท์แคร์ เป็นอย่างมาก โดยราวครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า Metaverse จะเข้ามามีบทบาททำให้วงการแพทย์มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ Technavio บริษัทวิจัยด้านการตลาดชั้นนำของโลกประมาณการว่า Metaverse จะถูกนำมาใช้ในธุรกิจเฮลท์แคร์เพิ่มขึ้นโดยคาดว่าจะเติบโตราว 34% ต่อปีในช่วงปี 2021-2026

Metaverse เป็นหนึ่งในช่องทางสำคัญที่จะช่วยต่อยอดการรักษาพยาบาลทางไกลหรือ telemedicine ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งตามปกติจะดำเนินการผ่าน VDO call แต่ในระยะต่อไป ผู้ให้บริการสุขภาพมีแนวโน้มจะประยุกต์ใช้ Metaverse ในการให้บริการ telemedicineมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแค่ผ่านทางเทคโนโลยี VR (virtual reality) หรือ AR (augmented reality) เท่านั้น

แต่จะเป็นการหลอมรวมเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ มาผนวกกับการนำเอา AI (artificial intelligence) เข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้เสมือนจริงมากขึ้น จากการมีปฏิสัมพันธ์ของแพทย์ ผู้ป่วย รวมถึงมีการใช้เครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นเหมือนการจำลองโรงพยาบาลเสมือนจริง ไว้บน Metaverse และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการลดความผิดพลาดที่เกิดจากตัวคนอีกด้วย

การให้บริการสุขภาพบน Metaverse อาจจะมีรูปแบบทั้งการให้คำปรึกษา การอธิบายขั้นตอนการรักษาแบบเสมือนจริงให้กับผู้ป่วย อาจอยู่ในรูป 3D videos ที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การเตรียมการผ่าตัด ซึ่งทีมแพทย์สามารถอธิบายขั้นตอนการรักษาให้กับผู้ป่วยได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายมากขึ้นตลอดจนการให้การรักษาในรูปแบบของ physiotherapy ผ่านกล้อง ซึ่งจะช่วยให้สามารถติดตามอาการทางกายภาพต่าง ๆ ได้

ตัวอย่างเช่น เคสการผ่าตัดกระดูก แพทย์สามารถติดตามอาการโดยดูลักษณะการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยผ่านกล้องในรูปแบบ 3 มิติ นอกจากนี้ ข้อมูลอาการของผู้ป่วยจะถูกส่งตรงไปยังแพทย์ผู้ให้การรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางไปโรงพยาบาล อีกทั้งยังไม่มีข้อจำกัดสำหรับการใช้บริการข้ามพรมแดน

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำหรับการใช้ในการศึกษาและเรียนรู้เทคโนโลยีการรักษาใหม่ ๆ อาทิ cloud gaming technology ซึ่งจะช่วยให้แพทย์จากทั่วทุกที่สามารถฝึกหัดเรียนรู้วิธีการรักษาใหม่ ๆ พร้อมกัน หรือแม้แต่การฝึกหัดผ่าตัดผ่านคนไข้เสมือนจริง โดยมีการจำลองเนื้อเยื่อ ของเหลวในร่างกายต่าง ๆ ไว้บน cloud

ทั้งนี้เทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองและวัตถุเสมือน ซึ่งอาศัยเทคโนโลยีหลายอย่าง อาทิ AI, IOT รวมถึง cloud computing จะถูกนำมาใช้ในการสร้างคนไข้เสมือนจริง โดยอาศัยการเก็บข้อมูลการรักษาและนำเอามาวิเคราะห์เพื่อใช้อ้างอิงการรักษาในเคสที่คล้ายคลึงกันได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยการเรียนรู้ผ่าน Metaverse อาจจะอยู่ในรูปแบบการรักษาคนไข้รายคน หรือรูปแบบการประชุมทางการแพทย์ทางออนไลน์ โดยมีแพทย์เฉพาะทางในแต่ละด้านเป็นผู้สอน หรือแม้แต่การสอนการใช้เครื่องมือแพทย์ใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้ทางการแพทย์กว้างขวางมากขึ้น

แต่ความท้าทายของการนำ Metaverse มาใช้ในวงการเฮลท์แคร์ มีหลายด้านคือ 1) ต้นทุนการใช้งานยังค่อนข้างสูง ตั้งแต่ราคาของอุปกรณ์สวมใส่ ทั้งแว่นตา กล้อง เซ็นเซอร์ ซึ่งผู้ป่วยทั่วไปยังไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีสูงและราคาแพง ดังนั้น ในการใช้งานจริง อาจจะยังจำกัดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลที่เน้นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง ตลอดจนเน้นการใช้งานสำหรับการวิจัยและพัฒนาบุคลากรการแพทย์ก่อน

2) ข้อจำกัดในการเข้าถึงผู้ใช้งานอย่างแพร่หลาย เนื่องจากต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายอย่างประกอบเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะการใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น การพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ใช้งานได้ง่าย ไม่มีความซับซ้อนจนเกินไปจึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้มีผู้ใช้งานได้แพร่หลายมากขึ้น

นอกจากนี้ 3) ความกังวลในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวยังเป็นข้อจำกัดสำคัญของการนำเอา Metaverse มาใช้ เนื่องจากการรักษาผ่านช่องทาง virtual จะต้องมีการส่งผ่านข้อมูลต่าง ๆ บน cloud ดังนั้นการส่งผ่านข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องการรักษาความลับและความปลอดภัยอาจจะต้องมีการนำเอาเทคโนโลยี block chain เข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดความมั่นใจในด้านความปลอดภัยของข้อมูล

ขณะเดียวกันกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลการรักษาพยาบาลที่มีความอ่อนไหวและต้องการความปลอดภัยสูงจะต้องครอบคลุมไปถึงการเปิดเผยและส่งข้อมูลผ่านทางออนไลน์เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งานเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้จากความท้าทายที่เป็นข้อจำกัด

ดังนั้นการนำเอา Metaverse มาใช้ในช่วงแรก อาจจะเริ่มเน้นการใช้งานด้านการศึกษาและวิจัยก่อน แล้วจึงค่อยขยายมาสู่การใช้งานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยเน้นความร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีเพื่อเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีราคาที่ถูกลง ตลอดจนเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรู้จัก เรียนรู้หรือทดลองใช้งานก่อนที่จะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายในระยะต่อไป