จุรินทร์ ล่องใต้ ประชุมทีมเซลล์แมนปัตตานี แก้ 8 ปัญหาประมง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ทีมเซลล์แมนจังหวัดปัตตานี

จุรินทร์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ประชุมเซลล์แมนจังหวัดปัตตานี พร้อมเคาะแก้ 8 ปัญหากลุ่มประมงและเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ 

วันที่ 9 เมษายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
เปิดเผย ภายหลังการประชุมทีมเซลล์แมนจังหวัดปัตตานี ว่า ที่ประชุมต้องการให้หน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มประมงที่ยังได้รับความเดือดร้อน มีประเด็นต้องการช่วยเหลืออย่างมาก 8 ประเด็น คือ

1.รัฐบาลยังค้างจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกอบการประมงที่ต้องยกเลิกประมงไป หรือต้องเลิกการทำประมง เพราะนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

ขณะนี้ มีเรือ 104 ลำที่ถึงเวลาจ่ายเงินชดเชย แต่ยังค้างจ่ายที่ประชุมมีมติให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)ดำเนินการเร่งรัดสำนักงบประมาณเพื่อเร่งรัดต่อไปโดยเร็ว

2.สมาคมประมงต้องการให้แก้ไขพระราชกำหนดประมง พ.ศ. 2560 ซึ่งมีเนื้อหาตึงตัวกับผู้ประกอบการประมงจนเกิดปัญหากับผู้ปฏิบัติหลายกรณี

ทั้งนี้ ขอให้สมาคมประมงแห่งประเทศไทยส่งร่างที่ประสงค์แก้ไขให้กับตน ในฐานะผู้แทนราษฎรจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯตามขั้นตอนต่อไป

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ทีมเซลล์แมนจังหวัดปัตตานี

3.การประชุมครั้งที่แล้ว เรื่องแผงค้าตลาดองค์การสะพานปลาปัตตานี มี 2 ประเด็น คือ ขนาดแผงที่ผู้ค้าในตลาดสะพานปลาปัตตานีประสงค์ให้ปรับขนาดให้เหมาะสม ได้รับแจ้งจากผู้แทนองค์การสะพานปลาว่าปรับขนาดให้เป็นไปตามที่ผู้ค้าหารือร่วมกันแล้ว คือ ขนาด 3.5 × 2.5 เมตร/ล็อค

คาดว่าจะปฏิบัติจริงได้วันที่ 1 พ.ค. 2565 และ เรื่องค่าเช่า เดิมคิดค่าเช่า ตร.ว.ละ 103 บาทประสงค์ขึ้นเป็น 483 บาท/ตร.ว. และได้มีการเจรจาการ

สุดท้ายองค์การสะพานปลาผ่อนปรนชั่วคราวเก็บในราคาเดิม 103 บาท/ตร.ว. และราคาที่จะปรับใหม่จะหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป ขึ้นอยู่กับค่าเช่าพื้นที่รวมที่กรมธนารักษ์ต้องเร่งกำหนดราคาที่องค์การสะพานปลาไปเช่ากับกรมธนารักษ์ก่อน กรมธนารักษ์จะเร่งดำเนินการกำหนดค่าเช่าให้เสร็จในเดือน มิ.ย.ปีนี้

4.ผู้ค้าในแผงตลาดปลา ร้องเรียนว่ามีแรงงานต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย เป็นผู้ประกอบการเสียเอง ทั้งที่การอนุญาตให้เข้าเมืองเฉพาะผู้ใช้แรงงานเท่านั้น จึงได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีและสำนักงานจัดหางานจังหวัดและส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง เร่งลงไปแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นโดยเร็วเพราะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

5.หอการค้าจังหวัดปัตตานีเสนอให้กระทรวงพาณิชย์หาตลาดให้กับสินค้าของจังหวัดปัตตานี ซึ่งพาณิชย์จังหวัดแจ้งว่าขณะนี้มีการดำเนินการโครงการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คัดสินค้าพรีเมียมหรือสินค้าที่มีศักยภาพ ของ 3 จังหวัด จังหวัดละ 20 รายการเสร็จสิ้นแล้ว

แล้วจะนำเข้าสู่การขายออนไลน์ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จัดงานจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (OBM)ชายแดนใต้ เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า 60 รายการ ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. 2565

6.หอการค้าปัตตานีเสนอให้มีการจัดโครงการถนนคนเดินที่ถนนปัตตานีภิรมย์หรือถนนหน้าศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เพื่อดึงนักท่องเที่ยวและให้การค้าของปัตตานีสะพัดขึ้น ตนมอบหมายกรมการค้าภายในประชุมร่วมกันกับหอการค้า สภาการท่องเที่ยวของปัตตานี

ส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพาณิชย์จังหวัดและบริษัททัวร์ทั้งหมด ว่าควรดำเนินการในรูปแบบไหนอย่างไรต่อไป

7.สภาอุตสาหกรรมขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยนำให้สินค้า 5 จังหวัดชายแดนใต้ขายในห้างโมเดิร์นเทรด พาณิชย์จังหวัดรับไปซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมเซลล์แมนจังหวัดโดยตรงอยู่แล้ว

8.สภาอุตสากรรมเสนอช่วยสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนา R&D (Research & Development) สำหรับสินค้าฮาลาลในพื้นที่ปัตตานี ศอ.บต.รับไปประสานงานดำเนินการให้ เพราะมีโครงการและงบประมาณ R&D กับสถาบันอาหาร 200 รายการ

โดยเฉพาะอาหารฮาลาลโดยเฉพาะ โดยเป็นงบประมาณ 65 และ 66 และกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสนับสนุนสินค้าฮาลาล


อีกทั้งบ่ายวันที่ 9 เม.ย. ตนจะไปลง MoU กับมหาวิทยาลัยฟาฏอนี เพื่อทำโครงการปั้น GenZ เป็น CEO สินค้าฮาลาลโดยเฉพาะ ตั้งเป้า 3 จังหวัดชายแดนใต้ มี 4 มหาวิทยาลัย 1 สถาบันอาชีวศึกษาให้ได้ประมาณ 1,000 คนในปีนี้