
ธปท. เปิดรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน พ.ค. 2565 พบภาพรวมดีขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนลดลงต่อเนื่อง จาก “ราคาพลังงาน-วัตถุดิบ” ที่แพง แถมรัฐเลิกตรึงราคาน้ำมันดีเซล ดัน “ค่าขนส่ง-ราคาสินค้า” ขยับขึ้น ภาพอีก 3 เดือนข้างหน้ายังไม่คลายความกังวล
วันที่ 4 มิถุนายน 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 49.3 จาก 48.2 ในเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นในเกือบทุกองค์ประกอบ นำโดยด้านการผลิต ผลประกอบการและคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นตามนโยบายการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายขึ้น และประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับลดลงมากและต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ตามราคาพลังงาน และวัตถุดิบที่ทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับทางการประกาศยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในเดือนนี้ จึงทำให้ค่าขนส่งและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วนทยอยปรับเพิ่มขึ้น
โดยมีส่วนทำให้ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงและกดดันให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของเกือบทุกธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตปรับดีขึ้นได้ไม่มากนัก ยกเว้นกลุ่มค้าส่ง ที่คำสั่งซื้อและปริมาณการค้าปรับเพิ่มขึ้นมาก คาดว่าเป็นการซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ราคาถูกลง เพื่อสะสมสต็อก หรือเพื่อล็อกต้นทุน

สำหรับภาคการผลิต ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นจากกลุ่มผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยางและพลาสติกเป็นสำคัญ เนื่องจากสามารถส่งผ่านต้นทุนได้ทันทีส่วนความเชื่อมั่นของกลุ่มผลิตอื่น ๆ ลดลงหรือทรงตัว
ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงจาก 54.1 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ 52.4 จากการลดลงในทุกองค์ประกอบโดยเฉพาะความเชื่อมั่นด้านต้นทุน โดยระดับความเชื่อมั่นลดลงทั้งในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต
อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ของธุรกิจส่วนใหญ่ยังสูงกว่าระดับ 50 สะท้อนการคาดการณ์ว่าธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปัจจุบันเล็กน้อย ยกเว้นของกลุ่มก่อสร้างและอสังหาฯ ที่แม้ดัชนีฯ จะปรับเพิ่มขึ้นแต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 อย่างต่อเนื่อง จากความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำมากเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2551 จากราคาวัตถุดิบและพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูงกดดันให้ความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังมีสภาพคล่องตึงตัว
ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตสูงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอันดับแรก ต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ขณะที่สัดส่วนของผู้ประกอบการที่กังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนวัตถุดิบปรับเพิ่มขึ้นในเดือน พ.ค. สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่เร่งขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อน