“เคทีซี พี่เบิ้ม” ไม่แข่งหั่นดอกเบี้ย “จำนำทะเบียนรถ” ชูจุดเด่นบริการ

สินเชื่อทะเบียนรถเคทีซี

“เคทีซี พี่เบิ้ม” ลั่นเดินหน้าลุยธุรกิจ “จำนำทะเบียนรถ” เต็มสูบ ชูจุดเด่นบริการ “ดีลิเวอรี่-อนุมัติไวใน 2 ชม.” ยันไม่แข่งหั่นดอกเบี้ย หลัง “ออมสิน” ร่วมทุน “ศรีสวัสดิ์” ประกาศกดดอกเบี้ยในตลาดไม่เกิน 18% ต่อปี ไม่เน้นขยายสาขา จับมือกรุงไทยให้ลูกค้ายื่นเอกสารผ่านสาขาแบงก์

นายวรพงศ วงษ์กะพันธ์ ผู้จัดการ-ธุรกิจสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “เคทีซี พี่เบิ้ม” ให้บริการภายใต้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance) และ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (Pico Finance) อย่างไรก็ดี ในระยะแรก “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะรุกให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ (จำนำทะเบียนรถ) เป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดสินเชื่อที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่หลักแสนล้านบาท (ทั้งในและนอกระบบรวมกัน)

นอกจากนี้ ยังมีเล่มทะเบียนรถเป็นหลักประกัน ทำให้ความเสี่ยงน้อยกว่า สินเชื่อส่วนบุคคล (พีโลน) และ บัตรกดเงินสดที่เป็นคลีนโลน โดยบริษัทกำหนดอัตราดอกเบี้ยภายใต้ข้อกำหนกของ ธปท. ตั้งแต่ 21-24% ขึ้นอยู่กับข้อมูลรายได้และอาชีพของผู้ขอสินเชื่อ รวมถึงสภาพรถ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน “เคทีซี พี่เบิ้ม” เริ่มเดินหน้าให้บริการสินเชื่อทะเบียนรถอย่างเต็มที่แล้ว หลังทดลองมาระยะหนึ่ง และเปิดตัวทางการมาได้ประมาณ 2 เดือน พบว่า มียอดขอสินเชื่อเข้ามาประมาณ 100 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 บริษัทฯ จะเน้นการขยายธุรกิจ (Scale Up) โดยมีเป้าหมายพอร์ตสินเชื่อ 1,000 ล้านบาทในปีหน้า

นายวรพงศ กล่าวว่า กลยุทธ์การแข่งขันของ “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะไม่ใช้วิธีการขยายสาขา เพื่อขยายธุรกิจอย่างคู่แข่งในตลาด เนื่องจากเป็นผู้เล่นใหม่ในตลาด อีกทั้งต้นทุนในการเปิดสาขาใหม่ยังค่อนข้างสูง โดยบริษัทฯ จะใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ โดยชูกลยุทธ์การให้บริการแบบดีลิเวอรี่ผ่านตัวแทนทั่วประเทศ รวมถึงความรวดเร็วในการให้บริการที่สามารถอนุมัติเงินก้อนได้ทันทีภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

“การให้บริการเดลิเวอรี่ของเราครอบคลุมทั่วประเทศผ่านตัวแทนของ KTC รวมถึงจุดเด่นที่รับเงินก้อนได้ทันทีในกรณีที่เอกสารครบภายใน 2 ชั่วโมงนั้น แตกต่างจากคู่แข่งที่อาจโอนเงินให้บางส่วน แต่ไม่ใช่ก้อนหลักหลังจากที่ลูกค้าได้รับอนุมัติ เช่น วงเงิน 700,000 บาท เราก็สามารถโอนให้ได้เลย 700,000 บาททันทีหลังการอนุมัติ” นายวรวงศกล่าว

สำหรับการขยายธุรกิจระยะข้างหน้า “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะใช้สาขาธนาคารกรุงไทย (KTB) เป็นอีกหนึ่งช่องทางให้บริการ โดยปัจจุบันลูกค้าสามารถยื่นเอกสาร ผ่านสาขาธนาคารกรุงไทยได้ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลรวม 20 สาขา นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจับมือกับพันธมิตร เช่น จับมือกับ “ลาล่ามูฟ” (Lalamove) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น และแฟรนไชส์ “หมูทอดกอดคอ” ร่วมกับ บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เป็นช่องทางขยายสินเชื่อ และ จะขยายสู่พันธมิตรใหม่ ๆรายอื่นเพิ่มเติมอีก

ส่วนแนวโน้มการแข่งขันในตลาด หลังการร่วมทุนระหว่างธนาคารออมสิน และ บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) นั้น นายวรพงศ กล่าวว่า คาดว่าการผนึกกำลังดังกล่าว ไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาด เนื่องจากเชื่อว่าการคิดดอกเบี้ยและคุณภาพในการให้บริการสินเชื่อจำนวนทะเบียนแต่ละบริษัทมีความใกล้เคียงกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี “เคทีซี พี่เบิ้ม” จะไม่ลงไปสู้ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย โดยเชื่อว่าจุดเด่นในการให้บริการดีลิเวอรี่และความรวดเร็วในการอนุมัติจะช่วยให้บริษัทฯ สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ สำหรับบริการจำนำทะเบียนรถยนต์ จะให้วงเงินสูงสุดอยู่ที่ 700,000 บาท ส่วนบริการรถจักรยานยนต์ จะให้วงเงินสูงสุดอยู่ที่ 100,000 บาท เฉพาะรถที่ต่ำกว่า 400 ซีซี.


นายวรพงศ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์หลังเปิดให้บริการได้ 2 เดือนนั้น พบว่า ปริมาณหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทฯ อยู่ที่ประมาณ 2% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมด และเริ่มเห็นสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้ โดยบริษัทฯ ตั้งใจจะคุมตัวเลข NPL ไว้ไม่เกิน 2% เพื่อป้องกันความเสี่ยง ขณะที่ยอดอนุมัติสินเชื่อ (Approval Rating) อยู่ที่ 70%