ธปท.เผย ภาคธุรกิจห่วงต้นทุนแพง กดดัชนีความเชื่อมั่นดิ่ง

ภาพจาก Pixabay

ธปท.เปิดดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเมษายน 2565 เผยความเชื่อมั่นด้านต้นทุนอยู่ในระดับต่ำ เหตุราคาวัตถุดิบ-พลังงานผันผวนสูงจากภาวะสงคราม 

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเมษายน 2565 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนเมษายนปรับลดลงทั้ง ในภาคการผลิตและภาคที่มิใช่การผลิต โดยเป็นการลดลงจากเกือบทุกองค์ประกอบ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนทรงตัวในระดับต่ำ

ขณะที่ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับเพิ่มขึ้น และอยู่สูงกว่าระดับ 50 สะท้อนความเชื่อมั่นที่ดีกว่าปัจจุบันของธุรกิจเกือบทุกกลุ่ม ยกเว้น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างในเดือนเมษายน 2565 ดัชนีปรับลดลงมาอยู่ที่ 48.2 จากเกือบทุกองค์ประกอบที่ปรับลดลง

อย่างไรก็ดี เกือบทุกองค์ประกอบยังอยู่เหนือระดับ 50 ยกเว้นความเชื่อมั่นด้านต้นทุนที่ทรงตัวอยู่ใน ระดับต่ำโดยเฉพาะในภาคการผลิตและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จากราคา วัตถุดิบและพลังงานที่ผันผวนสูงจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ผลักดันให้ราคาสินค้าส่วนหนึ่งปรับเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการพยุงกำลังซื้อของภาครัฐเริ่มทยอยหมดลงส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านค่าสั่งซื้อ การผลิต และผลประกอบการปรับลดลง

โดยในภาคการผลิต ความเชื่อมั่นของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับลดลงจากความเชื่อมั่นด้านผลประกอบการและการผลิตตามภาวะการขาดแคลน ปัจจัยการผลิตที่มากขึ้น และปัจจัยชั่วคราวจากจำนวนวันทำงานที่น้อยกว่าเดือนก่อน เพราะมีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ขณะที่ธุรกิจบริการและการค้าส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากปัจจัยชั่วคราว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ในปีนี้บรรยากาศเริ่มกลับมาคึกคัก ส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านคำสั่งซื้อและผลประกอบการของกลุ่มนี้ปรับดีขึ้น ช่วยพยุงให้ดัชนีของภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงเพียงเล็กน้อย

และในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 54.1 จากการเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นในเกือบทุกองค์ประกอบและเกือบทุกหมวดธุรกิจ แต่ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนยังอยู่ในระดับต่ำมาก ตามความกังวลต่อราคาปัจจัยการผลิตที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่าธุรกิจจะยังขยายตัวจากปัจจุบัน ยกเว้นกลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่ดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จากความเชื่อมั่นที่ลดลงในเกือบทุกองค์ประกอบโดยเฉพาะด้านต้นทุน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นด้านอื่น ๆ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนทรงตัวอยู่ในระดับต่ำมาก จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาปัจจัยการผลิตหลาย รายการผันผวนอยู่ในระดับสูง การบริหารต้นทุนทำได้ยากขึ้นและส่งผลให้ความเชื่อมั่นด้านสภาพคล่องปรับลดลง

โดยเกือบ 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการเห็นว่าต้นทุนการผลิตสูงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการดำเนินธุรกิจ และต้นทุนสูงเป็นข้อจำกัด อันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ ในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% จาก 2.8% ในเดือนก่อน